คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2752/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่โจทก์มิได้ระบุชื่อผู้โอนเช็คพิพาทมาให้ทราบในการฟ้องนั้นเมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ไม่สุจริตอย่างไร หาเป็นการคบคิดกันฉ้อฉลจำเลยไม่ การที่โจทก์รับซื้อเช็คพิพาทมาโดยมิได้ให้ผู้โอนสลักหลังเช็คพิพาทนั้นก็เนื่องจากเช็คพิพาทเป็นเช็คอันสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือซึ่งย่อมโอนไปเพียงด้วยส่งมอบให้แก่กัน โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาทโดยชอบ เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค จำเลยที่ 1 ผู้สั่งจ่ายและจำเลยที่ 2 ผู้สลักหลังจึงต้องรับผิดชดใช้เงินตามเช็ค

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาทโดยมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งจ่าย จำเลยที่ 2 เป็นผู้สลักหลัง เมื่อเช็คถึงกำหนดโจทก์ได้นำไปเรียกเก็บเงิน ปรากฏว่าธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินจำนวนตามเช็คพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 กู้เงินจากนายเกียรติแก้วแก้วลิขิตวงษ์ โดยมอบเช็ค 3 ฉบับ ไว้ให้นายเกียรติแก้วเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้เงินกู้ขณะที่สัญญากู้ยังไม่ถึงกำหนดชำระเงินโจทก์ได้รับโอนเช็คพิพาทมาจากนายเกียรติแก้ว โดยมีเจตนาฉ้อฉลจำเลย โจทก์จึงไม่ใช่ผู้ทรงเช็ค ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน 190,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีในต้นเงิน 130,000 บาท นับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหามีว่า โจทก์ได้รับเช็คมาโดยการคบคิดกันฉ้อฉลจำเลยทั้งสองหรือไม่ จำเลยทั้งสองมีตัวจำเลยทั้งสองเบิกความว่าจำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งสามฉบับ และจำเลยที่ 2เป็นผู้สลักหลัง มอบให้นายเกียรติแก้ว แก้วลิขิตวงษ์ เพื่อเป็นประกันการที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินนายเกียรติแก้วและจำเลยที่ 2 เบิกความต่อไปว่า ต่อมานายเกียรติแก้วได้มอบเช็คให้โจทก์โดยไม่มีมูลหนี้ต่อกัน พยานหลักฐานของจำเลยทั้งสองคงมีเพียงเท่านี้ โดยจำเลยทั้งสองไม่มีพยานหลักฐานอื่นมายืนยันตามคำกล่าวอ้างของจำเลยทั้งสอง และไม่มีพยานมายืนยันว่าโจทก์ได้รับโอนเช็คพิพาททั้งสามฉบับดังกล่าวมาด้วยการคบคิดกับนายเกียรติแก้วฉ้อฉลจำเลยทั้งสองอย่างไร พยานหลักฐานของจำเลยทั้งสองจึงไม่มีน้ำหนักในการรับฟัง ในข้อที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าได้รับเช็คพิพาททั้งสามฉบับจากผู้มีชื่อ โดยปกปิดความจริงว่า โจทก์ได้รับเช็คพิพาทมาจากนายเกียรติแก้วเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริตนั้น ก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ไม่สุจริตอย่างไร อันจะทำให้เห็นว่าโจทก์คบคิดกับนายเกียรติแก้วรับโอนเช็คมาโดยฉ้อฉลจำเลยทั้งสองการที่โจทก์มิได้ระบุชื่อผู้โอนเช็คพิพาทมาให้ทราบในการฟ้องหาเป็นการคบคิดกันฉ้อฉลจำเลยทั้งสองไม่ และการที่โจทก์รับซื้อเช็คพิพาทโดยมิได้ให้ผู้โอนสลักหลังเช็คพิพาทนั้น เห็นว่าเช็คพิพาททั้งสามฉบับเป็นเช็คอันสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือย่อมโอนไปเพียงด้วยส่งมอบให้แก่กันเท่านั้น ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า โจทก์ได้รับเช็คพิพาทมาเมื่อเดือนตุลาคม 2530 ล่วงเลยกำหนดเวลาชำระเงินตามเช็คฉบับที่ 1 และที่ 2 มาแล้ว แสดงว่าโจทก์ได้รับเช็คมาโดยฉ้อฉลนั้น โจทก์มีตัวโจทก์และนายเกียรติแก้วพยานโจทก์เบิกความยืนยันว่า ก่อนเช็คฉบับที่ 1 ถึงกำหนด จำเลยที่ 1 มาขอผัดผ่อนโดยขอให้นายเกียรติแก้วนำเช็คฉบับที่ 1 และที่ 2 ไปเรียกเก็บเงินในกลางเดือนตุลาคม 2530 ส่วนเช็คฉบับที่ 3 จำเลยที่ 1 ได้ขอเลื่อนให้ไปเรียกเก็บเงินในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2531 จำเลยที่ 1ได้แก้ไขวันที่ที่ลงในเช็คฉบับที่ 3 เป็นวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2531และได้ลงลายมือชื่อกำกับวันที่ที่ลงในเช็คพิพาทไว้……ทั้งสามฉบับต่อมาในต้นเดือนตุลาคม 2530 นายเกียรติแก้วได้ซื้อที่ดินและต้องการเงินไปวางมัดจำ จึงนำเช็คพิพาททั้งสามฉบับไปขายลดให้แก่โจทก์ โจทก์ได้รับคำบอกเล่าเรื่องจำเลยที่ 1 ขอผัดผ่อนการนำเช็คไปเรียกเก็บเงิน และเห็นจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อกำกับวันที่ที่ลงในเช็คไว้แล้วโจทก์จึงรับซื้อเช็คจากนายเกียรติแก้วไว้ในราคา 185,000 บาท นอกจากตัวโจทก์และนายเกียรติแก้วพยานโจทก์เบิกความยืนยันแล้ว โจทก์ยังมีเช็คและใบคืนเช็คพิพาทมานำสืบสนับสนุนข้ออ้างของตนอีก พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสอง ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าการโอนเช็คพิพาททั้งสามฉบับตามฟ้องระหว่างโจทก์กับนายเกียรติแก้วเกิดขึ้นด้วยการคบคิดฉ้อฉลจำเลยทั้งสอง โจทก์จึงเป็นผู้ทรงเช็คพิพาททั้งสามฉบับโดยชอบ เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คพิพาททั้งสามฉบับจำเลยที่ 1 ผู้สั่งจ่ายและจำเลยที่ 2ผู้สลักหลังจึงต้องรับผิดชดใช้เงินตามเช็ค พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี ในต้นเงินตามเช็คแต่ละฉบับ นับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน
พิพากษายืน

Share