คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2435/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อตกลงต่อท้ายทะเบียนการหย่าระหว่างโจทก์ที่ 1 กับ ฟ.ที่ตกลงยกที่ดินพร้อมบ้านให้แก่โจทก์ที่ 2 ผู้เป็นบุตรนั้น เป็นบันทึกข้อตกลงที่เกี่ยวกับสินสมรสระหว่างโจทก์ที่ 1 กับ ฟ.และทั้งสองฝ่ายประสงค์จะระงับข้อพิพาทเกี่ยวกับสินสมรส ซึ่งมีอยู่หรือจะมีขึ้นต่อไปภายหน้าให้เสร็จไปด้วยต่างฝ่ายต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 และเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอก ตามมาตรา 374 โจทก์ที่ 1 ในฐานะคู่สัญญามีสิทธิเรียกให้ ฟ.ลูกหนี้ชำระหนี้ด้วยการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามสัญญาดังกล่าวแก่โจทก์ที่ 2 ได้ ส่วนโจทก์ที่ 2 ในฐานะบุคคลภายนอกหากแสดงเจตนาแก่ ฟ.ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้น โจทก์ที่ 2ก็ย่อมมีสิทธิจะเรียกให้ ฟ.ชำระหนี้โดยโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามสัญญานั้นให้แก่ตนได้โดยตรง ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์ที่ 1 กับ ฟ.เมื่อหย่ากัน แต่ละฝ่ายย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวคนละครึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1533 แต่โจทก์ที่ 2 ไม่ได้แสดงเจตนาแก่ ฟ.ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญาในส่วนที่ดินพิพาทซึ่ง ฟ.มีกรรมสิทธิ์อยู่ครึ่งหนึ่งก่อนที่ฟ.จะตาย กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวครึ่งหนึ่งจึงยังเป็นของ ฟ.อยู่ฟ.ย่อมแสดงเจตนาโดยพินัยกรรมกำหนดการเผื่อตายเกี่ยวกับที่ดินนั้นในส่วนของตนเพื่อให้มีผลบังคับตามกฎหมายเมื่อตนตายได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1646 ฟ.ทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองยกที่ดินพิพาทให้จำเลยจำเลยย่อมมีสิทธิได้รับที่ดินดังกล่าวตามส่วนที่ ฟ.มีกรรมสิทธิ์อยู่ในฐานะเป็นทายาทผู้รับพินัยกรรม เมื่อ ฟ.ตาย อย่างไรก็ตามกองมรดกของผู้ตายตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1600 นอกจากจะได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตายแล้ว ยังรวมถึงสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดต่าง ๆ ด้วย แม้จำเลยจะมีสิทธิในที่ดินดังกล่าวครึ่งหนึ่งอันเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายก็ตามแต่หน้าที่และความรับผิดที่เกี่ยวกับที่ดินพิพาทย่อมตกเป็นมรดกมีผลผูกพันให้จำเลยต้องรับผิดด้วย ดังนั้น หน้าที่และความรับผิดที่ ฟ. มีต่อโจทก์ทั้งสองเกี่ยวกับที่ดินพิพาทตามบันทึกข้อตกลงในทะเบียนการหย่าซึ่งเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความและสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกจึงตกทอดมายังจำเลย และจำเลยย่อมตกอยู่ในฐานะเป็นลูกหนี้ตามสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกดังกล่าวด้วยการที่โจทก์ทั้งสองไปคัดค้านในขณะที่จำเลยทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองไปแสดงและขอรับมรดกต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่า ฟ.ไม่มีสิทธินำเอาที่ดินพิพาทไปทำพินัยกรรมยกให้จำเลย นั้น ถือได้ว่าโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้แสดงเจตนาแก่จำเลยผู้เป็นลูกหนี้ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกนั้นแล้ว สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์ที่ 1 กับ ฟ.ได้ทำกันไว้ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2519 อันเป็นวันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องตามสัญญาดังกล่าวได้ โจทก์ที่ 1 ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2531 จึงเกินกำหนด 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164(เดิม) แล้ว คดีของโจทก์ที่ 1 จึงขาดอายุความ แต่คดีของโจทก์ที่ 2 ปรากฏว่าโจทก์ที่ 2ไปคัดค้านการขอรับมรดกที่ดินของจำเลยเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2530และโจทก์ที่ 2 ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2531 ยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164(เดิม) คดีของโจทก์ที่ 2จึงยังไม่ขาดอายุความ เมื่อโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้แสดงเจตนาแก่จำเลยผู้เป็นลูกหนี้ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญา จำเลยจึงไม่มีสิทธิขอรับมรดกที่ดินครึ่งหนึ่งของที่ดินพิพาทและไม่มีสิทธิที่จะยึดถือโฉนดที่ดินดังกล่าวไว้ต่อไป จำเลยต้องส่งมอบโฉนดที่ดินนั้นให้แก่โจทก์ที่ 2

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 2 เป็นบุตรโจทก์ที่ 1 กับจ่าสิบตำรวจเฟื่อง โตสุนทร โจทก์ที่ 1 กับจ่าสิบตำรวจเฟื่องจดทะเบียนหย่ากันเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2519 ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยบันทึกไว้ในทะเบียนการหย่าว่า ทั้งสองฝ่ายตกลงยกที่ดินโฉนดเลขที่ 3360 ให้แก่โจทก์ที่ 2 หลังจากหย่ากันแล้วจ่าสิบตำรวจเฟื่องได้จำเลยเป็นภริยา แต่อยู่กินด้วยกันได้ 4-5 ปี จำเลยก็หย่าแล้วไปอยู่กินกับสามีใหม่ จ่าสิบตำรวจเฟื่องตายเมื่อวันที่3 ธันวาคม 2530 ต่อมาวันที่ 24 เดือนเดียวกัน จำเลยไปขอรับมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 3360 โดยนำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่า จ่าสิบตำรวจเฟื่องทำพินัยกรรมเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2523 ยกที่ดินโฉนดดังกล่าวให้จำเลย จ่าสิบตำรวจเฟื่องไม่มีสิทธิที่จะทำพินัยกรรมยกที่ดินโฉนดเลขที่ 3360ให้แก่จำเลย ขอให้พิพากษาว่าพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองของจ่าสิบตำรวจเฟื่องที่ทำเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2523 เป็นพินัยกรรมที่ไม่สมบูรณ์ ที่ดินโฉนดเลขที่ 3360 เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ที่ 2 ให้บังคับจำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ที่ 2ให้จำเลยไปยื่นคำร้องขอถอนคำร้องขอโอนมรดกที่ดิน มิฉะนั้นให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การว่า โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะโจทก์ที่ 1 ไม่มีส่วนได้เสียในคดี โจทก์ที่ 2 ก็มิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท และคดีโจทก์ทั้งสองขาดอายุความ ข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจ่าสิบตำรวจเฟื่องเป็นเพียงคำมั่นว่าจะให้ เมื่อมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมตกเป็นโมฆะ จำเลยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำพินัยกรรม เป็นเพียงผู้รับพินัยกรรมของจ่าสิบตำรวจเฟื่องโดยสุจริต โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยไม่ได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองฉบับลงวันที่ 15 มกราคม 2523 ซึ่งจ่าสิบตำรวจเฟื่อง โตสุนทรได้ทำขึ้น ณ ที่ว่าการอำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก ส่วนคำขออื่นให้ยก
โจทก์ทั้งสองและจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อตกลงต่อท้ายทะเบียนการหย่าระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจ่าสิบตำรวจเฟื่อง โตสุนทร ที่ตกลงยกที่ดินโฉนดเลขที่ 3359 และ 3360 ตำบลเกาะหวาย อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก พร้อมบ้านตึกเลขที่ 214 ให้แก่โจทก์ที่ 2 นั้น เป็นบันทึกข้อตกลงที่เกี่ยวกับสินสมรสระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจ่าสิบตำรวจเฟื่อง และทั้งสองฝ่ายประสงค์จะระงับข้อพิพาทเกี่ยวกับสินสมรสซึ่งมีอยู่หรือจะมีขึ้นต่อไปภายหน้าให้เสร็จไปด้วยต่างฝ่ายต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 และเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอก ตามมาตรา 374 โจทก์ที่ 1 ในฐานะคู่สัญญามีสิทธิเรียกให้จ่าสิบตำรวจเฟื่องลูกหนี้ชำระหนี้ด้วยการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามสัญญาดังกล่าวแก่โจทก์ที่ 2 ได้ ส่วนโจทก์ที่ 2 ในฐานะบุคคลภายนอก หากแสดงเจตนาแก่จ่าสิบตำรวจเฟื่องว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้น โจทก์ที่ 2 ก็ย่อมมีสิทธิจะเรียกให้จ่าสิบตำรวจเฟื่องชำระหนี้โดยโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามสัญญานั้นให้แก่ตนได้โดยตรง อย่างไรก็ตาม ที่ดินโฉนดเลขที่ 3360 ที่พิพาทเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจ่าสิบตำรวจเฟื่อง เมื่อหย่ากัน แต่ละฝ่ายย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวคนละครึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1533 แต่ไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 2 ได้แสดงเจตนาแก่จ่าสิบตำรวจเฟื่องว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญา ในส่วนที่ดินพิพาทซึ่งจ่าสิบตำรวจเฟื่องมีกรรมสิทธิ์อยู่ครึ่งหนึ่งก่อนที่จ่าสิบตำรวจเฟื่องจะตาย กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวครึ่งหนึ่งจึงยังคงเป็นของจ่าสิบตำรวจเฟื่องอยู่ จ่าสิบตำรวจเฟื่องย่อมแสดงเจตนาโดยพินัยกรรมกำหนดการเผื่อตายเกี่ยวกับที่ดินนั้นในส่วนของตนเพื่อให้มีผลบังคับตามกฎหมายเมื่อตนตายได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1646มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่าพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองที่จ่าสิบตำรวจเฟื่องทำไว้ว่า ถ้าจ่าสิบตำรวจเฟื่องตายขอยกที่ดินโฉนดเลขที่ 3360 ดังกล่าวให้แก่จำเลยมีผลใช้บังคับตามกฎหมายหรือไม่ ศาลฎีกาได้ตรวจดูพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองตามเอกสารหมาย จ.6 แล้ว ปรากฏว่านอกจากจะมีลายพิมพ์นิ้วหัวแม่มือขวาของจ่าสิบตำรวจเฟื่องและลายมือชื่อของพยาน 2 คน ลงไว้แล้ว ยังมีลายมือชื่อของพยานอีก 2 คน รับรองลายพิมพ์นิ้วมือของจ่าสิบตำรวจเฟื่อง และลายมือชื่อของนายอำเภอปากพลีถูกต้องครบถ้วนตามแบบพินัยกรรมของเอกสารฝ่ายเมือง ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1658แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อีกด้วย ทั้งปรากฏข้อความระบุชัดในพินัยกรรมดังกล่าวว่า ขณะทำพินัยกรรมนี้จ่าสิบตำรวจเฟื่องมีสติสมบูรณ์ดี ที่จ่าสิบตำรวจเฟื่องต้องลงลายพิมพ์นิ้วมือแทนการลงลายมือชื่อจึงเป็นไปได้ว่าขณะนั้นจ่าสิบตำรวจเฟื่องมือสั่นไม่อาจลงลายมือชื่อได้ ประกอบกับไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ไปกับจ่าสิบตำรวจเฟื่องในวันทำพินัยกรรม และพินัยกรรมดังกล่าวได้ทำที่ที่ว่าการอำเภอปากพลีต่อหน้านายอำเภอปากพลีกับพยานถึง 4 คน จึงมีเหตุผลและน้ำหนักให้เชื่อว่าจ่าสิบตำรวจเฟื่องได้ทำพินัยกรรมในขณะมีสติสมบูรณ์ดีและเป็นไปตามเจตนาอันแท้จริงของจ่าสิบตำรวจเฟื่อง พินัยกรรมแบบเอกสารตามเอกสารหมาย จ.6จึงสมบูรณ์และมีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมาย จำเลยย่อมมีสิทธิได้รับที่ดินโฉนดเลขที่ 3360 ตามส่วนที่จ่าสิบตำรวจเฟื่องมีกรรมสิทธิ์อยู่ในฐานะเป็นทายาทผู้รับพินัยกรรมเมื่อจ่าสิบตำรวจเฟื่องตายอย่างไรก็ตาม กองมรดกของผู้ตายตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1600 นอกจากจะได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตายแล้ว ยังรวมถึงสิทธิ หน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ ด้วย แม้จำเลยจะมีสิทธิในที่ดินดังกล่าวครึ่งหนึ่งอันเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายก็ตาม แต่หน้าที่และความรับผิดที่เกี่ยวกับที่ดินพิพาทย่อมตกเป็นมรดก มีผลผูกพันให้จำเลยต้องรับผิดด้วย ดังนั้น หน้าที่และความรับผิดที่จ่าสิบตำรวจเฟื่องมีต่อโจทก์ทั้งสองเกี่ยวกับที่ดินพิพาท ตามบันทึกข้อตกลงในทะเบียนการหย่าซึ่งเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความและสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกจึงตกทอดมายังจำเลย และจำเลยย่อมตกอยู่ในฐานะเป็นลูกหนี้ตามสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกดังกล่าวด้วย การที่โจทก์ทั้งสองไปคัดค้านในขณะที่จำเลยนำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองไปแสดงและขอรับมรดกต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครนายกว่าจ่าสิบตำรวจเฟื่องไม่มีสิทธินำเอาที่ดินพิพาทไปทำพินัยกรรมยกให้จำเลย นั้น ถือได้ว่าโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้แสดงเจตนาแก่จำเลยผู้เป็นลูกหนี้ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกนั้นแล้ว แต่ปรากฏว่าสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจ่าสิบตำรวจเฟื่องตามเอกสารหมายจ.4 ได้ทำกันไว้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2519 อันเป็นวันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องตามสัญญาดังกล่าวได้ โจทก์ที่ 1 ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2531 จึงเกินกำหนด 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164(เดิม) แล้ว คดีของโจทก์ที่ 1 จึงขาดอายุความ แต่คดีของโจทก์ที่ 2 ปรากฏว่าโจทก์ที่ 2ไปคัดค้านการขอรับมรดกที่ดินของจำเลยเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม2530 และโจทก์ที่ 2 ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2531 ยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164(เดิม) คดีของโจทก์ที่ 2จึงยังไม่ขาดอายุความ เมื่อโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้แสดงเจตนาแก่จำเลยผู้เป็นลูกหนี้ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญาตามเอกสารหมาย จ.4 แล้ว จำเลยจึงไม่มีสิทธิขอรับมรดกที่ดินครึ่งหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 3360 ที่พิพาท และไม่มีสิทธิที่จะยึดถือโฉนดที่ดินเลขที่ 3360 ดังกล่าวไว้ต่อไป จำเลยต้องส่งมอบโฉนดที่ดินนั้นให้แก่โจทก์ที่ 2
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 1 ให้จำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 3360 ตำบลเกาะหวาย อำเภอปากพลี (เขาใหญ่)จังหวัดนครนายก แก่โจทก์ที่ 2 คำขออื่นให้ยก

Share