คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2200/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 10 วรรคห้า บัญญัติว่า”สิทธิในการเรียกร้องขอคืนเงินอากรเพราะเหตุที่ได้เสียไว้เกินจำนวนที่พึงต้องเสียจริงเป็นอันสิ้นไปเมื่อครบกำหนดสองปีนับจากวันที่นำของเข้า ฯลฯ” บทบัญญัติดังกล่าวใช้กับผู้นำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งมีหน้าที่ต้องชำระเงินค่าภาษีและได้ชำระเงินค่าภาษีเกินไปจากที่ต้องเสียจริง อาจเรียกเงินอากรคืนได้ภายใน2 ปี นับแต่วันที่นำของเข้า แต่กรณีของจำเลยที่ 1 เป็นการสั่งซื้อและนำของเข้ามาในราชอาณาจักร โดยผู้ขายส่งสินค้าพิพาทมาให้โดยสับสนผิดพลาด จำเลยที่ 1 จึงมิใช่ผู้สั่งซื้อและนำของพิพาทเข้ามาในราชอาณาจักร จำเลยที่ 1 ไม่ต้องมีหน้าที่รับผิดเสียอากรแก่โจทก์ที่ 1 กรณีไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 10 วรรคห้า แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 ฟ้องแย้งเรียกคืนเงินค่าภาษีอากรของจำเลยทั้งสองจึงไม่ขาดอายุความตามมาตราดังกล่าว จำเลยที่ 1มีสิทธิเรียกเอาเงินดังกล่าวคืนได้ภายในอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164(เดิม) เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ได้เป็นผู้นำของพิพาทเข้ามาในราชอาณาจักรและไม่มีหน้าที่ต้องรับผิดชดใช้ค่าภาษีอากรแก่โจทก์ทั้งสอง แม้ของพิพาทเป็นสินค้าบางส่วนที่ตรงกับที่จำเลยทั้งสองประสงค์จะสั่งซื้อและนำเข้าก็ตาม โจทก์ต้องคืนเงินค่าภาษีอากรทั้งหมดแก่จำเลยทั้งสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระค่าภาษีอากรจำนวน578,635.60 บาท ให้โจทก์ทั้งสอง
จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยทั้งสองได้สั่งซื้อหมุดย้ำยี่ห้อมูซ่า จากบริษัทไทวาแมชินเนอรี่เทรดิ้ง จำกัดที่ประเทศญี่ปุ่น จำนวน 94 หีบห่อ ปริมาณ 16,920,000 ชุดทางบริษัทไทวาแมชินเนอรี่เทรดิ้ง จำกัด ได้แจ้งว่าได้จัดส่งสินค้ามาให้จำเลยทั้งสองเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2526 ต่อมาวันที่20 พฤษภาคม 2526 จำเลยทั้งสองได้ยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าเพื่อปฏิบัติพิธีการทางศุลกากร ขอชำระภาษีอากรสำหรับหมุดย้ำจำนวน 94 หีบห่อ ปริมาณ 16,920,000 ชุด โดยได้สำแดงราคาสินค้า 155,494.80 บาท แต่เจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ได้ให้จำเลยทั้งสองเพิ่มราคาสินค้าเป็น 231,278.65 บาท ซึ่งคิดเป็นอากรขาเข้า ภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาล รวมเป็นเงิน 69,150.42บาท ซึ่งจำเลยทั้งสองได้ชำระเงินค่าภาษีอากรดังกล่าวให้โจทก์ทั้งสองแล้ว ต่อมาวันที่ 21 พฤษภาคม 2526 จำเลยทั้งสองได้นำใบขนสินค้าดังกล่าวพร้อมกับเอกสารไปยังกองตรวจสินค้าขาเข้าของโจทก์ที่ 1เพื่อให้เปิดตรวจหีบห่อสินค้า จากการเปิดตรวจหีบห่อสินค้าทั้งหมด94 หีบห่อ พบหมุดย้ำ 2,880,000 ชุด สินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าชนิดเดียวกันกับที่จำเลยทั้งสองเป็นผู้สั่งเข้ามาในราชอาณาจักรแต่มีจำนวนน้อยกว่าสินค้าที่จำเลยสำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้านอกจากนั้นยังพบสินค้ากระดุมกดซึ่งเป็นสินค้าที่จำเลยทั้งสองไม่ได้เป็นผู้สั่งหรือเป็นผู้นำเข้า ซึ่งเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1ได้ประเมินราคาสินค้าที่ตรวจพบและคำนวณภาษีอากร จากนั้นจึงนำภาษีอากรที่จำเลยทั้งสองได้ชำระไว้มาหักออกปรากฏว่าอากรขาเข้าภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาลขาดไปรวมเป็นเงิน 422,244.21 บาทบริษัทไทวาแมชินเนอรี่เทรดิ้ง จำกัด ได้ยอมรับผิดในการส่งสินค้าดังกล่าวและยืนยันว่าสินค้า 94 หีบห่อ ที่ส่งมานั้นไม่ใช่เป็นสินค้าที่จำเลยทั้งสองได้สั่งซื้อสินค้าที่จำเลยทั้งสองสั่งซื้อจำนวน 94 หีบห่อ ยังคงเก็บอยู่ในโรงเก็บสินค้าของบริษัทไทวาแมชินเนอรี่เทรดิ้ง จำกัด ในประเทศญี่ปุ่น และยืนยันว่าสินค้าหมุดย้ำและกระดุมกดจำนวน 94 หีบห่อ ที่โจทก์ที่ 1 ยึดไว้เป็นสินค้าที่จะส่งให้บริษัทไฟว์สตรองเอ็นเตอร์ไพร์ส จำกัดในประเทศสิงคโปร์ โจทก์ที่ 1 ได้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยทั้งสองโดยร้องทุกข์ให้พนักงานสอบสวน กองทะเบียนคนต่างด้าวและภาษีอากรดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองในความผิดฐานสำแดงเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงค่าภาษีอากร ต่อมากรมอัยการได้มีคำสั่งไม่ฟ้องจำเลยทั้งสองจำเลยทั้งสองจึงไม่มีหน้าที่หรือความรับผิดที่จะต้องชำระค่าภาษีอากรหรือเงินเพิ่มใด ๆ อีก ขอให้ยกฟ้อง เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยทั้งสองไม่ได้เป็นผู้นำเข้าสินค้ารายนี้ จำเลยทั้งสองจึงไม่มีหน้าที่ต้องชำระค่าภาษีอากร จึงฟ้องแย้งให้โจทก์ทั้งสองรับผิดคืนเงินค่าภาษีอากร 69,150.42 บาท แก่จำเลยทั้งสองพร้อมดอกเบี้ย
โจทก์ทั้งสองให้การแก้ฟ้องแย้งว่า เมื่อจำเลยทั้งสองให้การรับแล้วว่าเป็นผู้สั่งซื้อและนำเข้าหมุดย้ำยี่ห้อมูซ่า จำนวน94 หีบห่อ ปริมาณ 16,920,000 ชุด จำเลยทั้งสองจึงต้องมีหน้าที่เสียภาษีตามมาตรา 10 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469จำเลยทั้งสองไม่มีสิทธิที่จะขอคืนค่าภาษีอากรที่ชำระไว้ 69,150.42บาท เพราะเกินกำหนด 2 ปี ตามมาตรา 10 วรรคห้า แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 คดีขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ทั้งสองร่วมกันคืนเงินค่าภาษีอากรจำนวน 69,150.42 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้จำเลยทั้งสอง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกภาษีอากรวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองนำของรายพิพาทเข้ามาในราชอาณาจักรและต้องรับผิดเสียค่าภาษีอากรหรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้สั่งซื้อและนำสินค้ารายพิพาทเข้ามาในราชอาณาจักร จำเลยที่ 1 จึงไม่มีหน้าที่ต้องรับผิดเสียภาษีอากรให้แก่โจทก์ทั้งสอง มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ต่อไปว่า คดีที่จำเลยทั้งสองฟ้องแย้งเรียกเงินคืนจากโจทก์ทั้งสองขาดอายุความหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 มาตรา 10 วรรคห้า บัญญัติว่า “สิทธิในการเรียกร้องขอคืนเงินอากรเพราะเหตุที่ได้เสียไว้เกินจำนวนที่พึงต้องเสียจริงเป็นอันสิ้นไปเมื่อครบกำหนดสองปีนับจากวันที่นำของเข้า ฯลฯ”บทบัญญัติดังกล่าวใช้กับผู้นำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งมีหน้าที่ต้องชำระเงินค่าภาษีและได้ชำระเงินค่าภาษีเกินไปจากที่ต้องเสียจริง อาจเรียกเงินอากรคืนได้ภายใน 2 ปี นับแต่วันที่นำของเข้า แต่กรณีของจำเลยที่ 1 เป็นการสั่งซื้อและนำของเข้ามาในราชอาณาจักร โดยผู้ขายส่งสินค้าพิพาทมาให้โดยสับสนผิดพลาดจำเลยที่ 1 จึงมิใช่ผู้สั่งซื้อและนำของพิพาทเข้ามาในราชอาณาจักรจำเลยที่ 1 ไม่ต้องมีหน้าที่รับผิดเสียอากรแก่โจทก์ที่ 1 กรณีไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 10 วรรคห้า แห่งพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 ฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองจึงไม่ขาดอายุความตามมาตราดังกล่าว จำเลยที่ 1 มีสิทธิเรียกเอาเงินดังกล่าวคืนได้ภายในอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 (เดิม)เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ได้เป็นผู้นำของพิพาททั้งหมดจำนวน 94 หีบห่อเข้ามาในราชอาณาจักรและไม่มีหน้าที่ต้องรับผิดชดใช้ค่าภาษีอากรแก่โจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองจะคิดค่าภาษีอากรจากหมุดย้ำที่ตรวจพบจำนวน 2,800,000 ชุด ซึ่งจำเลยทั้งสองไม่มีเจตนานำเข้าและหักไว้แล้วคืนส่วนที่เหลือไม่ได้ แม้หมุดย้ำดังกล่าวเป็นสินค้าบางส่วนที่ตรงกับที่จำเลยทั้งสองประสงค์จะสั่งซื้อและนำเข้าก็ตาม โจทก์ต้องคืนเงินค่าภาษีอากรทั้งหมดจำนวน 69,150.42 บาท แก่จำเลยทั้งสอง
พิพากษายืน

Share