แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งแต่งตั้งผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ผู้คัดค้านทั้งสามยื่นคำร้องขอให้ถอนผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 จากการเป็นผู้จัดการมรดก ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้ถอนผู้ร้องที่ 2 ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายและมีคำสั่งแต่งตั้งให้ผู้ร้องที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกับผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 ผู้ร้องที่ 1 มิได้อุทธรณ์คดีในส่วนส่วนผู้ร้องที่ 1 จึงเป็นข้อยุติแล้วตั้งแต่ศาลชั้นต้น ผู้ร้องที่ 1ไม่มีสิทธิฎีกา สำเนาทะเบียนบ้านเป็นเอกสารมหาชน ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้น จึงต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้องเมื่อสำเนาทะเบียนบ้านระบุชื่อ ช. เป็นบิดาของผู้ร้องที่ 2แต่ผู้ร้องที่ 2 มิได้นำสืบความไม่บริสุทธิ์หรือความไม่ถูกต้องแห่งเอกสารนั้น ข้อเท็จจริงจึงต้องรับฟังตามเอกสารดังกล่าว ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 กำหนดให้ศาลต้องสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมไม่ว่าคู่ความจะมีคำขอหรือไม่แม้จะให้เป็นพับกันไปก็ต้องสั่ง แต่ในชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้นปรากฏว่าศาลชั้นต้นมิได้สั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม และศาลอุทธรณ์ก็มิได้สั่งแก้ไขในเรื่องนี้ ศาลฎีกาสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง
ย่อยาว
มูลคดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งแต่งตั้งให้ผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของนายฟักผู้ตาย
ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 จากการเป็นผู้จัดการมรดก และแต่งตั้งให้ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกแทน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ถอนผู้ร้องที่ 2 ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย และมีคำสั่งแต่งตั้งให้ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2ร่วมกับผู้ร้องที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ผู้ร้องทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับผู้ร้องที่ 1 นั้น ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกับผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 และผู้ร้องที่ 1 ก็มิได้อุทธรณ์คัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นโดยยกข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายขึ้นโต้แย้งแต่อย่างใด คดีในส่วนของผู้ร้องที่ 1 จึงเป็นอันยุติแล้วตั้งแต่ศาลชั้นต้น ผู้ร้องที่ 1 ไม่มีสิทธิฎีกา ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้
ตามสำเนาทะเบียนบ้านเอกสารหมาย รค.2 ระบุชื่อนายเชาวน์เป็นบิดาของผู้ร้องที่ 2 สำเนาทะเบียนบ้านดังกล่าวเป็นเอกสารมหาชน ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้นจึงต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง ผู้ร้องที่ 2 มิได้นำสืบความไม่บริสุทธิ์หรือความไม่ถูกต้องแห่งเอกสารนั้น ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงว่านางจำเนียรทราบดีว่าผู้ตายมิใช่บิดาที่แท้จริงของผู้ร้องที่ 2จึงแจ้งชื่อนายเชาวน์สามีคนเดิมว่าเป็นบิดาของผู้ร้องที่ 2ไว้ก่อน ข้อที่ผู้ร้องที่ 2 ฎีกาว่า นายเชาวน์สามีเก่าของของนางจำเนียรได้ตายไปตั้งแต่ปี 2500 ปรากฏตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย ร.12 และสำเนาทะเบียนบ้านเอกสารหมาย ร.13ส่วนผู้ร้องที่ 2 เพิ่งเกิดเมื่อปี 2509 จึงเป็นไปไม่ได้ที่ผู้ร้องที่ 2 จะเป็นบุตรของนายเชาวน์นั้น ผู้คัดค้านที่ 3 นายขวัญยืนและนาวาอากาศโทบุญฟื้นเบิกความว่า เมื่อประมาณปี 2507ผู้ตายทะเลาะกับนางจำเนียรแล้วเลิกกัน นางจำเนียรไปอยู่กับบุตรโดยไม่ได้มาเกี่ยวข้องกับผู้ตายอีก การที่นางจำเนียรคลอดผู้ร้องที่ 2 ในปี 2509 จึงมีความจำเป็นที่นางจำเนียรจะต้องแจ้งชื่อบุคคลอื่นว่าเป็นบิดาของผู้ร้องที่ 2 และทางออกที่ดีที่สุดในขณะนั้นก็ต้องอาศัยชื่อสามีเก่าเพื่อมิให้เกิดความเสื่อมเสียแก่ตนเองเพราะนางจำเนียรมิได้อยู่กินกับผู้ตายแล้วที่ศาลล่างทั้งสองฟังว่าผู้ร้องที่ 2 มิใช่ทายาทโดยธรรมของผู้ตายไม่มีสิทธิขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย จึงให้ถอนจากการเป็นผู้จัดการมรดกชอบแล้ว
อนึ่ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161กำหนดให้ศาลต้องสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมไม่ว่าคู่ความจะมีคำขอหรือไม่ แม้จะให้เป็นพับกันไปก็ต้องสั่ง แต่ปรากฏว่าศาลชั้นต้นมิได้สั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ก็มิได้สั่งแก้ไขในเรื่องนี้จึงเป็นการไม่ถูกต้องศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและในชั้นฎีกาให้เป็นพับ