คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1604/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินแล้วนำสืบว่าการยืมเงินมีมูลหนี้เดิมมาจากการซื้อขายรถยนต์ เป็นการสืบถึงที่มาแห่งหนี้โดยละเอียดว่าหนี้นั้นมีมูลมาอย่างไร ไม่เป็นการนำสืบนอกประเด็น เมื่อการยืมเงินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีอยู่จริงและสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว เพียงแต่ขาดหลักฐานแห่งการกู้ยืม ตามกฎหมายห้ามมิให้ฟ้องร้องบังคับคดีเอากับจำเลยที่ 1 เท่านั้น หนี้ดังกล่าวมีการจำนองเป็นประกัน เมื่อโจทก์ยังไม่ได้รับชำระหนี้ตามสัญญายืมจึงย่อมบังคับเอากับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้จำนองได้ เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้อุทธรณ์ว่า การนำสืบถึงมูลหนี้เดิมของการยืมเป็นการสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสารต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข) แล้ว จำเลยที่ 2และที่ 3 จะยกขึ้นฎีกาไม่ได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณเดือนมีนาคม 2527 จำเลยที่ 1 ได้กู้ยืมเงินไปจากโจทก์ 1,500,000 บาท โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 นำที่ดินรวม 4 โฉนดมาจดทะเบียนจำนองไว้แก่โจทก์เพื่อประกันโดยรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 และเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมของจำเลยที่ 1 ต่อมาวันที่ 22 เมษายน 2528 จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระต้นเงิน 700,000 บาทโดยยังไม่มีการคิดดอกเบี้ย และยังคงค้างชำระต้นเงิน 800,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันกู้ยืม หลังจากนั้นจำเลยทั้งสามไม่ชำระหนี้ที่เหลือพร้อมดอกเบี้ยอีกเลย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระต้นเงิน 800,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15ต่อปีของต้นเงิน 1,500,000 บาท นับแต่วันที่ 27 มีนาคม 2527 ถึงวันที่ 22 เมษายน 2528 เป็นเงิน 225,000 บาท และของต้นเงิน800,000 บาท นับจากวันที่ 22 เมษายน 2528 ถึงวันฟ้อง เป็นเงิน220,000 บาท รวมเป็นเงิน 1,245,000 บาท และ ให้ไถ่ถอนจำนองที่ดินตามฟ้อง กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระดอกเบี้ยร้อยละ 15ต่อปีจากต้นเงิน 800,000 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จหากจำเลยทั้งสามไม่ชำระให้นำที่ดิน 4 โฉนดออกขายทอดตลาด หากยังไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ที่ 3 ให้การว่า ได้นำที่ดินรวม 4 โฉนดตามฟ้องไปจดทะเบียนจำนองเพื่อประกันหนี้ที่จำเลยที่ 1 จะกู้เงินโจทก์1,500,000 บาท เมื่อประมาณเดือนเมษายน 2528 จำเลยที่ 2 และที่ 3นำเงิน 700,000 บาท ไปไถ่จำนองที่ดินออกมา 1 แปลง ประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2530 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้รับหนังสือทวงหนี้จากทนายโจทก์ จึงได้ทราบจากจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้กู้ยืมและรับเงิน 1,500,000 บาท ตามฟ้อง ดังนั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้แก่โจทก์ได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ร่วมกันใช้เงิน800,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันที่25 กุมภาพันธ์ 2530 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระหนี้ให้บังคับจำนองนำที่ดินโฉนดเลขที่ 33355, 33356 ตามฟ้องออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์จนกว่าจะครบจำนวนให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคำฟ้องมายื่นใหม่ภายในอายุความ คำขออื่นให้ยก
จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่า จำเลยที่ 1ขายรถยนต์ยี่ห้อเมอร์ซีเดสเบ้นซ์ให้แก่โจทก์ 1 คัน มีการชำระราคากันบางส่วน ต่อมาจำเลยที่ 1 ไม่สามารถจดทะเบียนโอนรถยนต์ดังกล่าวให้โจทก์ได้ จึงมีการเลิกสัญญาจำเลยที่ 1 คืนเงินให้โจทก์โดยสั่งจ่ายเช็ค 3 ฉบับ แต่เช็คถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินโจทก์จึงดำเนินคดีอาญากับจำเลยที่ 1 ระหว่างดำเนินคดี จำเลยที่ 1 ยอมคืนเงินให้โจทก์ 1,500,000 บาท โดยออกเช็ค 3 ฉบับ มีจำเลยที่ 2 และที่ 3เป็นผู้สลักหลังเช็ค 2 ฉบับ และจดทะเบียนจำนองที่ดินทั้ง 4 โฉนดตามฟ้องเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ซึ่งถือว่าเป็นหนี้เงินกู้ ต่อมาจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้โจทก์บางส่วน และไถ่ถอนจำนองที่ดิน 2 แปลงคงค้างชำระหนี้จำนวน 800,000 บาท ซึ่งมีที่ดินตามโฉนดเลขที่33355 และ 33356 ติดจำนองอยู่
คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ว่า การที่โจทก์นำสืบว่า การยืมเงินมีมูลหนี้เดิมมาจากการซื้อขายรถยนต์เมอร์ซีเดสเบ้นซ์ เป็นการนำสืบนอกประเด็นหรือไม่ และจำเลยที่ 2และที่ 3 จะต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ ซึ่งศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การนำสืบถึงหนี้ตามฟ้อง โจทก์ย่อมต้องสืบถึงที่มาแห่งหนี้โดยละเอียดว่าหนี้นั้นมีมูลมาอย่างไร การนำสืบของโจทก์ว่าการยืมมีมูลหนี้เดิมมาจากการซื้อขายรถยนต์เมอร์ซีเดสเบ้นซ์ จึงเป็นการนำสืบตามประเด็นแห่งคดี ส่วนปัญหาที่ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาจำนองหรือไม่นั้น ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาแล้วว่า การยืมเงินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีอยู่จริง และสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้วเพียงแต่ขาดหลักฐานแห่งการกู้ยืม ตามกฎหมายห้ามมิให้ฟ้องร้องบังคับคดีเอากับจำเลยที่ 1 เท่านั้น แต่หนี้ดังกล่าวย่อมมีการจำนองเป็นประกันไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 707และ 681 โจทก์ยังไม่ได้รับชำระหนี้ตามสัญญายืมย่อมบังคับเอากับผู้จำนองได้ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาว่า การนำสืบถึงมูลหนี้เดิมของการยืมเป็นการสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสารต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข) นั้น จำเลยที่ 2และที่ 3 มิได้ยกขึ้นว่ามาในชั้นอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน

Share