คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1522/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยขายซากเรือที่ชำรุดใช้การไม่ได้แล้วโดยเปิดเผยได้ราคาสูงกว่าราคาที่สำนักงานชลประทานที่ 7 เคยขาย เพียงแต่ไม่ได้ขออนุมัติ และได้รับอนุมัติให้ขายตามระเบียบแบบแผนของทางราชการเท่านั้น ทั้งเมื่อขายได้เงินแล้ว จำเลยก็นำเงินจำนวนดังกล่าวซื้อรถตัดหญ้าราคาสูงกว่าเงินที่ได้จากการขายเรือให้แก่ทางราชการทันที แสดงว่าจำเลยไม่มีเจตนาทุจริตเบียดบังเอาทรัพย์ของทางราชการเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่น ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 จำเลยซื้อรถตัดหญ้ามาให้แก่ทางราชการและนำเรือพอนทูนลำใหม่มาใช้แทนเรือลำเก่าแล้ว กรมชลประทานจึงไม่เสียหายอีกต่อไป จำเลยจึงไม่ต้องคืนหรือใช้ราคาเรือพอนทูนแก่กรมชลประทานอีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 157ที่แก้ไขแล้ว และให้จำเลยคืนเรือที่ขายไปหรือใช้ราคาทรัพย์ 3,600บาท แก่ทางราชการด้วย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147, 157 ที่แก้ไขแล้ว ให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147 ซึ่งเป็นบทเฉพาะจำคุก 5 ปี จำเลยรู้สึกความผิดและพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิดโดยได้ซื้อรถตัดหญ้ามามอบให้ทางราชการและนำเรือพอนทูนลำใหม่มาทดแทนลำที่จำเลยขายไปเป็นเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 3 ปี 4 เดือน ให้จำเลยคืนเรือที่ขายไปหรือใช้ราคาทรัพย์ 3,600 บาท แก่กรมชลประทาน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งนั่งพิจารณาในศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยรับราชการตำแหน่งนายช่างชลประทาน 4 ทำหน้าที่หัวหน้างานส่งน้ำและบำรุงรักษาประตูน้ำพระอุดม สำนักงานชลประทานที่ 7 กรมชลประทาน เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2527 จำเลยได้ขายเรือพอนทูนสภาพชำรุดใช้การไม่ได้ของกรมชลประทานซึ่งอยู่ในความดูแลรักษาของจำเลยให้แก่พ่อค้ารับซื้อของเก่าไป 1 ลำในราคา 3,600 บาท โดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมชลประทาน แล้วจำเลยซื้อรถตัดหญ้ามอบให้แก่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาตอน 5 ประตูน้ำพระอุดม สำนักงานชลประทานที่ 7 กรมชลประทาน จำนวน 1 คันคดีมีปัญหาที่ศาลฎีกาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยได้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 หรือไม่ ซึ่งจำเลยฎีกาว่า ที่จำเลยกระทำการดังกล่าวจำเลยไม่มีเจตนาทุจริตเบียดบังเอาเรือพอนทูนเป็นของตนหรือผู้อื่นนั้น ข้อเท็จจริงได้ความตามคำเบิกความของนายบัญญัติ บุญมา นิติกร 6 กองการเจ้าหน้าที่ของกรมชลประทานพยานโจทก์ซึ่งเป็นกรรมการสอบสวนทางวินัยจำเลยว่า เรือที่จำเลยขายเป็นเรือที่ใช้ตั้งแต่ทำเขื่อนเจ้าพระยาเมื่อประมาณ 30 ปีก่อนทางราชการจะแทงบัญชีสูญอยู่แล้วเรือดังกล่าวจมอยู่ใต้น้ำมาประมาณ10 ปี อยู่ในลักษณะกีดขวางการขุดลอกคลองส่งน้ำ ขณะจำเลยชักลากเรือขึ้นมาและขายไปนั้นมีเจ้าหน้าที่กรมชลประทานรู้เห็นด้วยประมาณ 7 คน และมีประชาชนรู้เห็นจำนวนมาก และได้ขายไปในลักษณะตัดออกเป็นเศษเหล็กในราคา 3,600 บาท จำเลยได้พูดในวันนั้นว่าจะนำเงินที่ขายได้ไปซื้อรถตัดหญ้าให้แก่ทางราชการ ต่อมาอีก 2 วันจำเลยได้ซื้อรถตัดหญ้าราคา 4,000 บาท มอบให้กรมชลประทาน ซึ่งตามคำเบิกความของนายบัญญัติ ดังกล่าวยังมีนายยรรยงค์ ฉลองบุญพยานโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างประจำของกรมชลประทานเบิกความสนับสนุนว่าสภาพของเรือใช้การไม่ได้แล้วและจำเลยบอกว่าเงินที่ได้จากการขายเรือจะไม่เอาไปไหน จะนำไปซื้อรถตัดหญ้าให้แก่ทางราชการ หลังจากนั้น2 วัน จำเลยก็นำรถตัดหญ้ามามอบให้แก่ทางราชการ นอกจากนี้นายเกตุ ตุ้มทอง นายธานี โพธิ์ทอง และนายสุชาติ บุญยืนซึ่งเป็นพยานโจทก์ต่างเบิกความว่าหลังจากจำเลยขายเรือพอนทูนไป 2-3 วัน ที่ทำงานประตูน้ำพระอุดมก็มีรถตัดหญ้าใช้ คำเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นการเจือสมพยานจำเลยที่ว่า จำเลยขายเรือพอนทูนไปเพื่อนำเงินไปซื้อรถตัดหญ้ามาใช้ในราชการ และหลังจากขายเรือไปได้ 2 วัน จำเลยก็ได้นำเงินที่ขายได้ไปซื้อรถตัดหญ้ามามอบให้แก่ทางราชการแล้ว เฉพาะอย่างยิ่งนายสุภาพบุญเก่า พยานโจทก์อีกปากหนึ่งก็เบิกความว่าจำเลยได้มอบรถตัดหญ้าใหม่ให้แก่หน่วยประตูน้ำพระอุดมตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม2527 พยานได้รับมอบไว้แล้วลงบัญชีครุภัณฑ์ชั่วคราว หลังจากนั้นได้ขออนุมัติสำนักงานชลประทานที่ 7 เพื่อขึ้นบัญชีครุภัณฑ์ถาวรต่อมาได้รับอนุมัติให้รับรถตัดหญ้าดังกล่าวไว้ขึ้นบัญชีเป็นครุภัณฑ์ถาวรยิ่งไปกว่านั้นผลการสอบสวนทางวินัยได้ความว่าคณะกรรมการสอบสวนเห็นว่าจำเลยนำเงินที่ขายเรือได้ซื้อรถตัดหญ้าไว้ใช้ในราชการทันทีและแจ้งผู้บังคับบัญชาขึ้นบัญชีครุภัณฑ์ ทำให้ทางราชการไม่ได้รับความเสียหาย จำเลยไม่มีเจตนานำเงินที่ขายได้ไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว ถือได้ว่าเป็นการกระทำผิดวินัยฐานไม่ปฏิบัติตามระเบียบและแบบธรรมเนียมของทางราชการตามมาตรา 74 แห่งพระราชบัญญัติข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2518 และลงโทษภาคฑัณฑ์จากพฤติการณ์ต่าง ๆ ดังได้วินิจฉัยมาแสดงว่าจำเลยขายซากเรือที่ชำรุดใช้การไม่ได้แล้วโดยเปิดเผย เจ้าหน้าที่หลายคนทราบการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำโดยสุจริตใจ ราคาที่ขายได้ 3,600 บาท ก็สูงกว่าราคาที่สำนักงานชลประทานที่ 7 เคยขายเรือพอนทูนชำรุดราคา3,000 บาท มาก่อน เพียงแต่การขายของจำเลยไม่ได้ขออนุมัติและได้รับอนุมัติให้ขายตามระเบียบแบบแผนของทางราชการเท่านั้น ทั้งเมื่อขายได้เงินแล้วจำเลยก็นำเงินจำนวนดังกล่าวซื้อรถตัดหญ้าราคาสูงกว่าเงินที่ได้จากการขายเรือ 400 บาท ให้แก่ทางราชการทันที อันเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าจำเลยไม่มีเจตนาทุจริตเบียดบังเอาทรัพย์ของทางราชการเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่น การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147… เมื่อคดีฟังได้ว่าจำเลยได้ซื้อรถตัดหญ้ามาให้แก่ทางราชการ ทั้งข้อเท็จจริงได้ความว่าหลังเกิดเหตุแล้วจำเลยได้นำเรือพอนทูนลำใหม่มาใช้แทนเรือลำเก่าแล้ว กรมชลประทานจึงไม่เสียหายอีกต่อไป และรูปคดีฟังได้ว่าจำเลยไม่มีเจตนาทุจริต ดังนั้น จำเลยจึงไม่ต้องคืนหรือใช้ราคาเรือพอนทูนแก่ทางราชการกรมชลประทานอีก”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share