คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1339/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การที่จำเลยไม่สามารถโอนสิทธิการเช่ารวมทั้งเปลี่ยนชื่อเจ้าของโรงเรียนให้แก่โจทก์ไม่เป็นเหตุสุดวิสัยถือว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา แต่พิพากษายกฟ้องโจทก์โดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องใหม่ภายในอายุความ เมื่อโจทก์อุทธรณ์จำเลยมิได้โต้แย้งในประเด็นข้อนี้ การที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยมิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา จึงเป็นเรื่องที่มิได้ว่ากล่าวกันในศาลอุทธรณ์ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาและโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้วคู่สัญญาจะต้องกลับคืนสู่ฐานะดั่งที่เป็นอยู่เดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 แต่โจทก์ได้ครอบครองและใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินที่ซื้อขายตลอดมา การที่จำเลยจะต้องคืนเงินทั้งหมดให้แก่โจทก์ จึงไม่เป็นธรรมแก่จำเลย ศาลมีอำนาจกำหนดจำนวนเงินที่จำเลยต้องคืนให้แก่โจทก์เมื่อเลิกสัญญาตามที่เห็นสมควรได้ และให้โจทก์คืนทรัพย์สินที่ซื้อขายให้แก่จำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาขายและโอนกิจการโรงเรียนกาญจนเทพทั้งหมดและทรัพย์สินตามรายการแนบท้ายสัญญากับสิทธิการเช่าซึ่งจำเลยเป็นผู้เช่าจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้แก่โจทก์ ในราคารวมทั้งสิ้น 4,000,000 บาท ต่อมาโจทก์ชำระเงินครบถ้วนตามสัญญาแล้วจำเลยไม่ได้ยื่นคำร้องต่อกระทรวงศึกษาธิการเพื่อขอเปลี่ยนชื่อเจ้าของโรงเรียนเป็นของโจทก์ตามสัญญา และจำเลยไม่สามารถโอนสิทธิการเช่าดังกล่าวให้โจทก์ได้ โจทก์บอกเลิกสัญญากับจำเลยแล้วจำเลยต้องคืนเงินจำนวน 4,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยและจำเลยต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์วันละ 4,000 บาท ตามสัญญาข้อ 12 ด้วย ขอให้จำเลยชำระเงินจำนวน 4,729,372 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 4,000,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้ใช้ค่าเสียหายโจทก์ 10,060,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยทำสัญญากับโจทก์ดังฟ้องจริง โจทก์ได้รับผลประโยชน์ในการดำเนินกิจการดังกล่าวไม่น้อยกว่า 30,000,000บาท จำเลยได้ปฏิบัติตามสัญญาแล้วทุกประการ แต่ทางกระทรวงศึกษาธิการไม่อนุญาตให้โอนกิจการ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไม่ยอมโอนสิทธิการเช่าให้แก่โจทก์เพราะเหตุสุดวิสัย โจทก์ปฏิบัติผิดสัญญารับนักเรียนเกินกว่าจำนวนที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต เป็นเหตุให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชนภาคทัณฑ์ ทำให้จำเลยและโรงเรียนกาญจนเทพวิทยาเสียชื่อ จำเลยมีสิทธิรับเงินทั้งหมดและปรับเป็นค่าเสียหายแม้โจทก์ไม่บอกเลิกสัญญา โจทก์ไม่มีสิทธิให้จำเลยคืนเงินจำนวน 4,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์ โดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคำฟ้องมายื่นภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยอายุความ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยคืนเงินจำนวน 4,000,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับจากวันที่รับเงินไปจากโจทก์ไปจนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยชำระค่าปรับจำนวน 4,000 บาท แก่โจทก์
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายในประเด็นข้อแรกว่าตามที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาซื้อขายและโอนสิทธิการเช่าหรือไม่นั้น ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การที่จำเลยไม่สามารถโอนสิทธิการเช่ารวมทั้งเปลี่ยนชื่อเจ้าของโรงเรียนแก่โจทก์ไม่เป็นเหตุสุดวิสัยถือว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา เมื่อโจทก์อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นจำเลยยื่นคำแก้อุทธรณ์ จำเลยก็มิได้โต้แย้งในประเด็นนี้จึงมิได้เป็นประเด็นในศาลอุทธรณ์ จำเลยยกขึ้นมาว่ากล่าวในชั้นศาลฎีกาถือว่าเป็นเรื่องที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแต่ในศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ประเด็นตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์มีสิทธิเรียกเงินคืนพร้อมดอกเบี้ย และค่าเสียหายหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยผิดสัญญา และโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว โจทก์และจำเลยแต่ละฝ่ายจึงต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะเดิม ตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 จำเลยมีหน้าที่ต้องคืนเงินให้แก่โจทก์แต่โจทก์ได้ครอบครองและใช้ประโยชน์จากกิจการโรงเรียนของจำเลยมาตั้งแต่วันทำสัญญาซื้อขายตลอดมาจนถึงปัจจุบันการที่จำเลยจะต้องคืนเงินทั้งหมดจำนวน 4,000,000 บาท ให้แก่โจทก์จึงไม่เป็นธรรมแก่จำเลย โจทก์นำสืบว่าโรงเรียนดังกล่าวทำรายได้ให้โจทก์เดือนละ 120,000 บาท นับจากวันทำสัญญาโจทก์ได้รับประโยชน์จากกิจการโรงเรียนพอสมควร จึงเห็นสมควรกำหนดจำนวนเงินที่จำเลยจำต้องคืนให้โจทก์เพียง 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป ส่วนค่าเสียหายที่จำเลยจะต้องชดใช้ให้โจทก์นั้น เมื่อพิจารณาดูสภาพกิจการและรายได้ของโรงเรียนแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ 4,000 บาทจึงเหมาะสมแล้ว
ในประเด็นที่โจทก์ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์คืนทรัพย์สินตามสัญญา และกิจการโรงเรียนที่พิพาทแก่จำเลยเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยผิดสัญญา โจทก์ได้บอกเลิกสัญญาแล้ว โจทก์จำเลยจึงต้องให้อีกฝ่ายได้กลับคืนสู่ฐานะเดิมโจทก์ต้องคืนทรัพย์สินและกิจการโรงเรียนทั้งหมดให้แก่จำเลยศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยคืนเงินจำนวน 1,000,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยชำระค่าปรับจำนวน 4,000 บาท แก่โจทก์ ให้โจทก์คืนทรัพย์สินตามสัญญาและกิจการโรงเรียนที่พิพาทแก่จำเลย

Share