คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1191/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่าจำเลยกับพวกร่วมกันปลอมรอยตราประทับและใช้รอยตราประทับปลอม แต่ในคำขอท้ายฟ้องมิได้อ้างประมวลกฎหมายอาญามาตรา 251 ซึ่งเป็นบทลงโทษมาด้วย ย่อมลงโทษจำเลยไม่ได้ และการที่ศาลมิได้ปรับบทลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ด้วยนั้นเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยซึ่งศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264,265, 268, 83, 91 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 11,12, 18, 62, 81 ริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 251, 264, 265, 268 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522มาตรา 11, 12, 18 วรรคสอง, 62 และ 81 เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเป็นคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่เข้าทางด่านช่องทางตรวจคนเข้าเมือง จำคุก 4 เดือน ปรับ2,000 บาท และฐานอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก4 เดือน ปรับ 2,000 บาท ฐานทำเอกสารราชการปลอม และใช้เอกสารราชการปลอม แต่การใช้เกิดจากการทำปลอม ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 268 วรรคสอง ประกอบมาตรา 265 จำคุก 1 ปี ปรับ 2,000 บาทฐานทำรอยตราเจ้าพนักงานปลอม ลงโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 2,000 บาทรวมให้จำคุก 2 ปี 8 เดือน และปรับ 8,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี4 เดือน และปรับ 4,000 บาท โทษจำคุกเห็นสมควรรอไว้มีกำหนด 2 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ในกรณีที่จำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลาง
โจทก์อุทธรณ์ขอไม่ให้รอการลงโทษ โดยรองอัยการสูงสุดรักษาราชการแทนอัยการสูงสุดรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาขอไม่ให้รอการลงโทษ โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า จำเลยเป็นบุคคลต่างด้าว การที่หลบหนีเข้ามาและอยู่อาศัยในประเทศไทยโดยมิชอบด้วยกฎหมายก็เป็นความผิดอยู่แล้ว แต่จำเลยหาได้รู้สำนึกไม่ จำเลยกลับร่วมกับพวกปลอมเอกสารราชการและใช้เอกสารราชการปลอมก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นอีกโดยมิได้เกรงกลัวต่อกฎหมาย กรณีเป็นการกระทำความผิดที่ร้ายแรง พฤติการณ์แห่งคดียังไม่มีเหตุสมควรรอการลงโทษให้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น แต่เมื่อไม่รอการลงโทษแล้ว เห็นสมควรไม่ลงโทษปรับแก่จำเลยด้วย
อนึ่ง คดีนี้ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 251 ศาลฎีกาเห็นว่า แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่าจำเลยกับพวกร่วมกันปลอมรอยตราประทับและใช้รอยตราประทับปลอมก็ตาม แต่ในคำขอท้ายฟ้องมิได้อ้างมาตรา 251 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งเป็นบทลงโทษมาด้วย ย่อมลงโทษจำเลยตามบทมาตราดังกล่าวไม่ได้ และที่ศาลล่างมิได้ปรับบทลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ด้วยนั้นเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวแม้คู่ความมิได้ยกขึ้นฎีกาแต่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 264, 265, 268, 83 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522มาตรา 11, 12, 18 วรรคสอง, 62, 81 เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเป็นคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่เข้าทางด่าน ช่องทางตรวจคนเข้าเมือง จำคุก 4 เดือนกระทงหนึ่ง ฐานเป็นคนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุก 4 เดือน กระทงหนึ่ง ฐานใช้เอกสารราชการปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 265 จำคุก 1 ปี อีกกระทงหนึ่ง รวมจำคุก 1 ปี 8 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา คดีมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยไว้มีกำหนด 10 เดือนโดยไม่รอการลงโทษจำคุก

Share