คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1030/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้สัญญาเช่าซื้อจะระบุว่า ถ้าผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้องวดหนึ่งงวดใดหรือกระทำผิดสัญญาอย่างหนึ่งอย่างใดยอมให้ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเป็นอันเลิกกันทันที โดยมิต้องมีการบอกกล่าวก่อนก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ได้ชำระค่าเช่าซื้อเกินกำหนดเวลาที่ระบุไว้ในสัญญาเกือบ 1 ปี ฝ่ายโจทก์ก็ยินยอมรับไว้โดยมิได้ทักท้วง แสดงว่าในทางปฏิบัติคู่สัญญาไม่ถือเอากำหนดเวลาชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาเป็นข้อสำคัญ ดังนี้เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้ชำระค่าเช่าซื้อตามกำหนดในสัญญา จะถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดผิดสัญญาและสัญญาเช่าซื้อเลิกกันไม่ได้ ในกรณีนี้หากโจทก์ประสงค์จะเลิกสัญญาโจทก์จะต้องบอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อภายในกำหนดเวลาที่สมควรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 เสียก่อน หนังสือเตือนให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้และส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ไม่เป็นหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ซูซูกิกระบะไปจากโจทก์ 1 คัน ราคา 194,080 บาท ชำระค่าเช่าซื้องวดละ 3,835 บาทภายในวันที่ 19 ของทุกเดือน รวม 48 งวด โดยมีจำเลยที่ 2 ที่ 3ทำสัญญาค้ำประกันและยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์รวม 10 งวดแต่งวดที่ 10 ชำระเพียง 1,365 บาทหลังจากนั้นก็ไม่ชำระ จำเลยที่ 1 ไม่ได้ส่งมอบรถคืนโจทก์ โจทก์ขอคิดค่าเสียหายเดือนละ 3,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันและแทนกันส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนโจทก์ มิฉะนั้นให้ใช้ราคารถแทนเป็นเงิน 148,200 บาท และให้ใช้ค่าเสียหาย ถึงวันฟ้อง 57,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี กับค่าเสียหายเดือนละ 3,000บาทนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบรถคืนหรือใช้ราคาให้โจทก์
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การว่า เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2531 จำเลยที่ 1 ได้ชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 9 และงวดที่ 10 ให้แก่โจทก์เป็นเงิน 2,420 บาท ค่าดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายเป็นเงิน 2,580 บาทและเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2531 จำเลยที่ 1 ได้ชำระค่าเช่าซื้อและดอกเบี้ยเป็นเงิน 5,000 บาท โจทก์ยอมรับเงินจำนวนดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 แสดงว่า โจทก์ไม่มีเจตนาที่จะเลิกสัญญาเช่าซื้อกับจำเลยที่ 1 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกมานั้นสูงเกินควรระยะเวลาคำนวณค่าเสียหายไม่ถูกต้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “แม้สัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 8จะระบุว่า “ถ้าผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้องวดหนึ่งงวดใดหรือกระทำผิดสัญญาอย่างหนึ่งอย่างใด…ฯลฯ ยอมให้ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเป็นอันเลิกกันทันที โดยมิต้องมีการบอกกล่าวก่อน…ฯลฯ”ก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ได้ชำระค่าเช่าซื้อในวันที่ 10 มีนาคม2531 จำนวน 5,000 บาท ตามเอกสารหมาย ล.3 และชำระค่าเช่าซื้อสำหรับงวดที่ 9 และงวดที่ 10 ตามเอกสารหมาย ล.1 อีกในวันที่25 พฤษภาคม 2531 เกินกำหนดเวลาที่ระบุไว้ในสัญญาเกือบ 1 ปีซึ่งฝ่ายโจทก์ยินยอมรับไว้โดยมิได้ทักท้วง ตามพฤติการณ์แสดงว่าในทางปฏิบัติคู่สัญญาไม่ถือเอากำหนดเวลาชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาเป็นข้อสำคัญ ดังนี้เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้ชำระค่าเช่าซื้อตามกำหนดในสัญญาจะถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดผิดสัญญาและสัญญาเช่าซื้อเลิกกันไม่ได้ ในกรณีนี้หากโจทก์ประสงค์จะเลิกสัญญาโจทก์จะต้องบอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อภายในกำหนดเวลาที่สมควรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 เสียก่อน แต่ในคดีนี้ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ดำเนินการดังกล่าว สำหรับเอกสารหมาย จ.8เป็นหนังสือเตือนให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้และส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ จึงไม่ถือว่าหนังสือนี้เป็นหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ ไม่มีผลให้สัญญาเช่าซื้อเลิกกัน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสาม
ที่โจทก์ฎีกาว่า ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ยังไม่เลิกกัน เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นนั้น2…ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share