แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ศาลสั่งคืนคำฟ้องให้โจทก์ไปยื่นต่อศาลที่มีเขตอำนาจภายในกำหนดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 176 เดิม ซึ่งบังคับใช้อยู่ในขณะนั้นคดีของโจทก์ย่อมขยายอายุความออกไป 6 เดือน เมื่อโจทก์นำฟ้องมายื่นใหม่ภายใน 6 เดือน ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ เมื่อบุคคลอื่นขับรถแทนลูกจ้างในทางการที่จ้างของจำเลย ต้องถือว่าการที่ลูกจ้างให้คนอื่นขับรถแทนจนก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์จำเลยผู้เป็นนายจ้างจึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดที่ลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้าง.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2526 เวลาประมาณ 19.30นาฬิกา นายวิชัย ม่วงเขียว ลูกจ้างโจทก์ได้ขับรถยนต์คันดังกล่าวแล่นไปตามถนนสายเอเซียมุ่งหน้ากลับจังหวัดอ่างทอง ได้มีรถยนต์หมายเลขทะเบียน 81-0605 นครปฐม ของจำเลย มีชายไม่ทราบชื่อลูกจ้างของจำเลยเป็นคนขับบรรทุกไก่จากจังหวัดเชียงใหม่มุ่งหน้าเข้ากรุงเทพมหานครตามทางการที่จำเลยจ้าง แต่ลูกจ้างของจำเลยได้ขับรถยนต์ด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจะต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และลูกจ้างของจำเลยอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้แต่หาได้ใช้เพียงพอไม่ รถยนต์ของจำเลยจึงชนรถยนต์ของโจทก์อย่างแรงเป็นเหตุให้นายวิชัยได้รับบาดเจ็บ และรถยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหายซึ่งเกิดจากความประมาทของลูกจ้างจำเลยขณะปฏิบัติหน้าที่ไปตามทางการที่จ้างจำเลยในฐานะนายจ้างจะต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้างจำเลยโจทก์ได้ติดต่อให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวแล้วแต่จำเลยไม่ชำระขอให้พิพากษาให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนรวมเป็นเงิน 410,179 บาทพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่าชายคนขับรถไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยและไม่ได้เป็นไปตามทางการที่จ้างของจำเลยเป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นด้วยความประมาทเลินเล่อของนายวิชัยลูกจ้างของโจทก์เอง นอกจากนั้นชายที่ขับรถยนต์บรรทุกของจำเลยก็ไม่ใช่ลูกจ้างจำเลย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในความเสียหายใด ๆ ที่เกิดขึ้น จำเลยตัดฟ้องว่าศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้มีคำสั่งให้ยกคดีของโจทก์เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2527 โจทก์นำคดีมาฟ้องใหม่ที่ศาลจังหวัดนครปฐมเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2528 จึงเป็นการนำคดีมาฟ้องเมื่อคดีขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงินจำนวน 328,689 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2526 เวลาประมาณ 19.30 นาฬิการถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 80-0574 อ่างทอง ของโจทก์ได้ชนกับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 81-0605 นครปฐม ของจำเลยที่ถนนสายเอเซีย อำเภอมหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทำให้รถทั้งสองคันได้รับความเสียหาย โจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยที่ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2527 ในระหว่างพิจารณาคดีศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้มีคำสั่งยกคดีโจทก์และให้คืนคำฟ้องโจทก์ให้ไปยื่นต่อศาลที่มีเขตอำนาจภายในกำหนดอายุความ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่เห็นว่าศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยามีคำสั่งเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม2527 ให้คืนคำฟ้องให้โจทก์ไปยื่นต่อศาลที่มีเขตอำนาจภายในกำหนดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 176 เดิม ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น ซึ่งบัญญัติว่า “ถ้าศาลยกคดีเสียเพราะเหตุคดีไม่อยู่ในอำนาจศาล และกำหนดอายุความสิ้นไปแล้วในระหว่างพิจารณาก็ดี หรือจะสิ้นลงในระหว่างหกเดือนภายหลังที่ได้พิพากษาคดีถึงที่สุดก็ดี ท่านให้ขยายอายุความนั้นออกไปถึงหกเดือนภายหลังคำพิพากษานั้น” คดีของโจทก์ซึ่งอายุความละเมิดได้สิ้นไปแล้วในระหว่างพิจารณาย่อมขยายอายุความออกไปอีก 6 เดือน เมื่อโจทก์ได้ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้คืนคำฟ้องเพื่อฟ้องใหม่ โดยฟ้องภายในกำหนด 6 เดือน อันเป็นอายุความตามที่มาตรา 176 เดิมที่ใช้บังคับในขณะนั้นบัญญัติไว้แล้ว ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น…
ปัญหาข้อ 3 ว่า จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ จำเลยฎีกาว่านายลอย บัวงาม ลูกจ้างคนขับรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุของจำเลยไม่ได้ขับรถเอง แต่มอบหมายให้เด็กท้ายรถอีกคนหนึ่งขับแทนเนื่องจากนายลอยป่วยเป็นไข้ จำเลยไม่ต้องร่วมรับผิด เห็นว่า กรณีเช่นนี้นายลอยจำต้องควบคุมให้เด็กท้ายรถคนขับรถคันเกิดเหตุใช้ความระมัดระวังมิให้เกิดเหตุร้ายขึ้น ฉะนั้นเมื่อคนที่ขับรถแทนนายลอยขับรถชนรถยนต์ของโจทก์ด้วยความประมาททำให้โจทก์ได้รับความเสียหายนายลอยย่อมต้องรับผิดชอบและต้องถือว่าการที่นายลอยให้คนอื่นขับรถแทนจนก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์อยู่ในกรอบทางการที่จ้างจำเลยผู้เป็นนายจ้างของนายลอยจึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดที่ลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้าง ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน…”
พิพากษายืน.