คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 414/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การเวนคืนหนังสือค้ำประกันซึ่งเป็นเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้ ซึ่งเข้าข้อสันนิษฐาน ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 327 ว่าหนี้เป็นอันระงับสิ้นไปนั้น มิใช่ข้อสันนิษฐานเด็ดขาดย่อมฟังตามข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นตามที่ปรากฏนั้นได้เมื่อจำเลยที่ 1 ยังมิได้ชำระหนี้เงินค่าจำหน่ายปุ๋ยที่จำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันและหนี้ยังไม่ระงับไปด้วยเหตุประการอื่น จำเลยที่ 3ผู้ค้ำประกันจึงไม่หลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้ดังกล่าว แม้จำเลยที่ 3 ได้ยกเลิกหนังสือค้ำประกันและคืนหลักประกันที่จำเลยที่ 1 ให้ไว้ทั้งหมดแก่จำเลยที่ 1 และไม่อาจไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 1 ก็เป็นเรื่องต้องว่ากล่าวกันต่างหากต่อไป หาได้เกี่ยวข้องกับการหลุดพ้นจากความรับผิดของจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันแต่อย่างใดไม่ การที่จำเลยที่ 3 ยอมผูกพันตนเป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1ต่อโจทก์ในการที่จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนจำหน่ายปุ๋ยให้โจทก์ และสัญญาตัวแทนจำหน่ายปุ๋ยที่จำเลยที่ 1 ทำกับโจทก์ก็ระบุความรับผิดกรณีผิดเงื่อนไขและกำหนดเรื่องดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันผิดนัดจนถึงวันชำระเงินให้แก่โจทก์ แม้ในหนังสือค้ำประกันมิได้กำหนดเรื่องดอกเบี้ยไว้ แต่หนังสือค้ำประกันก็อ้างถึงสัญญาตัวแทนด้วย จำเลยที่ 3 ยอมออกหนังสือค้ำประกันให้แก่จำเลยที่ 1 ย่อมทราบดีถึงข้อสัญญาและเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญาตัวแทนจำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดชดใช้ต้นเงินแทนจำเลยที่ 1 พร้อมดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาเป็นตัวแทนโจทก์จำหน่ายปุ๋ย โดยก่อนการรับปุ๋ยไปจากโจทก์แต่ละครั้ง จำเลยที่ 1จะต้องมอบหนังสือค้ำประกันของธนาคารในวงเงินไม่น้อยกว่ามูลค่าปุ๋ยที่จะรับมอบไปในแต่ละครั้งให้โจทก์ไว้ ต่อมาจำเลยที่ 1 รับปุ๋ยไปจากโจทก์รวม 4 ครั้ง จำนวน 520 ตัน โดยมีหนังสือค้ำประกันของจำเลยที่ 3 ที่ ค.มห. 37/2527 ค.มห.40/2527 ค.มห.47/2527 และค.มห.57/2527 รวมเป็นเงิน 2,184,000 บาท เป็นหลักประกันหลังจากนั้นโจทก์กับจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้รับปุ๋ยไปจากโจทก์2 ครั้ง จำนวน 130 ตัน โดยมีหนังสือค้ำประกันของจำเลยที่ 3ที่ ค.มห.72/2527 และ ค.มห.91/2527 รวมเป็นเงิน 811,200 บาท เป็นหลักประกันทั้งนี้ โดยจำเลยที่ 3 ยินยอมให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาแก้ไขเพิ่มเติม และจำเลยที่ 3 จะปฏิบัติตามสัญญาค้ำประกันที่ให้ไว้แก่โจทก์ ครั้นวันที่ 11 มกราคม 2528 จำเลยที่ 1 ขอยกเลิกและขอคืนหนังสือค้ำประกันที่ ค.มห.91/2527 โจทก์เห็นว่าจำเลยที่ 1 ยังมิได้รับปุ๋ยไปตามวงเงินค้ำประกันดังกล่าว จึงอนุมัติคืนหนังสือค้ำประกันฉบับนั้นให้แก่จำเลยที่ 1 แต่ด้วยความผิดพลาดของพนักงานโจทก์จึงได้หยิบหนังสือค้ำประกันของจำเลยที่ 3 ทั้งหมดรวม 6 ฉบับคืนให้จำเลยที่ 1 ไปโดยโจทก์ไม่มีเจตนาปลดหนี้ตามหนังสือค้ำประกันที่หยิบคืนเกินไป 5 ฉบับ นั้นแต่อย่างใด จำเลยที่ 3 จึงยังไม่พ้นความรับผิดเนื่องจากสัญญาค้ำประกันระบุว่าจะไม่เพิกถอนการค้ำประกันในระหว่างที่หนี้ประธานยังไม่ระงับ ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ขายปุ๋ยให้แก่เกษตรกรและชำระเงินให้โจทก์บางส่วนยังคงค้างชำระอยู่2,778,750 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 370,690.24 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น3,149,441.24 บาท โจทก์ได้ทวงถามแล้ว แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 3,149,441.24 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 2,778,750 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2มิได้ปฏิบัติผิดสัญญาแต่อย่างใด สัญญาจึงเป็นอันเลิกหรือระงับสิ้นไปพนักงานของโจทก์ได้คืนหนังสือค้ำประกันรวม 6 ฉบับ ให้แก่จำเลยที่ 1 โดยมิได้สำคัญผิด หรือหากสำคัญผิดก็เป็นเรื่องที่พนักงานของโจทก์ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้อง โจทก์ต้องคืนหลักประกัน 10,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขอให้ยกฟ้องและให้โจทก์ชำระเงิน 10,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2528 จนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 เคยทำหนังสือค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ตามฟ้อง แต่โจทก์ได้เวนคืนต้นฉบับหนังสือค้ำประกันทั้งหกฉบับให้แก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ได้นำมามอบให้จำเลยที่ 3เพื่อยกเลิก ซึ่งจำเลยที่ 3 ได้ยกเลิกหนังสือค้ำประกันทั้งหกฉบับและคืนหลักประกันให้แก่จำเลยที่ 1 ไปแล้ว จำเลยที่ 3 จึงหลุดพ้นความรับผิด ตั้งแต่วันที่ได้รับคืนต้นฉบับหนังสือค้ำประกันจากจำเลยที่ 1การที่พนักงานของโจทก์สำคัญผิดคืนหนังสือค้ำประกันให้จำเลยที่ 1ถือเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์ โจทก์จะยกเป็นข้ออ้างให้จำเลยที่ 3 ผู้กระทำการโดยสุจริตต้องรับผิดหาได้ไม่แต่หากจำเลยที่ 3 ต้องรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันแล้ว ก็รับผิดไม่เกินวงเงินค้ำประกันตามหนังสือค้ำประกัน 5 ฉบับ เป็นเงินไม่เกิน2,808,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ผิดสัญญาไม่ชำระเงินค่าปุ๋ยให้แก่โจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิริบเงินหลักประกันจำนวน10,000 บาท ตามสัญญาขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระเงินจำนวน3,149,441.24 บาทให้แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีจากต้นเงิน 2,778,750 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นโดยให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดเป็นเงินไม่เกิน 2,808,000 บาทยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 และที่ 2
โจทก์และจำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในวงเงิน 2,808,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย อัตราร้อยละ15 ต่อปี ในต้นเงิน 2,780,186.05 บาท นับแต่วันที่ 16 สิงหาคม2528 ซึ่งเป็นวันผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินให้โจทก์เสร็จสิ้นนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า โจทก์คืนหนังสือค้ำประกันของจำเลยที่ 3 รวม 5 ฉบับ ให้แก่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2เป็นผู้รับไปด้วยความเข้าใจผิดของพนักงานโจทก์ โจทก์มิได้มีเจตนาประสงค์จะปลดหนี้ให้แก่จำเลยทั้งสามแม้จำเลยที่ 3 จะได้รับเวนคืนหนังสือค้ำประกันทั้งห้าฉบับดังกล่าวซึ่งเป็นเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้ ซึ่งเข้าข้อสันนิษฐานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 327 วรรคสามว่า หนี้นั้นเป็นอันระงับสิ้นไปแล้วก็ตามแต่ข้อสันนิษฐานตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าวมิใช่ข้อสันนิษฐานเด็ดขาดหากปรากฏข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่น ก็ย่อมฟังตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏนั้นได้ เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงตามที่โจทก์และจำเลยที่ 3 นำสืบโดยไม่โต้แย้งกันว่า จำเลยที่ 1 ยังมิได้ชำระหนี้เงินค่าจำหน่ายปุ๋ยที่จำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันตามหนังสือค้ำประกันทั้งห้าฉบับดังกล่าวแก่โจทก์ และหนี้ดังกล่าวหาได้ระงับไปด้วยเหตุประการอื่นใดไม่จำเลยที่ 1 ยังคงต้องชำระหนี้นั้นต่อโจทก์ จำเลยที่ 3 ผู้ค้ำประกันจึงไม่หลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้ดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 698 จำเลยที่ 3 จะอ้างธรรมเนียมปฏิบัติของธนาคารพาณิชย์โดยทั่วไปว่าเมื่อจำเลยที่ 3ได้รับเวนคืนต้นฉบับหนังสือค้ำประกันจากจำเลยที่ 2 ผู้เป็นลูกค้าโดยสุจริต แม้ไม่ได้รับเวนคืนจากโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ จำเลยที่ 3ก็หลุดพ้นจากความรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันแล้วดังที่จำเลยที่ 3 ฎีกาหาได้ไม่ ทั้งนี้เพราะกรณีตามข้อฎีกาของจำเลยที่ 3 ไม่ต้องด้วยบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยความระงับสิ้นไปแห่งการค้ำประกันอันเป็นเหตุให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิด ดังที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้วในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 698 ถึงมาตรา 701 ส่วนที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์เป็นเหตุให้จำเลยที่ 3 ต้องเสียหายเพราะจำเลยที่ 3 ได้ยกเลิกหนังสือค้ำประกันทั้งห้าฉบับ คืนหลักประกันที่จำเลยที่ 1 ให้ไว้ทั้งหมดแก่จำเลยที่ 1 และไม่อาจไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 1 สำหรับหลักประกันนั้นได้ ก็เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 3ต้องไปว่ากล่าวกันต่างหากต่อไป หาได้เกี่ยวข้องกับการหลุดพ้นจากความรับผิดของจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันแต่อย่างใดไม่ฎีกาของจำเลยที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ประการสุดท้ายที่ว่าจำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดหรือไม่ จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดไม่เกินวงเงินตามหนังสือค้ำประกันทั้งห้าฉบับไม่เกิน 2,808,000 บาท เพราะหนังสือค้ำประกันดังกล่าวจำกัดความรับผิดไว้ไม่เกินวงเงินจำนวนดังกล่าวและมิได้กำหนดเรื่องดอกเบี้ยไว้ ทั้งจำเลยที่ 3 มิได้ตกเป็นผู้ผิดนัด โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 3 เห็นว่าหนังสือค้ำประกันทั้งห้าฉบับของจำเลยที่ 3 ตามเอกสารหมาย ปจ.7 ปจ.9ปจ.12 ปจ.14 และ ปจ.18 ระบุว่า ตามที่จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาตัวแทนจำหน่ายปุ๋ยตามสัญญาที่ 131/2527 ต่อโจทก์นั้น จำเลยที่ 3 ยอมผูกพันตนเป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญาที่ 131/2527 หรือปฏิบัติผิดเงื่อนไขข้อหนึ่งข้อใดของสัญญาดังกล่าว ซึ่งโจทก์มีสิทธิริบหลักประกันหรือเรียกค่าปรับและหรือเรียกค่าเสียหายใด ๆ จากจำเลยที่ 1 ได้แล้ว จำเลยที่ 3 ยอมชำระเงินแทนให้ทันที และสัญญาตัวแทนจำหน่ายปุ๋ยที่131/2527 ข้อ 17 เอกสารหมาย ปจ.6 ระบุว่า ถ้าจำเลยที่ 1ตัวแทนปฏิบัติผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใดโจทก์ตัวการมีสิทธิบอกเลิกสัญญาหรือตัดสิทธิการเป็นตัวแทนและมีสิทธิริบหลักประกันหรือเรียกร้องให้ธนาคารผู้ค้ำประกันชำระเงินทันที พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันผิดนัดจนถึงวันชำระเงินให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น แม้ในหนังสือค้ำประกันทั้งห้าฉบับจะมิได้กำหนดเรื่องดอกเบี้ยไว้ แต่สัญญาตัวแทนจำหน่ายปุ๋ยก็ระบุถึงกรณีที่จำเลยที่ 1 ปฏิบัติผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใดว่า ให้โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้ธนาคารผู้ค้ำประกันชำระเงินทันที พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ซึ่งในหนังสือค้ำประกันทั้งห้าฉบับดังกล่าวก็ได้อ้างถึงสัญญาตัวแทนจำหน่ายปุ๋ยดังกล่าว โดยจำเลยที่ 3 ผู้ค้ำประกันยอมชำระเงินแทนจำเลยที่ 1 ทันที หากจำเลยที่ 1 ปฏิบัติผิดเงื่อนไขข้อหนึ่งข้อใดตามสัญญาดังกล่าว การที่จำเลยที่ 3 ยอมออกหนังสือค้ำประกันทั้งห้าฉบับให้จำเลยที่ 1 ไป จำเลยที่ 3 ย่อมทราบดีถึงข้อสัญญาและเงื่อนไขต่าง ๆ ที่ระบุไว้ในสัญญาตัวแทนจำหน่ายปุ๋ยที่ 131/2527 รวมทั้งข้อสัญญาที่ให้ต้องรับผิดในดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ดังกล่าวด้วย เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ยังมิได้ชำระหนี้ตามสัญญาตัวแทนจำหน่ายปุ๋ยให้โจทก์ ซึ่งถือว่าเป็นการผิดสัญญาข้อหนึ่ง จำเลยที่ 3 ผู้ค้ำประกันจึงต้องรับผิดในต้นเงินในวงเงินไม่เกิน 2,808,000 บาท ตามหนังสือค้ำประกันทั้งห้าฉบับ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันผิดนัด มิได้หมายความว่าจำนวนเงินทั้งหมดที่จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดชำระให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยต้องไม่เกินไปกว่าวงเงินตามหนังสือค้ำประกันดังกล่าวดังฎีกาของจำเลยที่ 3 โจทก์ทวงถามให้จำเลยที่ 3ชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ซึ่งผิดสัญญาไม่ชำระหนี้ ค่าปุ๋ยเป็นต้นเงินจำนวน 2,780,186.05 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันที่ 10 สิงหาคม 2528 ตามหนังสือของโจทก์เอกสารหมายปจ.23 แต่จำเลยที่ 3 แจ้งโจทก์ว่าจำเลยที่ 3 ได้รับเวนคืนต้นฉบับหนังสือค้ำประกันแล้วจึงพ้นความรับผิดตามหนังสือของจำเลยที่ 3ลงวันที่ 16 สิงหาคม 2528 ซึ่งได้วินิจฉัยข้างต้นแล้วว่าข้ออ้างของจำเลยที่ 3 ดังกล่าวไม่ทำให้จำเลยที่ 3 หลุดพ้นจากความรับผิดจำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดชดใช้ต้นเงินแทนจำเลยที่ 1 จำนวน2,780,186.05 บาท ซึ่งไม่เกินวงเงินตามหนังสือค้ำประกันทั้งห้าฉบับจำนวน 2,808,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ15 ต่อปี นับแต่วันที่ 10 สิงหาคม 2528 อันเป็นวันที่จำเลยที่ 1ผิดนัด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคแรกฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นว่าจำเลยที่ 3 ผิดนัดตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2528 จึงให้จำเลยที่ 3 รับผิดในดอกเบี้ยนับแต่วันดังกล่าวนั้นปรากฏว่า โจทก์ไม่ฎีกา ศาลฎีกาจึงไม่อาจแก้ไขให้ได้”
พิพากษายืน

Share