คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 402/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ฟ้องโจทก์ระบุชื่อจำเลยที่ 2 ผิดไป แต่รายละเอียดที่บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกที่ทำละเมิดและข้อเท็จจริงในทางนำสืบก็รับฟังได้เช่นนั้น เมื่อบรรยายฟ้องไว้ถูกต้องแต่ระบุชื่อผิดไปจึงไม่ทำให้ฟ้องโจทก์เสียไปหรือเป็นการฟ้องผิดคน แม้พยานจำเลยที่ 1 คือจำเลยที่ 2 จะเบิกความยอมรับว่าเป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกที่ทำละเมิดแต่ผู้เดียวก็ตามแต่ก็ต้องพิจารณาพยานอื่นประกอบด้วย เมื่อได้ความว่าจำเลยที่ 1 ก็เป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวเช่นเดียวกัน จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ด้วย โจทก์บรรยายฟ้องว่ารถของโจทก์บรรทุกน้ำปลาเพื่อไปส่งลูกค้าเมื่อรถโจทก์ถูกชน รถโจทก์เสียหายหลายประการรวมทั้งน้ำปลาขวดน้ำปลาและลังบรรจุน้ำปลาแตกหักเสียหาย ถือว่าพอเข้าใจแล้วว่าน้ำปลาและลังซึ่งอยู่ในครอบครองของโจทก์เสียหายเนื่องจากการกระทำละเมิดของลูกจ้างจำเลย ฟ้องโจทก์ส่วนนี้จึงไม่เคลือบคลุม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกยี่ห้ออีซูซุ หมายเลขทะเบียน 80-3537 นครราชสีมา ส่วนจำเลยที่ 1และที่ 2 เป็นเจ้าของและผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุก ยี่ห้ออีซูซุหมายเลขทะเบียน 80-5263 ขอนแก่น นายคำมีลูกจ้างของโจทก์ได้ขับรถยนต์บรรทุกของโจทก์จากอำเภอเมืองนครราชสีมามาตามถนนมิตรภาพโดยบรรทุกน้ำปลาเต็มคันรถเพื่อส่งให้ลูกค้าที่อำเภอสีคิ้วจังหวัดนครราชสีมา ขณะถึงสามแยกที่จะเลี้ยวขวาเข้าอำเภอสีคิ้วลูกจ้างโจทก์ได้เปิดสัญญาณเลี้ยวขวาและชะลอความเร็วของรถปรากฏว่าในขณะนั้นนายบุญธรรม โพธิ์เพชร ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และที่ 2ได้ขับรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มาในทางการที่จ้างโดยขับด้วยความประมาทแล่นมาด้วยความเร็วสูงไม่ชะลอความเร็วของรถในขณะถึงทางแยกทางร่วมและขับรถเข้ามาในทางเดินรถของโจทก์เป็นเหตุให้ชนรถโจทก์พลิกคว่ำรถของโจทก์ น้ำปลาและขวดน้ำปลาที่บรรทุกมาได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดที่นายบุญธรรมลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 107,510 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ให้การและแก้ไขคำให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 80-3537 นครราชสีมาและค่าเสียหายของน้ำปลาที่รถคันดังกล่าวบรรทุกมาเพราะเหตุว่าโจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์รถคันดังกล่าว และน้ำปลาที่เสียหายในขณะเกิดเหตุคดีนี้ ฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับน้ำปลาที่เสียหายนั้นเคลือบคลุม เพราะมิได้บรรยายให้ทราบว่า อาศัยอำนาจและสิทธิอย่างไรจึงนำคดีมาฟ้องเรียกร้องจากจำเลย ทำให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดี จึงเป็นฟ้องที่มิชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 1 มิใช่เจ้าของหรือผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 80-5263ขอนแก่นและผู้ขับรถคันดังกล่าวมิใช่ลูกจ้างปฏิบัติงานในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ในขณะเกิดเหตุคดีนี้ ดังนั้น จำเลยที่ 1จึงไม่ต้องรับผิดร่วมด้วย รถบรรทุกคันดังกล่าวไม่เคยเกิดเหตุชนรถยนต์โจทก์ตามวันเวลาที่โจทก์กล่าวอ้าง ดังนั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 เนื่องจากการเกิดเหตุในวันดังกล่าว เหตุที่เกิดขึ้นในคดีนี้มิใช่ความประมาทของผู้ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 80-5263 ขอนแก่น หากแต่เกิดจากความประมาทของผู้ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 80-3537 นครราชสีมาเอง ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์เป็นเงิน 72,200 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่ารถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 80-5263 ขอนแก่น ได้ชนรถจักรยานยนต์เป็นเหตุให้คนขับรถจักรยานยนต์ถึงแก่ความตาย และรถคันดังกล่าวได้ชนกับรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 80-3537 นครราชสีมา ของโจทก์ซึ่งบรรทุกน้ำปลาเต็มคันรถ เป็นเหตุให้รถโจทก์ น้ำปลา ขวดน้ำปลาและลังบรรจุน้ำปลาได้รับความเสียหาย
ข้อต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยทั้งสองประการแรกมีว่านายประกิต ศิริโคจรสมบัติ ต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้รับฟังได้ว่า ฟ้องโจทก์ระบุชื่อจำเลยที่ 2 ว่านายประจำ ศิริโคจรสมบัติ รายละเอียดที่บรรยายในฟ้องว่า จำเลยที่ 1และที่ 2 เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกยี่ห้ออีซูซุหมายเลขทะเบียน 80-5263 ขอนแก่น และได้มีการส่งหมายนัดให้แก่จำเลยที่ 2 ยังภูมิลำเนาบ้านเลขที่ 24 หมู่ 11 ตำบลเขาสวนกวางอำเภอเขาสวนกวาง จังหวัดขอนแก่น โดยวิธีปิดหมายนัดหลายครั้งครั้งแรกส่งเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2529 เจ้าพนักงานศาลได้บันทึกว่าไม่พบตัวจำเลยที่ 2 คงพบแต่ภรรยาและภรรยาจำเลยที่ 2 แจ้งว่าจำเลยที่ 2 ชื่อนายประกิต ศิริโคจรสมบัติ จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ในชั้นพิจารณา จำเลยที่ 1 ได้นำนายประกิต ศิริโคจรสมบัติ มาเบิกความว่า อยู่บ้านเลขที่ 24หมู่ที่ 4 ตำบลเขาสวนกวาง อำเภอเขาสวนกวาง จังหวัดขอนแก่นจากคำเบิกความปรากฏว่า นายประกิตกับจำเลยที่ 1 ได้ร่วมกันเช่าซื้อรถยนต์บรรทุกยี่ห้ออีซูซุ หมายเลขทะเบียน 80-5263 ขอนแก่นตามข้อเท็จจริงที่รับฟังได้ดังกล่าว ประกอบกับคำบรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกยี่ห้ออีซูซุหมายเลขทะเบียน 80-5263 ขอนแก่น รถคันดังกล่าวนายประกิตได้เช่าซื้อร่วมกับจำเลยที่ 1 ซึ่งตรงกับที่โจทก์บรรยายฟ้องให้จำเลยที่ 2 เจ้าของรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียนดังกล่าวรับผิดต่อโจทก์แต่ระบุชื่อว่าเป็นนายประจำซึ่งผิดจากความจริงไปเท่านั้นผู้รับผิดที่แท้จริงคือเจ้าของรถยนต์บรรทุกเมื่อบรรยายฟ้องไว้ถูกต้อง แต่ระบุชื่อผิดไปไม่ทำให้ฟ้องโจทก์เสียไป หรือเป็นการฟ้องผิดคน แม้โจทก์จะไม่ได้แก้ชื่อให้ถูกต้อง แต่ในฟ้องก็บรรยายให้เจ้าของรถยนต์บรรทุกสิบล้อรับผิดอยู่แล้ว นายประกิตเจ้าของรถยนต์บรรทุกสิบล้อที่แท้จริงต้องรับผิดชอบต่อโจทก์ และการส่งหมายนัดปรากฏว่าได้ส่งไปตามฟ้อง บ้านเลขที่ 24 หมู่ที่ 11ตำบลเขาสวนกวาง อำเภอเขาสวนกวาง จังหวัดขอนแก่น เจ้าพนักงานศาลยังบันทึกว่าพบภรรยานายประกิตและภรรยาแจ้งว่าจำเลยที่ 2ชื่อนายประกิต ที่นายประกิตอ้างว่าอยู่หมู่ที่ 4 มิใช่หมู่ 11ก็ไม่ปรากฏหลักฐานว่า จำเลยที่ 2 จะอยู่หมู่ที่ 4 จริงดังที่จำเลยฎีกาอันจะทำให้การส่งหมายนัดให้จำเลยที่ 2 ผิดจากภูมิลำเนาที่เป็นจริงของจำเลยที่ 2 การส่งหมายนัดให้จำเลยที่ 2 ไปยังสถานที่ดังกล่าวชอบแล้ว
ฎีกาประการที่สองมีว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่โดยจำเลยฎีกาว่านายประกิตยอมรับว่าเป็นเจ้าของรถยนต์หมายเลขทะเบียน 80-5263 ขอนแก่น แต่ผู้เดียว จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดนั้นเห็นว่า แม้พยานจำเลยที่ 1 คือนายประกิตมาเบิกความเช่นนั้นจริงก็ต้องพิจารณาพยานอื่นประกอบด้วย มิใช่พิจารณาแต่ลำพังคำพยานจำเลยที่ 1 เพียงปากเดียวที่เป็นประโยชน์แก่จำเลยที่ 1 เมื่อพิจารณาถึงคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกวิจิตร ปัญญาปรุ ซึ่งเป็นผู้สอบสวนคดีเมื่อตอนเกิดเหตุเบิกความว่า นายประกิตเป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกร่วมกับนายธันวาจำเลยที่ 1 และนายประกิตเคยให้การในชั้นสอบสวนว่า ได้เข้าหุ้นซื้อกับจำเลยที่ 1 แต่ได้ใส่ชื่อจำเลยที่ 1ไว้คนเดียว ที่นายประกิตมาพบพนักงานสอบสวนก็ได้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1 มาด้วย แต่เมื่อมาเบิกความในศาลนายประกิตกลับเบิกความว่า ได้รับช่วงเช่าซื้อในส่วนของจำเลยที่ 1 มาเป็นของนายประกิตคำเบิกความของนายประกิตไม่พอฟังว่ารถยนต์คันดังกล่าวเป็นของนายประกิตแต่ผู้เดียว อันจะทำให้จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
ฎีกาประการที่สามมีว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและโจทก์เรียกค่าเสียหายของน้ำปลาได้หรือไม่ จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่ได้บรรยายว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายของน้ำปลาอย่างไรจึงเป็นฟ้องเคลือบคลุมนั้น เห็นว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้ว่ารถของโจทก์บรรทุกน้ำปลาเพื่อไปส่งลูกค้า เมื่อรถโจทก์ถูกชนรถโจทก์เสียหายหลายประการ รวมทั้งน้ำปลา ขวดน้ำปลาและลังบรรจุน้ำปลาแตกหักเสียหาย จึงพอเข้าใจแล้วว่าน้ำปลาและลังซึ่งอยู่ในความครอบครองของโจทก์เสียหายเนื่องจากการกระทำละเมิดของลูกจ้างจำเลย ส่วนโจทก์จะได้รับชดใช้ค่าเสียหายในฐานะใดเป็นเรื่องรายละเอียดที่โจทก์จะนำสืบได้ในชั้นพิจารณาซึ่งศาลฎีกาจะได้วินิจฉัยเป็นปัญหาถัดไปฟ้องโจทก์ในส่วนนี้ไม่เคลือบคลุม สำหรับปัญหาว่าโจทก์เรียกค่าเสียหายของน้ำปลาได้หรือไม่นั้น ตัวโจทก์เบิกความว่าได้เปิดร้านค้าชื่อร้านไทยรุ่งโรจน์ดำเนินกิจการขายน้ำปลาโดยมีรถยนต์บรรทุกส่งน้ำปลา วันเกิดเหตุให้นายคำมีขับรถยนต์บรรทุกน้ำปลาไปส่งลูกค้าที่อำเภอสีคิ้ว ย่อมเห็นได้ว่าตัวโจทก์เบิกความยืนยันว่าน้ำปลาเป็นของโจทก์ จริงอยู่นายสุทัศน์ ตันติพงษ์วัฒนาพยานโจทก์และเป็นลูกจ้างโจทก์เบิกความตอนตอบคำถามค้านว่า น้ำปลาเป็นของบริษัทไทยรุ่งโรจน์พาณิชย์และอุตสาหกรรม จำกัด โดยโจทก์เป็นผู้จัดการ พยานปากนี้ตอบคำถามในตอนซักถามเบิกความว่าน้ำปลาเป็นของโจทก์ลำพังแต่พยานปากนี้จึงไม่แน่นอนว่าน้ำปลาจะไม่ใช่ของโจทก์ เมื่อพิจารณาประกอบกับคำเบิกความของโจทก์ ทั้งพฤติการณ์ที่โจทก์เป็นผู้ดำเนินการขายน้ำปลา ได้บรรทุกรถของโจทก์ และให้ลูกจ้างโจทก์นำไปส่งแก่ลูกค้า เชื่อได้ว่า น้ำปลาเป็นของโจทก์โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายที่เกิดแก่น้ำปลาและลังบรรจุน้ำปลาได้…”
พิพากษายืน

Share