คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 55/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

พยานบุคคลของผู้ร้องต่างเบิกความสอดคล้องต้องกันและตรงตามเอกสารโดยเฉพาะภาพถ่ายของผู้ร้องและมารดาถ่ายในขณะผู้ร้องยังเป็นเด็กและตามภาพถ่ายปรากฏชื่อร้านที่ถ่ายเป็นภาษาไทย ณที่ผู้ร้องอยู่จึงทำให้น้ำหนักคำพยานผู้ร้องมีเหตุผลน่าเชื่อถือ แม้ใบรับแจ้งการเกิดและสูติบัตรไม่ระบุชื่อและนามสกุลผู้เกิด แต่ก็ได้ระบุที่เกิด ชื่อบิดากับมารดาผู้เกิดตรงกับพยานหลักฐานอื่น ๆของผู้ร้อง จึงน่าเชื่อว่าผู้ที่เกิดตามใบรับแจ้งการเกิดและสูติบัตรคือตัวผู้ร้อง.

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเกิดเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2494ณ ตำบลช้างม่อย อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ มีบิดาเป็นคนสัญชาติไทย ชื่อนายประกอบหรือมะหะเดียวหรือมะหะดอ ปันเดมารดาชื่อนางปารวาตี เดวี เป็นบุคคลต่างด้าวและถือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว ผู้ร้องเติบโตในประเทศไทยและเข้าเรียนหนังสือที่โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ ต่อมา พ.ศ. 2502ผู้ร้องเดินทางออกจากประเทศไทยไปประเทศอินเดียกับมารดา และผู้ร้องเดินทางกลับมาประเทศไทยเมื่อเดือนมีนาคม 2529 โดยถือหนังสือเดินทางของประเทศอินเดียและได้ยื่นคำขอพิสูจน์สัญชาติต่อพนักงานเจ้าหน้าที่กองตรวจคนเข้าเมือง กรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทย พนักงานเจ้าหน้าที่มีคำสั่งยกคำขอ ผู้ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าผู้ร้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องเป็นบุคคลต่างด้าวเชื้อชาติอินเดีย สัญชาติอินเดีย และเกิดในประเทศอินเดีย มีบิดามารดาเป็นคนต่างด้าว เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2529 ผู้ร้องได้เข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยถือหนังสือเดินทางของประเทศอินเดียและได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรไทยถึงวันที่ 27 มิถุนายน 2529ต่อมาวันที่ 26 มิถุนายน 2529 ผู้ร้องยื่นคำขออยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นการชั่วคราวต่อไป กรมตำรวจได้พิจารณาแล้วไม่อนุญาต วันที่ 11 สิงหาคม 2529 ผู้ร้องยื่นคำขออยู่ในราชอาณาจักรไทยอีกและวันที่ 19 สิงหาคม 2529 ผู้ร้องยื่นคำขอพิสูจน์สัญชาติต่อกรมตำรวจ กรมตำรวจได้สอบสวนพยานหลักฐานของผู้ร้องแล้วเห็นว่าผู้ร้องเป็นคนต่างด้าว เชื้อชาติอินเดียสัญชาติอินเดียและเกิดในประเทศอินเดีย จึงยกคำขอของผู้ร้องผู้ร้องมิได้เป็นบุตรของนายประกอบหรือมะหะเดียวหรือมะหะดอ ปันเดกับนางปารวาตี เดวี สูติบัตรที่ผู้ร้องแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่มิได้เป็นของทางราชการที่ออกให้แก่ผู้ร้อง เนื่องจากผู้ร้องอยู่ในประเทศอินเดีย และที่ผู้ร้องอ้างว่าเคยเรียนที่โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ ก็ไม่เป็นความจริง เพราะผู้ร้องเพิ่งเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทยเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2529ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ผู้ร้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ปัญหามีว่า ผู้ร้องได้สัญชาติไทยโดยการเกิดในราชอาณาจักรไทยหรือไม่ ผู้ร้องเบิกความยืนยันว่า ผู้ร้องมีบิดามารดาชื่อนายประกอบหรือมะหะเดียวปันเด และนางปารวาตี เดวี ทั้งบิดาและมารดาเกิดที่ประเทศอินเดียมีสัญชาติอินเดีย ต่อมาปี 2492 ซึ่งขณะนั้นบิดามีอายุ 53 ปีได้เข้ามาอยู่ในประเทศไทยโดยมีภูมิลำเนาและใช้เป็นที่ค้าขายอยู่ที่เลขที่ 512 ตำบลช้างม่อย อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ตามใบสำคัญถิ่นที่อยู่เอกสารหมาย ร.21 ต่อมามารดาได้ตามเข้ามาอยู่ด้วย ครั้นปี 2493 บิดาได้สัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติตามเอกสารหมาย ร.3 และ ร.4 ผู้ร้องเกิดเมื่อวันที่20 เมษายน 2494 ที่ภูมิลำเนาของบิดามารดาดังกล่าว การเกิดได้มีการแจ้งการเกิดที่เทศบาลนครเชียงใหม่และทางเทศบาลได้ออกสูติบัตรให้ตามเอกสารหมาย ร.1 และ ร.2 ระหว่างที่ผู้ร้องมีอายุ 4 วันถึง 7 ขวบ มีนางบัวแก้ว จำปาไหล เป็นพี่เลี้ยง ครั้นผู้ร้องมีอายุได้ 7 ขวบ ได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ หมายเลขทะเบียน 3864 ตามสำเนาทะเบียนนักเรียนเอกสารหมาย ร.6 ขณะผู้ร้องอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่มีชื่อเล่นว่าจูม่ามีเพื่อนเล่นหลายคน เช่น นางวันทนา โกรานา นายพิชัยกรรณกุลสุนทร นายนคร วสุวัต และนายสุดชาย กรรณกุลสุนทร และได้มีการถ่ายภาพกับมารดาและพี่เลี้ยงตามภาพถ่ายหมาย ร.8 และ ร.9เมื่อผู้ร้องมีอายุได้ 8 ขวบ บิดาผู้ร้องถูกคนร้ายยิงตาย มารดาไม่สามารถส่งเสียให้ผู้ร้องเรียนต่อและอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ได้จึงได้นำผู้ร้องออกจากโรงเรียนและพากันไปพักอาศัยอยู่กับนายวิดยาร์ ซูกูล กรุงเทพมหานคร เพื่อเตรียมตัวกลับไปอยู่ประเทศอินเดีย ก่อนออกเดินทางผู้ร้องได้ถ่ายภาพที่ร้านถ่ายภาพ ตามภาพถ่ายหมาย ร.12 และมารดาผู้ร้องได้ปลูกฝีตามใบรับรองการปลูกฝีพร้อมคำแปลเอกสารหมาย ร.17 และ ร.18 ครั้งวันที่ 5 สิงหาคม2502 ผู้ร้องพร้อมมารดาได้เดินทางออกจากประเทศไทยไปประเทศอินเดียโดยสายการบินสวิสแอร์ตามตั๋วโดยสารเครื่องบินเอกสารหมาย ร.13และ ร.15 เมื่อถึงประเทศอินเดียผู้ร้องได้พักอาศัยอยู่กับน้าจนกระทั่งปี 2526 มารดาถึงแก่ความตาย ต่อมาวันที่ 30 มีนาคม 2529ผู้ร้องเดินทางกลับประเทศไทย นอกจากผู้ร้องเบิกความยืนยัน และมีเอกสารต่าง ๆ และภาพถ่ายประกอบแล้ว ผู้ร้องยังมีนายวิดยาร์ ซูกูลซึ่งเป็นพราหมณ์เบิกความว่า พยานรู้จักบิดามารดาผู้ร้องขณะผู้ร้องมีอายุ 4 ขวบ เพราะได้ทำพิธีพราหมณ์ให้ผู้ร้องที่จังหวัดเชียงใหม่ประกอบกับผู้ร้องยังมีนายพิชัย กรรณกุลสุนทร อาจารย์ระดับ 5วิทยาลัยครูเชียงใหม่ นายนคร วสุวัต รับราชการประจำหอสมุดวิทยาลัยเชียงใหม่ นายสุดชาย กรรณกุลสุนทร และนางวันทนา โกรานาเป็นพยานเบิกความประกอบกันว่า ขณะพยานและผู้ร้องยังเป็นเด็กต่างมีที่อาศัยอยู่ถนนช้างม่อย ตำบลช้างม่อย อำเภอเมืองเชียงใหม่จังหวัดเชียงใหม่ และอยู่ใกล้กันเคยเป็นเพื่อนเล่นด้วยกันทั้งรู้จักบิดามารดาผู้ร้อง ภาพถ่ายหมาย ร.8 เป็นมารดาและตัวผู้ร้องและผู้ร้องยังมีนางบัวแก้ว จำปาไหล เป็นพยานเบิกความอีกว่าพยานเป็นคนเลี้ยงดูผู้ร้องมาตั้งแต่เกิดจนถึง 8 ขวบ พยานเคยถ่ายภาพร่วมกับผู้ร้องและเด็กข้างบ้านตามภาพถ่ายหมาย ร.8 บุคคลตามภาพถ่ายหมายเลข 1 เป็นตัวผู้ร้อง นอกจากพยานหลักฐานดังกล่าวแล้ว ฝ่ายผู้ร้องยังมีเอกสารที่แสดงว่าบิดามารดาผู้ร้องเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยกล่าวคือ หนังสือสำคัญแปลงสัญชาติของบิดาหมาย ร.3 ราชกิจจานุเบกษาประกาศแปลงสัญชาติบิดาเอกสารหมาย ร.4และที่แสดงว่าผู้ร้องเข้าศึกษาเบื้องต้นที่โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัยจังหวัดเชียงใหม่ คือสำเนาทะเบียนนักเรียนเอกสารหมาย ร.6 กับที่แสดงว่าผู้ร้องและมารดาเดินทางจากประเทศไทยไปประเทศอินเดียคือตั๋วโดยสารเครื่องบินพร้อมคำแปลเอกสารหมาย ร.13 และ ร.14เห็นว่าพยานบุคคลของผู้ร้องดังกล่าวต่างเบิกความสอดคล้องต้องกันและตรงตามเอกสารดังกล่าว โดยเฉพาะภาพถ่ายของผู้ร้องและมารดาถ่ายในขณะผู้ร้องยังเป็นเด็กและตามภาพถ่ายปรากฏชื่อร้านที่ถ่ายเป็นภาษาไทย ณ ที่ผู้ร้องอยู่ พยานเอกสารที่พยานผู้ร้องเบิกความถึงไม่มีข้อพิรุธสงสัยว่าจะทำขึ้นภายหลัง จึงทำให้น้ำหนักคำพยานผู้ร้องมีเหตุผลน่าเชื่อถือ แม้ใบรับแจ้งการเกิดและสูติบัตรตามเอกสารหมาย ร.1 และ ร.2 ไม่ระบุชื่อและนามสกุลผู้เกิด แต่ตามเอกสารดังกล่าวทั้งสองฉบับก็ได้ระบุที่เกิดและชื่อบิดากับมารดาผู้เกิดซึ่งได้ความตรงกับพยานหลักฐานดังที่ได้หยิบยกขึ้นกล่าวแล้วจึงน่าเชื่อว่าผู้ที่เกิดตามใบรับแจ้งการเกิดและสูติบัตรคือตัวผู้ร้อง พยานผู้คัดค้านคงมีแต่สำเนาหนังสือเดินทางของผู้ร้องที่เดินทางจากประเทศอินเดียเข้ามาในราชอาณาจักรไทยตามเอกสารหมาย ค.1 ซึ่งระบุว่าผู้ร้องเกิดเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2494ที่ประเทศอินเดีย ซึ่งอาจผิดพลาดได้ และนายพงษ์ศักดิ์ ฐิตะปุระหัวหน้าฝ่ายทะเบียนราษฎร์ เทศบาลนครเชียงใหม่ และนายบัญญัติโรจนารุณ ผู้ออกหนังสือรับรองทะเบียนนักเรียนโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเบิกความให้ความเห็นว่า บุคคลตามสูติบัตรกับบุคคลที่มีชื่อในสำเนาทะเบียนนักเรียนไม่น่าจะเป็นบุคคลคนเดียวกันเพราะเกิดคนละวันกันเท่านั้น มีน้ำหนักน้อยกว่าพยานหลักฐานผู้ร้องซึ่งมีทั้งพยานบุคคลและพยานเอกสารดังกล่าวได้ที่ศาลล่างทั้งสองฟังมาต้องกันว่าผู้ร้องเกิดในราชอาณาจักรไทยจึงเป็นการชอบแล้ว ผู้ร้องจึงได้สัญชาติไทยตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2456 มาตรา 3(3) ฎีกาผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share