คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6503/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดตามกฎหมายของสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยแนบหนังสือรับรองพร้อมคำแปลเป็นภาษาไทยมาด้วยท้ายฟ้อง ซึ่งในคำแปลเป็นภาษาไทยดังกล่าวได้ระบุว่าเป็นใบอนุญาตประกอบธุรกิจจดทะเบียนการค้าต่างประเทศเลขที่ 10832 มีชื่อบริษัทโจทก์ที่อยู่และทุนจดทะเบียนพร้อมซึ่งเพียงพอที่จะทำให้จำเลยและจำเลยร่วมเข้าใจได้ว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ส่วนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลหรือการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์นั้น โจทก์สามารถจะนำสืบรายละเอียดในชั้นพิจารณาคดีได้ ฟ้องของโจทก์จึงมีสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาชัดเจนพอเพียงที่จำเลยและจำเลยร่วมสามารถให้การต่อสู้คดีในส่วนนี้ได้แล้ว หาเป็นฟ้องเคลือบคลุมแต่อย่างใดไม่ การเป็นผู้รับมอบอำนาจฟ้องคดีแทนนั้นไม่จำต้องระบุไว้เป็นกิจการในวัตถุประสงค์ของนิติบุคคล หากเป็นการฟ้องคดีเกี่ยวกับกิจการค้าขายที่บริษัท ก. เกี่ยวข้องอยู่ด้วย ก็ย่อมเป็นผู้รับมอบอำนาจฟ้องคดีแทนได้ เมื่อบริษัท ก.เป็นตัวแทนจำหน่ายกุญแจตราลูกโลกของโจทก์ซึ่งพิพาทกันในคดีนี้ บริษัทก. จึงเป็นผู้รับมอบอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ได้ โจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตราลูกโลกกับสินค้ากุญแจไว้ในต่างประเทศหลายประเทศ และได้ใช้เครื่องหมายการค้านี้ในประเทศไทยตั้งแต่ก่อนจำเลยและจำเลยร่วมจะได้ใช้และได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้านี้การที่จำเลยและจำเลยร่วมรู้ดีว่าโจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าดังกล่าวอยู่ก่อนแล้วจำเลยและจำเลยร่วมยังนำเครื่องหมายการค้านั้นไปจดทะเบียนแสดงว่าจำเลยและจำเลยร่วมมิได้คิดประดิษฐ์เครื่องหมายการค้านี้ขึ้นเอง โจทก์จึงมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวดีกว่าจำเลยและจำเลยร่วม ทั้งนี้แม้โจทก์จะยังไม่ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นในประเทศไทย และจำเลยกับจำเลยร่วมได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้านี้ก่อนที่ประเทศไทยจะมีความสัมพันธ์ทางการฑูตกับประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนก็ตาม โจทก์ก็ย่อมจะมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวดีกว่าจำเลยกับจำเลยร่วมและมีสิทธิขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นในนามของจำเลยได้ ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 41(1)ซึ่งใช้บังคับในขณะเกิดข้อพิพาท

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ตามกฎหมายของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ตามหนังสือรับรองพร้อมคำแปลท้ายฟ้อง โจทก์ได้มอบอำนาจให้บริษัทกรุงไทยเอนเตอร์ไพรส์ จำกัด เป็นผู้ดำเนินคดีนี้แทนโจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า GLOBE อ่านว่าโกลบ แปลว่า ลูกโลก กับเครื่องหมายการค้าอักษรจีน อ่านเป็นภาษาจีนแต้จิ๋วว่า ตี่กิ่วไป๊ แปลว่า ตราลูกโลก และรูปจำลองลูกโลกโจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ดังกล่าว ณประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อปี 2504 และได้จดทะเบียนในต่างประเทศอีกหลายประเทศทั่วโลก โจทก์ใช้เครื่องหมายการค้านี้กับสินค้าประเภทลูกกุญแจทุกชนิดของโจทก์ โจทก์ได้โฆษณาเผยแพร่จำหน่ายสินค้าภายใต้เครื่องหมายการนี้ทั่วโลก และในประเทศไทยมานานแล้วจนสาธารณชนทราบดี ต่อมาปี 2514 จำเลยได้นำเครื่องหมายการค้าของโจทก์นี้ไปจดทะเบียนเป็นของจำเลย โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และในปี 2522 จำเลยได้ทำการผลิตและจำหน่ายสินค้ากุญแจโดยใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ซึ่งจำเลยได้จดทะเบียนไว้กับใช้รูปจำลองลูกโลกของโจทก์ ซึ่งจำเลยมิได้จดทะเบียนนำไปแสดงบนหีบห่อบรรจุสินค้า อีกทั้งยังลอกเลียนรูปและสีสันของของหีบห่อบรรจุสินค้าของโจทก์ด้วย โดยจำเลยมีเจตนาลวงสาธารณชนให้เข้าใจว่าสินค้าของจำเลยเป็นสินค้าของโจทก์ ซึ่งสินค้าของจำเลยมีคุณภาพต่ำกว่าสินค้าของโจทก์มาก ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนเครื่องหมายการค้าตามคำขอที่ 74460 ทะเบียนเลขที่ 50065 โดยให้จำเลยเป็นผู้ไปจดทะเบียนเพิกถอน หากจำเลยไม่ยอมปฏิบัติตาม ก็ขอให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ให้จำเลยหยุดการใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ และให้จำเลยชดใช้เงินจำนวน2,400,000 บาท และอีกเดือนละ 300,000 บาท นับจากวันฟ้องเป็นต้นไป พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยจะหยุดการใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์
จำเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม โจทก์มิได้เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดจดทะเบียน ณ เมืองเซี่ยงไฮ้ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน บริษัทกรุงไทยเอนเตอร์ไพรส์จำกัด ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ เพราะเป็นเรื่องนอกเหนือวัตถุประสงค์ทางการค้าของบริษัทผู้รับมอบอำนาจโจทก์โจทก์ไม่ใช่เจ้าของเครื่องหมายการค้าตามฟ้องโจทก์ไม่เคยจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าว ณ ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อปี 2504 และในประเทศอื่น ๆ แต่จำเลยเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าดังกล่าว โดยได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าถูกต้องตามกฎหมายตั้งแต่ปี 2514 ตามทะเบียนเลขที่ 50065 จำเลยได้เริ่มผลิตและจำหน่ายสินค้ากุญแจภายใต้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวตั้งแต่ปี 2514 โดยสุจริตและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ดังนั้นแม้โจทก์จะนำสืบได้ว่าโจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าดังกล่าวจำเลยก็ย่อมได้กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1342จำเลยจึงมีกรรมสิทธิ์ในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวดีกว่าโจทก์และจำเลยไม่เคยลวงขายสินค้ากุญแจภายใต้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวว่าเป็นสินค้าของโจทก์ ประกอบกับโจทก์มิได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายใด ๆ จากจำเลย นอกจากนี้ความเสียหายของโจทก์อย่างมากก็ไม่เกินเดือนละ 10,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายเรียกบริษัทไชยอิค่อน จำกัด เข้ามาเป็นจำเลยร่วมศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมให้การทำนองเดียวกับจำเลยดังกล่าวข้างต้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนเครื่องหมายการค้าของจำเลยตามคำขอเลขที่ 74460 ทะเบียนเลขที่ 50065 โดยให้จำเลยไปจดทะเบียนเพิกถอน หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ห้ามจำเลยและจำเลยร่วมใช้เครื่องหมายการค้าตามเอกสารท้ายฟ้องของโจทก์ต่อไป คำขออื่นให้ยก
โจทก์ จำเลย และจำเลยร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยและจำเลยร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดตามกฎหมายของสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยแนบหนังสือรับรองพร้อมคำแปลเป็นภาษาไทยมาด้วยตามเอกสารท้ายฟ้อง ซึ่งในคำแปลเป็นภาษาไทยดังกล่าวได้ระบุว่าเป็นใบอนุญาตประกอบธุรกิจจดทะเบียนการค้าต่างประเทศเลขที่ 10832 มีชื่อบริษัทโจทก์ ที่อยู่และทุนจดทะเบียนพร้อมซึ่งเพียงพอที่จะทำให้จำเลยและจำเลยร่วมเข้าใจได้ว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนส่วนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลหรือการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์นั้น โจทก์สามารถจะนำสืบรายละเอียดในชั้นพิจารณาคดีได้ ฟ้องของโจทก์จึงมีสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาชัดเจนพอเพียงที่จำเลยและจำเลยร่วมสามารถให้การต่อสู้คดีในส่วนนี้ได้แล้ว หาเป็นฟ้องเคลือบคลุมแต่อย่างใดไม่ สำหรับปัญหาที่ว่าบริษัทกรุงไทยเอนเตอร์ไพรส์ จำกัด สามารถกระทำการเป็นผู้รับมอบอำนาจฟ้องคดีนี้ได้หรือไม่นั้น จำเลยและจำเลยร่วมฎีกาว่าบริษัทดังกล่าวรับมอบอำนาจฟ้องคดีนี้ไม่ได้เพราะอยู่นอกวัตถุประสงค์ของบริษัท บริษัทกรุงไทยเอนเตอร์ไพรส์ จำกัด มิได้ประกอบกิจการรับจ้างจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าหรือเป็นผู้รับมอบอำนาจให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า การฟ้องคดีจึงไม่เกี่ยวกับกิจการค้าของโจทก์เห็นว่า การเป็นผู้รับมอบอำนาจฟ้องคดีแทนนั้นไม่จำต้องระบุไว้เป็นกิจการในวัตถุประสงค์ของนิติบุคคล หากเป็นการฟ้องคดีเกี่ยวกับกิจการค้าขายที่บริษัทกรุงไทยเอนเตอร์ไพรส์ จำกัดเกี่ยวข้องอยู่ด้วย ก็ย่อมเป็นผู้รับมอบอำนาจฟ้องคดีแทนได้ข้อเท็จจริงได้ความว่าบริษัทกรุงไทยเอนเตอร์ไพรส์ จำกัด เป็นตัวแทนจำหน่ายกุญแจตราลูกโลกของโจทก์ซึ่งพิพาทกันในคดีนี้บริษัทกรุงไทยเอนเตอร์ไพรส์ จำกัด จึงเป็นผู้รับมอบอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ได้
ปัญหาต่อไปที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยและจำเลยร่วมมีว่า โจทก์หรือจำเลยและจำเลยร่วมใครจะมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่ากัน ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทที่ประเทศสาธารณรัฐอาหรับซีเรียและประเทศสวีเดน กับยังได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้านี้ในอีกหลายประเทศ และได้ใช้เครื่องหมายการค้านี้ในประเทศไทยตั้งแต่ก่อนจำเลยร่วมจะได้ใช้และได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้านี้การที่จำเลยและจำเลยร่วมรู้ดีว่าโจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าพิพาทอยู่ก่อนแล้ว จำเลยและจำเลยร่วมยังนำเครื่องหมายการค้าพิพาทไปจดทะเบียน แสดงว่าจำเลยและจำเลยร่วมมิได้คิดประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าพิพาทขึ้นเอง โจทก์จึงมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่าจำเลยและจำเลยร่วมทั้งนี้แม้โจทก์จะยังไม่ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทในประเทศไทยก็ตาม สรุปแล้วโจทก์มีสิทธิขอให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยได้ ส่วนที่จำเลยและจำเลยร่วมฎีกาว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่เคยจดทะเบียนในประเทศไทย จำเลยและจำเลยร่วมได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน 2514ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนที่ประเทศไทยจะมีความสัมพันธ์ทางการฑูตกับประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งโจทก์จะฟ้องขอให้เพิกถอนไม่ได้นั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทในประเทศไทยมาก่อนจำเลยยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาท โจทก์ก็ย่อมจะมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่าจำเลยกับจำเลยร่วมและมีสิทธิขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทในนามของจำเลยได้ ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 41(1) ซึ่งใช้บังคับในขณะเกิดข้อพิพาท
พิพากษายืน

Share