แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่โจทก์ยื่นคำร้องว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์ตามคำขอของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไปโดยไม่ชอบและโจทก์ต้องเสียหายโดยการกระทำของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โจทก์ต้องยื่นคำร้องต่อศาลภายในกำหนดเวลา 14 วัน นับแต่วันที่ได้ทราบถึงการกระทำนั้น ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 146 คำร้องของโจทก์ไม่ว่าจะเป็นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดหรือขอให้ประกาศขายทอดตลาดใหม่ก็เป็นคำร้องที่ได้ยื่นเมื่อพ้นระยะเวลาที่จะยื่นคำร้องได้ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว โจทก์ไม่อาจขอให้ระงับการโอนที่ดินที่ขายหรือขอให้ดำเนินการขายทอดตลาดใหม่ได้
ย่อยาว
คดีนี้เดิมโจทก์และจำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกเลิกหรือเพิกถอนการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีตามคำขอของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่อนุมัติให้ขายที่ดินพิพาทที่ยึดในคดีนี้โดยไม่ชอบ ทำให้โจทก์จำเลยและเจ้าหนี้ทั้งหลายเสียหาย ขอให้ดำเนินการขายทอดตลาดใหม่ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และบริษัทบัวทองพลาซ่า จำกัด ผู้ซื้อทรัพย์ได้จากการขายทอดตลาดต่างยื่นคำคัดค้าน
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยได้นำนายประสาร เบญจตานนท์มาศาลและแถลงต่อศาลยืนยันว่าจะสู้ราคาที่ดินพิพาทในราคาไม่ต่ำกว่า18,000,000 บาท ซึ่งสูงกว่าราคาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีอนุมัติให้ขายไปในราคา 13,600,000 บาท ต่อมาโจทก์ จำเลย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ บริษัทบัวทองพลาซ่า จำกัด ผู้ซื้อเดิมและนายประสารผู้ซื้อรายใหม่มาศาลตกลงกันและให้ศาลบันทึกไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาว่า
1. ผู้เสนอซื้อรายใหม่ยอมให้เงินที่วางไว้ 100,000 บาทแก่ผู้ซื้อรับไปเป็นค่าเสียหายโดยเด็ดขาดนับแต่วันนี้และผู้เสนอซื้อรายใหม่จะเข้าสู้ราคาในการขายทอดตลาดครั้งใหม่ในราคาขั้นต่ำตั้งแต่ 18,000,000 บาท โดยจะจัดหาธนาคารมาค้ำประกันเป็นจำนวน 2,000,000 บาท เป็นค่าเสียหายแก่กองทรัพย์สินหากไม่สู้ราคาดังกล่าวข้างต้น โดยจะทำสัญญาดังว่านี้ภายในวันที่ 1 มีนาคม 2531มิฉะนั้นถือว่าไม่ติดใจคัดค้านการขายรายนี้ ตลอดจนเงิน 100,000บาท ที่ให้ผู้ซื้อไป
2. ผู้ซื้อพอใจหากผู้ซื้อรายใหม่ปฏิบัติตามข้อ 1 ได้ก็ไม่ติดใจคัดค้านคำร้องขอให้ขายทอดตลาดใหม่ แต่สงวนสิทธิที่จะเข้าสู้ราคาด้วย
3. เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์พอใจและหากผู้ซื้อรายใหม่ไม่สามารถปฏิบัติตามข้อ 1 ได้ครบถ้วน ก็ไม่ติดใจคัดค้านการขายทอดตลาดรายนี้เช่นกัน ให้ศาลจำหน่ายคำร้องคัดค้านของจำเลยและเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์โดยถือว่าไม่ติดใจและขอถอนคำร้อง
ผู้ซื้อเดิมได้รับเงินประกันค่าเสียหายจำนวน 100,000 บาทจากศาลแล้ว ต่อมาวันที่ 1 มีนาคม 2531 ซึ่งเป็นวันนัดที่ผู้ซื้อรายใหม่จะต้องหาธนาคารมาค้ำประกันเป็นจำนวน 2,000,000 บาทผู้ซื้อรายใหม่ยื่นคำร้องว่าได้ติดต่อกับธนาคารแล้ว ปรากฏว่าในการออกหนังสือค้ำประกันจะต้องเสียค่าธรรมเนียมประมาณ 30,000 บาทซึ่งเป็นเงินจำนวนมาก หากใช้บุคคลที่มีหลักทรัพย์ในวงเงินดังกล่าวมาเป็นผู้ค้ำประกันจะเป็นผลดีต่อทุกฝ่ายเช่นเดียวกัน ผู้ซื้อรายใหม่จึงขอเสนอบุคคลเป็นผู้ค้ำประกันแทนในวงเงิน 2,000,000 บาทโดยมีสลากออมสินและเงินสดไม่น้อยกว่า 2,000,000 บาท มาวางศาลเป็นหลักประกันด้วย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า สำเนาให้ทุกฝ่าย สั่งในวันนัด เมื่อถึงวันนัดวันที่ 3 มีนาคม 2531 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าตามคำร้องดังกล่าวเท่ากับผู้ซื้อรายใหม่ไม่อาจปฏิบัติตามข้อตกลงในศาลตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 17 ธันวาคม 2530 ถือว่าผู้ซื้อรายใหม่ผิดข้อตกลงมีคำสั่งยกคำร้องของเจ้าหนี้ ผู้เป็นโจทก์และจำเลย จำเลยอุทธรณ์และฎีกา ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาพิพากษายืน
โจทก์ยื่นคำร้องลงวันที่ 19 มิถุนายน 2534 ว่า ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 17 ธันวาคม 2530 ถือได้ว่าเป็นการประนีประนอมยอมความ เนื่องจากข้อตกลงนั้นมีจุดมุ่งหมายระงับข้อพิพาทที่มีอยู่ให้เสร็จไป โดยยอมผ่อนผันให้แก่กัน ผลของข้อตกลงทำให้บริษัทบัวทองพลาซ่า จำกัด ผู้ซื้อเดิมหมดสิทธิที่จะอ้างว่าเป็นผู้ซื้อที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดได้ต่อไปแล้วเพราะถือว่าได้มีการตกลงยกเลิกการขายทอดตลาดที่ไม่ชอบและให้มีการขายทอดตลาดใหม่ ขอให้ศาลมีคำสั่งไปยังเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ให้ระงับการโอนที่ดินพิพาทที่ขายทอดตลาดรายนี้ และให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการประกาศขายทอดตลาดใหม่ต่อไป
จำเลยยื่นคำแถลงสนับสนุนคำร้องของโจทก์
บริษัทบัวทองพลาซ่า จำกัด ผู้ซื้อเดิมและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แถลงคัดค้าน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าคดีนี้เมื่อศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลายและมีเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้แล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาทของจำเลย และขายทอดตลาดไปเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2530 โดยบริษัทบัวทองพลาซ่า จำกัดเป็นผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดได้ และในวันที่ 24 กันยายน 2530โจทก์และจำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกเลิกหรือเพิกถอนการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ได้ปฏิบัติตามคำขอ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่อนุมัติให้ขายทอดตลาดในวันดังกล่าวอ้างว่าเป็นคำสั่งอนุมัติไม่ชอบ ทำให้โจทก์จำเลยและเจ้าหนี้ทั้งหลายเสียหาย ขอให้ดำเนินการขายทอดตลาดใหม่ ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นได้มีการตกลงกันตามที่ปรากฏจากรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ลงวันที่ 17 ธันวาคม 2530 และศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2531 ให้ยกคำร้องลงวันที่ 24 กันยายน 2530ของโจทก์และจำเลย คดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาฎีกาที่ 4989/2533ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์มีว่า การขายทอดตลาดที่ดินพิพาทในคดีนี้เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2530 ยกเลิกไปแล้วหรือไม่ที่โจทก์ฎีกาว่าการขายทอดตลาดได้ยกเลิกไปตามข้อตกลงเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2530 ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นข้อ 1 แล้ว โจทก์ย่อมยื่นคำร้องขอให้ขายทอดตลาดที่ดินพิพาทที่ยึดมาในคดีนี้ใหม่ตามคำร้องของโจทก์ลงวันที่ 19 มิถุนายน 2534 ได้นั้นเห็นว่า ข้อตกลงตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นดังกล่าวนั้น โจทก์ได้ร่วมเจรจาตกลงด้วย ซึ่งข้อตกลงในข้อ 1 จะมีการขายทอดตลาดใหม่โดยผู้ซื้อรายใหม่จะเข้าสู้ราคาและจะต้องจัดหาธนาคารมาค้ำประกันค่าเสียหายแก่กองทรัพย์สินหากไม่สู้ราคา และในข้อ 3 โจทก์ตกลงว่าถ้าผู้ซื้อรายใหม่ไม่สามารถปฏิบัติตามข้อ 1ได้ครบถ้วน โจทก์ไม่ติดใจคัดค้านการขายทอดตลาดที่ได้ดำเนินการไปแล้วให้ศาลจำหน่ายคำร้องโดยถือว่าโจทก์ขอถอนคำร้อง และในปัญหาดังกล่าวศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้แล้วว่าผู้ซื้อรายใหม่ไม่สามารถปฏิบัติตามข้อตกลงได้และไม่อาจถือได้ว่าผู้ซื้อทรัพย์ได้จากการขายทอดตลาดสละสิทธิการซื้อไปแล้วตามคำพิพากษาฎีกาที่ 4989/2533 ซึ่งรวมอยู่ในสำนวนอันดับที่ 88 ดังนี้การขายทอดตลาดทรัพย์เมื่อวันที่23 กันยายน 2530 จึงยังไม่ได้เลิกไปแต่อย่างใด คำร้องคัดค้านของโจทก์ลงวันที่ 24 กันยายน 2530 ก็สิ้นผลไปโดยศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องไปแล้ว การที่โจทก์กลับมายื่นคำร้องใหม่แม้จะอ้างว่าเป็นการยื่นคำร้องขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการขายทอดตลาดใหม่ไม่ใช่ขอเพิกถอนการขายทอดตลาดก็ตาม ก็เห็นได้ว่า ผลของคำร้องเป็นอย่างเดียวกัน เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้อนุมัติให้ขายทอดตลาดทรัพย์ตามคำขอของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน 2530 และบริษัทบัวทองพลาซ่า จำกัด เป็นผู้ซื้อทรัพย์ได้ไป ซึ่งโจทก์ก็ทราบตั้งแต่วันดังกล่าวแล้ว การที่โจทก์มายื่นคำร้องว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์ตามคำขอของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไปโดยไม่ชอบและโจทก์ต้องเสียหายโดยการกระทำของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โจทก์ต้องยื่นคำร้องต่อศาลภายในกำหนดเวลา 14 วัน นับแต่วันที่ได้ทราบถึงการกระทำนั้น ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 146 คำร้องของโจทก์ลงวันที่ 19 มิถุนายน 2534 ไม่ว่าจะเป็นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดหรือขอให้ประกาศขายทอดตลาดใหม่ก็เป็นคำร้องที่ได้ยื่นเมื่อพ้นระยะเวลาที่จะยื่นคำร้องได้ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าการขายทอดตลาดเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2530 ยังมีผลบังคับ โจทก์ไม่อาจขอให้ระงับการโอนที่ดินพิพาทที่ขายหรือขอให้ดำเนินการขายทอดตลาดใหม่ได้โดยพิพากษายกคำร้องดังกล่าวของโจทก์ยืนตามศาลชั้นต้น ศาลฎีกาเห็นด้วยในผล
พิพากษายืน