แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องเรียกที่ดินพร้อมบ้านพิพาทอันเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดที่ 5677 ซึ่งผู้ตายทำพินัยกรรมยกให้แก่โจทก์ไว้ จำเลยที่ 2ให้การต่อสู้ว่า ที่ดินโฉนดที่ 5677 เป็นกรรมสิทธิ์ของ ส. สามีผู้ตาย โดยส.ให้น.ถือกรรมสิทธิ์แทนส. ได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินโฉนดดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 แล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยที่ 2 การที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า โจทก์มีสิทธิได้รับมรดกและค่าเช่าบ้านทรัพย์มรดกตามฟ้องหรือไม่เพียงใดย่อมหมายรวมถึงว่าที่ดินพร้อมบ้านพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายหรือไม่ด้วย เพราะหากว่าที่ดินพร้อมบ้านพิพาทมิได้เป็นของผู้ตายก็ย่อมไม่เป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายอยู่ในตัว การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าที่ดินพร้อมบ้านพิพาทมิได้เป็นมรดกของส. ซึ่งตกทอดแก่จำเลยที่ 2 ผู้ตายไม่มีอำนาจทำพินัยกรรมยกที่ดินพร้อมบ้านพิพาทซึ่งเป็นของ ส. ให้แก่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับมรดกและค่าเช่าทรัพย์มรดก จึงเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น แต่ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าที่ดินพร้อมบ้านพิพาทเป็นสินสมรสซึ่งตกได้แก่ ส. ผู้ตายไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมบ้านพิพาทผู้ตายจึงทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินซึ่งมิใช่ของตนให้แก่ผู้ใดหาได้ไม่พินัยกรรมซึ่งผู้ตายทำจึงไม่มีผลใช้บังคับนั้น ส. เบิกความไว้ในคดีอาญา สรุปได้ว่า ก่อนที่ผู้ตายจะไปทำพินัยกรรมได้ปรึกษาหารือกับส. ที่บ้านเกี่ยวกับการจัดแบ่งทรัพย์สินแก่ทายาท ผู้ตายไปทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมือง ส. จะไปด้วยหรือไม่จำไม่ได้ เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตาย ส. ได้บอกให้จำเลยที่ 2 ทราบว่า มีพินัยกรรมที่ผู้ตายทำไว้ ต่อมา ส. จำเลยที่ 2 โจทก์ และ ก. ไปฟังพินัยกรรม กรณีเป็นที่เห็นได้ว่า ผู้ตายไปทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองยกที่ดินโฉนดที่ 5677 พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้รับพินัยกรรมทั้งสามคนโดย ส. รู้เห็นยินยอมด้วยเมื่อได้มีการอ่านพินัยกรรม ส. ก็มิได้คัดค้านหรือเรียกร้องที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างคืนจากผู้รับพินัยกรรมทั้งสาม ทั้ง ส. ยังได้สละมรดกของผู้ตายตามหนังสือการสละมรดกอีก จากพยานหลักฐานและพฤติการณ์แห่งคดีดังกล่าวมาแสดงว่า ส. มีเจตนาสละกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดที่ 5677พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ให้แก่ผู้ตายตั้งแต่ก่อนที่ผู้ตายจะทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองแล้ว และเนื่องจากโฉนดที่ดินมีชื่อผู้ตายแต่ผู้เดียว เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ กรณีจึงไม่จำต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์กันอีก ผู้ตายจึงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมบ้านพิพาทและทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินของตนให้แก่โจทก์ได้ โจทก์มีสิทธิได้รับมรดกและค่าเช่าบ้านทรัพย์มรดกตามฟ้อง ค่าใช้จ่ายในการทำศพผู้ตาย แม้จำเลยที่ 1 จะอ้างว่าเสียค่าใช้จ่ายไป 58,700 บาท แต่จำเลยที่ 1 ให้การและฟ้องแย้งว่าเสียค่าใช้จ่ายไปเป็นเงินประมาณ 30,000 บาท ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้ค่าใช้จ่ายในการทำศพผู้ตาย 30,000 บาท นั้น เป็นจำนวนตามสมควรแล้ว สำหรับค่าจ้างทนายความและค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับการจัดการมรดกของผู้ตายเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อประโยชน์อันร่วมกันของกองมรดก ซึ่งจำเลยที่ 1 กระทำแทนทายาทอื่นจึงต้องหักค่าจ้างว่าความ 300,000 บาท จากกองมรดกของผู้ตายสำหรับค่าไถ่ถอนจำนองจำเลยที่ 1 เป็นผู้ไถ่ถอนจำนองที่ดินตามพินัยกรรมเป็นเงิน 130,000 บาท โจทก์ในฐานะทายาทผู้รับพินัยกรรม จึงต้องรับผิดชอบในการไถ่ถอนจำนองที่ดินตามพินัยกรรม สำหรับค่าซ่อมบ้านพิพาทตามสภาพบ้านพิพาทปลูกสร้างมาเป็นเวลานาน เมื่อมีการซ่อมแซมใหญ่ค่าซ่อมแซมจำนวน 20,000 บาท เป็นจำนวนอันสมควร ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้โจทก์ต้องรับผิดค่าซ่อมแซมบ้านพิพาท 20,000 บาท นั้น ชอบแล้ว จำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัวเป็นทายาทผู้รับมรดกตามพินัยกรรมของผู้ตายผู้หนึ่งเท่านั้น ทรัพย์มรดกของผู้ตายอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 1 ดังนั้น จำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธิยึดหน่วงทรัพย์มรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 241 แต่อย่างใด โจทก์เป็นผู้รับพินัยกรรมที่ปรากฏตัวยังไม่ได้รับส่วนได้ตามพินัยกรรมโจทก์ย่อมเรียกร้องทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมได้ตั้งแต่ผู้ทำพินัยกรรมตายเป็นต้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1673 โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมบ้านพิพาท และส่งมอบค่าเช่าบ้านพิพาทแก่โจทก์ กับขอให้จำเลยที่ 1แบ่งเงินค่าทดแทนที่ดินพร้อมบ้านพิพาทให้แก่โจทก์โดยให้โจทก์รับเงินค่าทดแทนดังกล่าวด้วยตนเองแม้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพร้อมบ้านพิพาทแก่โจทก์ มิได้พิพากษาให้จำเลยที่ 1แบ่งเงินค่าทดแทนแก่โจทก์ เมื่อปรากฏว่าที่ดินพร้อมบ้านพิพาทได้ถูกเวนคืนไปแล้ว เป็นกรณีที่สภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้บังคับคดีโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมบ้านพิพาทให้แก่โจทก์ได้ โจทก์จึงขอให้บังคับโดยขอรับเงินค่าทดแทนที่ดินพร้อมบ้านพิพาทที่ศาลชั้นต้นอายัดไว้จากการทางพิเศษแห่งประเทศไทยได้ เพราะพฤติการณ์ซึ่งทำให้การโอนที่ดินพร้อมบ้านพิพาทเป็นอันพ้นวิสัยนั้นเป็นผลให้จำเลยที่ 1 ได้มาซึ่งเงินค่าทดแทน การจัดการมรดกนั้นเป็นประโยชน์ร่วมกันของกองมรดก โจทก์จึงต้องรับผิดชอบตามส่วนที่โจทก์ได้รับมรดก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า นางน้อย แสงประดิษฐ์ ได้ทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมือง ยกที่ดินโฉนดที่ 5677 พร้อมบ้านเลขที่ 972, 958 และ 956ซึ่งตั้งอยู่ในที่ดินโฉนดดังกล่าวให้จำเลยที่ 2 เด็กชายศักดิ์สิทธิ์ ผดุงชาติ และโจทก์เมื่อปี 2525 นางน้อยตายศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของนางน้อยต่อมาปี 2530 ทางราชการได้ออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อกำหนดเขตสร้างทางพิเศษระบบทางด่วนสายดินแดง – ท่าเรือและที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามพินัยกรรมอยู่ในเขตเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว โจทก์ไปให้ถ้อยคำต่อเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสอบสิทธิของโจทก์ตามพินัยกรรมและได้ทำเรื่องขอรับเงินค่าทดแทนในการเวนคืนเฉพาะส่วนของโจทก์ต่อการทางพิเศษแห่งประเทศไทย แต่เจ้าหน้าที่แจ้งให้โจทก์ทราบว่าที่ดินดังกล่าวมีชื่อจำเลยที่ 1 ถือกรรมสิทธิ์อยู่ ให้โจทก์ไปดำเนินคดีทางศาลนอกจากนี้จำเลยที่ 1 ยังนำบ้านเลขที่ 956 ไปให้บุคคลภายนอกเช่าตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2530 ตลอดมาในอัตราค่าเช่าเดือนละ2,000 บาท โดยไม่นำค่าเช่าส่งมอบให้แก่โจทก์ การกระทำของจำเลยที่ 1จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมบ้านเลขที่ 956 แก่โจทก์โดยใส่ชื่อโจทก์ในโฉนดเลขที่5677 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เฉพาะส่วนจำนวน 22 ตารางวา หากไม่โอนขอให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ให้จำเลยที่ 1 แบ่งเงินค่าทดแทนที่ดินพร้อมบ้านที่ถูกเวนคืนแก่โจทก์โดยให้โจทก์เป็นผู้รับเงินค่าทดแทนด้วยตนเอง ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบค่าเช่าบ้าน 40,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะส่งมอบแก่โจทก์ และค่าเช่าต่อไปอีกเดือนละ 2,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยที่ 1 จะโอนที่ดินพร้อมบ้านแก่โจทก์และจนกว่าจะแบ่งเงินค่าทดแทนแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 1 เป็นบุตรของนางน้อยกับนายสุพจน์ แสงประดิษฐ์ ส่วนโจทก์เป็นหลายของนางน้อย นางน้อยได้ทำพินัยกรรมตามฟ้องโจทก์ เมื่อนางน้อยตาย จำเลยที่ 1 กับนายสุพจน์เป็นผู้จัดการงานศพเสียค่าใช้จ่ายไป 30,000 บาทเศษ ต่อมา จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกทราบว่านางจำรัส กสิสิทธิ์ บุตรนางน้อยนำความเท็จมาร้องต่อศาลขอเป็นผู้จัดการมรดกของนางน้อย จำเลยที่ 1 ด้วยความยินยอมของโจทก์และทายาทจึงว่าจ้างทนายความดำเนินคดีรักษาผลประโยชน์อันเป็นมรดกของนางน้อยทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา รวม 3 คดี เสียค่าใช้จ่าย100,000 บาท ค่าจ้างทนายความ 200,000 บาท รวมเป็นเงิน300,000 บาท จำเลยที่ 1 ไถ่ถอนจำนองที่ดินและบ้านตามพินัยกรรมซึ่งนางน้อยได้จำนองไว้ก่อนทำพินัยกรรม เป็นต้นเงินและดอกเบี้ยรวม 130,000 บาท ได้ซ่อมแซมบ้านเลขที่ 956 เป็นเงิน 20,000 บาททายาทผู้รับมรดกตามพินัยกรรมตกลงให้บำเหน็จแก่จำเลยที่ 1 ในการจัดการมรดกเป็นเงิน 20,000 บาท จำเลยที่ 1 ส่งมอบค่าเช่าบ้านเลขที่ 956 ให้แก่โจทก์ตลอดมา จนกระทั่งเดือนกรกฎาคม 2530บ้านดังกล่าวไม่มีบุคคลใดมาเช่า จึงไม่มีค่าเช่าที่จะส่งมอบให้แก่โจทก์ บ้านดังกล่าวทรุดโทรมมากหากให้เช่าก็ไม่เกินเดือนละ 500 บาทการจัดการมรดกรายนี้ยังไม่เสร็จสิ้นจำเลยที่ 1 จึงยังไม่ต้องโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมบ้านตามพินัยกรรมให้แก่โจทก์จนกว่าโจทก์จะได้ชำระค่าใช้จ่ายแก่จำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้องและบังคับโจทก์ชำระเงินจำนวน 180,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 2 ให้การและแก้ไขคำให้การว่า ที่ดินโฉนดที่ 5677เป็นกรรมสิทธิ์ของนายสุพจน์สามีนางน้อยโดยนายสุพจน์ให้นางน้อยถือกรรมสิทธิ์แทน นายสุพจน์ได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินโฉนดดังกล่าวให้จำเลยที่ 2 แล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยที่ 2 หากศาลเห็นว่า ที่ดินโฉนดดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของนางน้อยและเป็นมรดกตกทอดแก่โจทก์ โจทก์ก็ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากจำเลยที่ 2 ยังมิได้ประพฤติผิดหน้าที่ผู้จัดการมรดกแต่อย่างใด เพราะยังอยู่ในระหว่างจัดการมรดกหักหนี้ที่จำเลยที่ 2จ่ายทดรองไปและบังคับให้โจทก์ใช้หนี้กองมรดก ซึ่งในการจัดการมรดกจำเลยที่ 2 ทดรองจ่ายค่าจัดการงานศพไป 30,000 บาท และทดรองจ่ายค่าทนายความและค่าใช้จ่ายเพื่อรักษาผลประโยชน์กองมรดกตามพินัยกรรม 300,000 บาท และทดรองจ่ายค่าไถ่ถอนที่ดินพร้อมบ้านตามพินัยกรรมไป 130,000 บาท และจำเลยที่ 2 ได้ซ่อมบ้านเลขที่ 956เป็นเงิน 20,000 บาทเศษ และจำเลยที่ 2 มีสิทธิได้ค่าบำเหน็จ 20,000บาท รวมเป็นเงินที่ต้องหักจากกองมรดกถึงวันฟ้องเป็นเงิน 569,562บาท ซึ่งโจทก์ต้องรับผิด 211,979 บาท เมื่อหักกับทรัพย์มรดกที่โจทก์ตีราคามาเป็นเงิน 466,000 บาท คงเหลือเงิน 254,021 บาทเท่านั้นบ้านเลขที่ 956 ไม่มีบุคคลใดเช่าตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2530 และหากนำออกให้เช่าค่าเช่าก็ไม่เกินเดือนละ 500 บาท โจทก์ไม่เคยทวงถามให้จำเลยที่ 2 โอนทรัพย์มรดกแก่โจทก์ และฟ้องโจทก์เกี่ยวกับคำขอบังคับเคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งจำเลยที่ 1 ว่า การจัดงานศพนางน้อยเสียค่าใช้จ่ายเพียง 6,000 บาท โดยโจทก์ออกเงินช่วยจำนวน 2,000 บาทและยังมีเงินช่วยจากผู้มาร่วมงานศพอีกเป็นจำนวนมาก ที่จำเลยที่ 1ดำเนินคดีแพ่งกับนางจำรัสนั้นโจทก์ไม่รู้เห็นด้วย ส่วนคดีอาญาที่จำเลยที่ 1 ฟ้องนางจำรัสกับพวกนั้น จำเลยที่ 1 ขอร้องให้โจทก์ไปเป็นพยานให้เท่านั้น โจทก์ไม่รู้เห็นยินยอมให้ดำเนินคดีแต่อย่างใด เป็นเรื่องจำเลยที่ 1 ทำในฐานะส่วนตัว ทั้งค่าจ้างทนายความและค่าใช้จ่ายก็ไม่เกิน 10,000 บาท โจทก์ได้ชำระเงินส่วนที่โจทก์ต้องรับผิดชอบให้จำเลยที่ 1 ไปไถ่ถอนจำนองก่อนมีการไถ่ถอนแล้ว บ้านเลขที่ 956 ก็มิได้มีการซ่อมแซมดังจำเลยที่ 1อ้าง ทั้งทายาทตามพินัยกรรมก็ไม่เคยลงมติให้ค่าบำเหน็จแก่จำเลยที่ 1จำเลยไม่เคยเรียกร้องเงินตามฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ไปทำการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมบ้านเลขที่ 956 ซึ่งตั้งอยู่ในที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์โดยใส่ชื่อโจทก์ในโฉนดเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมเฉพาะส่วนจำนวนเนื้อที่ 22 ตารางวา ในโฉนดที่ 5677เลขที่ 281 ตำบลสามเสนในฝั่งเหนือ อำเภอบางซื่อ จังหวัดพระนคร (กรุงเทพมหานคร) กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบเงินค่าเช่าเดือนละ 2,000 บาท นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 28 กุมภาพันธ์2532) ไปจนกว่าจำเลยที่ 1 จะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมบ้านดังกล่าวให้แก่โจทก์หากไม่ไปทำการจดทะเบียนโอนขอให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาแต่ก่อนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมบ้านดังกล่าวให้แก่โจทก์ ให้โจทก์ชำระเงิน 131,258 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 1 ก่อน คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกเสียค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์และให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ให้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์เป็นพับนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าจำเลยที่ 1 เป็นบุตรของนายสุพจน์ แสงประดิษฐ์ และนางน้อยแสงประดิษฐ์ ผู้ตาย ส่วนโจทก์เป็นหลานผู้ตาย ก่อนนางน้อยถึงแก่ความตาย ได้ทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองยกที่ดินโฉนดที่ 5677 ตำบลสามเสนในฝั่งเหนือ อำเภอบางซื่อ จังหวัดพระนคร(กรุงเทพมหานคร) เนื้อที่ 89 ตารางวา พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ให้แก่ผู้รับพินัยกรรม 3 คน ดังนี้ ยกบ้านเลขที่ 972 พร้อมที่ดินที่ปลูกบ้านดังกล่าวเนื้อที่ 45 ตารางวา ให้แก่จำเลยที่ 2 ยกบ้านเลขที่ 958 พร้อมที่ดินที่ปลูกบ้านดังกล่าวเนื้อที่ 22 ตารางวาให้แก่เด็กชายศักดิ์สิทธิ์ ผดุงชาติ และยกบ้านเลขที่ 956 พร้อมที่ดินที่ปลูกบ้านดังกล่าว เนื้อที่ 22 ตารางวา คือ ที่ดินพร้อมบ้านพิพาทให้แก่โจทก์ตามพินัยกรรมเอกสารหมาย จ.1 เมื่อวันที่ 28กันยายน 2525 นางน้อยถึงแก่ความตายและจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามคำสั่งศาลชั้นต้น คดีมีปัญหามาสู่ศาลฎีกาตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิได้รับมรดกและค่าเช่าทรัพย์มรดกตามฟ้องหรือไม่เพียงใด และจำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัวมีสิทธิยึดหน่วงทรัพย์มรดกหรือไม่อย่างไร
ปัญหาว่าโจทก์มีสิทธิได้รับมรดกและค่าเช่าบ้านทรัพย์มรดกตามฟ้องหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า โจทก์ฟ้องเรียกที่ดินพร้อมบ้านพิพาทอันเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดที่ 5677 ซึ่งผู้ตายทำพินัยกรรมยกให้แก่โจทก์ไว้ จำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้ว่า ที่ดินโฉนดที่ 5677เป็นกรรมสิทธิ์ของนายสุพจน์สามีผู้ตาย โดยนายสุพจน์ให้นางน้อยถือกรรมสิทธิ์แทน นายสุพจน์ได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินโฉนดดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 แล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยที่ 2 การที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า โจทก์มีสิทธิได้รับมรดกและค่าเช่าบ้านทรัพย์มรดกตามฟ้องหรือไม่เพียงใดย่อมหมายรวมถึงว่าที่ดินพร้อมบ้านพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายหรือไม่ด้วยเพราะหากว่าที่ดินพร้อมบ้านพิพาทมิได้เป็นของผู้ตายก็ย่อมไม่เป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายอยู่ในตัว จึงเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น แต่ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าที่ดินพร้อมบ้านพิพาทเป็นสินสมรสซึ่งตกได้แก่นายสุพจน์ผู้ตายไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมบ้านพิพาท ผู้ตายจึงทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินซึ่งมิใช่ของตนให้แก่ผู้ใดหาได้ไม่พินัยกรรมเอกสารหมายจ.1 ซึ่งผู้ตายทำจึงไม่มีผลใช้บังคับนั้น นายสุพจน์เบิกความไว้ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 11692/2526 คดีหมายเลขแดงที่ 459/2528ของศาลอาญา สรุปได้ว่า ก่อนที่ผู้ตายจะไปทำพินัยกรรมได้ปรึกษาหารือกับนายสุพจน์ที่บ้านเกี่ยวกับการจัดแบ่งทรัพย์สินแก่ทายาทผู้ตายไปทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองนายสุพจน์จะไปด้วยหรือไม่จำไม่ได้ เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตาย นายสุพจน์ได้บอกให้จำเลยที่ 2ทราบว่า มีพินัยกรรมที่ผู้ตายทำไว้ ต่อมานายสุพจน์ จำเลยที่ 2โจทก์และนางกฤตนาฎไปฟังพินัยกรรม กรณีเป็นที่เห็นได้ว่าผู้ตายไปทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองยกที่ดินโฉนดที่ 5677 พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้รับพินัยกรรมทั้งสามคนโดยนายสุพจน์รู้เห็นยินยอมด้วย เมื่อได้มีการอ่านพินัยกรรม นายสุพจน์ก็มิได้คัดค้านหรือเรียกร้องที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างคืนจากผู้รับพินัยกรรมทั้งสาม ทั้งนายสุพจน์ยังได้สละมรดกของผู้ตายตามหนังสือการสละมรดกเอกสารหมาย จ.6 อีก จากพยานหลักฐานและพฤติการณ์แห่งคดีดังกล่าวมาแสดงว่านายสุพจน์มีเจตนาสละกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดที่ 5677 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง (ซึ่งรวมทั้งที่ดินพร้อมบ้านพิพาท)ให้แก่ผู้ตายตั้งแต่ก่อนที่ผู้ตายจะทำพินัยกรรมเอกสารหมาย จ.1แล้ว และเนื่องจากโฉนดที่ดินมีชื่อผู้ตายแต่ผู้เดียวเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ กรณีจึงไม่จำต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์กันอีกผู้ตายจึงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมบ้านพิพาทและทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินของตนให้แก่โจทก์ได้ โจทก์มีสิทธิได้รับมรดกและค่าเช่าบ้านทรัพย์มรดกตามฟ้อง
ปัญหาว่า จำเลยที่ 1 ได้ออกค่าใช้จ่ายในการจัดการมรดกตามฟ้องแย้งหรือไม่ เพียงใด ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1เป็นผู้จัดการทำศพผู้ตาย ส่วนค่าใช้จ่ายในการทำศพผู้ตายเป็นเท่าใดนั้น เห็นว่า แม้จำเลยที่ 1 จะอ้างว่าเสียค่าใช้จ่ายไป 58,700 บาทแต่จำเลยที่ 1 ให้การและฟ้องแย้งว่าเสียค่าใช้จ่ายไปเป็นเงินประมาณ 30,000 บาท ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้ค่าใช้จ่ายในการทำศพผู้ตาย 30,000 บาทนั้น เป็นจำนวนตามสมควรแล้ว สำหรับค่าจ้างทนายความและค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี จำเลยที่ 1 อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า ได้ว่าจ้างทนายความว่าความทั้งสามคดีเป็นเงิน300,000 บาท ตามสัญญาจ้างว่าความเอกสารหมาย ล.1 เห็นว่าการจ้างทนายความและค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีทั้งสามคดีเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับการจัดการมรดกของผู้ตาย เป็นค่าใช้จ่ายเพื่อประโยชน์อันร่วมกันของกองมรดก ซึ่งจำเลยที่ 1 กระทำแทนทายาทอื่นจึงต้องหักค่าจ้างว่าความ 300,000 บาทนั้น จากกองมรดกของผู้ตายสำหรับไถ่ถอนจำนอง พยานหลักฐานโจทก์เชื่อได้ว่า จำเลยที่ 1ได้ไถ่ถอนจำนองที่ดินตามพินัยกรรมเอกสารหมาย จ.1 เป็นเงิน130,000 บาท ส่วนที่โจทก์อ้างว่าโจทก์ได้ใช้เงินส่วนของตนที่ต้องรับผิดชอบให้แก่จำเลยที่ 1 ไปก่อนการไถ่ถอนจำนองนั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ยังมิได้ใช้เงินส่วนที่โจทก์ต้องรับผิดชอบในการไถ่ถอนที่ดินตามพินัยกรรมเอกสารหมาย จ.1 สำหรับค่าซ่อมแซมบ้านพิพาทเห็นว่าตามสภาพบ้านพิพาทปลูกสร้างมาเป็นเวลานาน เมื่อมีการซ่อมแซมใหญ่ ค่าซ่อมแซมจำนวน 20,000 บาท เป็นจำนวนอันสมควรที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้โจทก์ต้องรับผิดค่าซ่อมแซมบ้านพิพาท20,000 บาท นั้นชอบแล้ว
ปัญหาว่า จำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัวมีสิทธิยึดหน่วงทรัพย์มรดกหรือไม่อย่างไรนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัวเป็นทายาทผู้รับมรดกตามพินัยกรรมของผู้ตายผู้หนึ่งเท่านั้น ทรัพย์มรดกของผู้ตายอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธิยึดหน่วงทรัพย์มรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 241แต่อย่างใด โจทก์เป็นผู้รับพินัยกรรมที่ปรากฏตัวยังไม่ได้รับส่วนได้ตามพินัยกรรม โจทก์ย่อมเรียกร้องทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมได้ตั้งแต่ผู้ทำพินัยกรรมตายเป็นต้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1673
ที่โจทก์ฎีกาว่า การทางพิเศษแห่งประเทศไทยแก้ไขราคาให้ผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมบ้านพิพาทได้รับค่าทดแทนเพิ่มเติมอีกเป็นเงิน 211,812.25 บาท จึงขอให้บังคับตามฟ้องโดยให้โจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินพร้อมบ้านพิพาทเป็นเงินรวม 655,091.12 บาท(ที่ถูก 656,393.25 บาท) นั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมบ้านพิพาท และส่งมอบค่าเช่าบ้านพิพาทแก่โจทก์ กับขอให้จำเลยที่ 1 แบ่งเงินค่าทดแทนที่ดินพร้อมบ้านพิพาทให้แก่โจทก์โดยให้โจทก์รับเงินค่าทดแทนดังกล่าวด้วยตนเอง แม้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพร้อมบ้านพิพาทแก่โจทก์มิได้พิพากษาให้จำเลยที่ 1 แบ่งเงินค่าทดแทนแก่โจทก์ ปรากฏว่าที่ดินพิพาทได้ถูกการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเวนคืนเพื่อสร้างทางพิเศษระบบทางด่วน โจทก์จึงขอให้บังคับจำเลยที่ 1 แบ่งเงินค่าทดแทนที่ดินพร้อมบ้านที่ศาลชั้นต้นอายัดไว้ และการทางพิเศษแห่งประเทศไทยส่งเงินมาแล้ว 444,581 บาท (สำหรับเงินอีก 40,000 บาท เป็นค่าเช่าบ้าน จึงไม่นำมารวมคำนวณด้วยในประเด็นนี้) กับที่ศาลชั้นต้นอายัดไว้ แต่การทางพิเศษแห่งประเทศไทยยังไม่ได้ส่งมาอีก211,812.25 บาท รวมเป็นเงิน 655,091.12 บาท (ที่ถูก 656,393.25 บาท)เมื่อปรากฏว่าที่ดินพร้อมบ้านพิพาทได้ถูกเวนคืนไปแล้ว เป็นกรณีที่สภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้บังคับคดีโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมบ้านพิพาทให้แก่โจทก์ได้ โจทก์จึงขอให้บังคับโดยขอรับเงินค่าทดแทนที่ดินพร้อมบ้านพิพาทที่ศาลชั้นต้นอายัดไว้จากการทางพิเศษแห่งประเทศไทยได้ เพราะพฤติการณ์ซึ่งทำให้การโอนที่ดินพร้อมบ้านพิพาทเป็นอันพ้นวิสัยนั้นเป็นผลให้จำเลยที่ 1 ได้มาซึ่งเงินค่าทดแทน
อนึ่ง การจัดการมรดกนั้นเป็นประโยชน์ร่วมกันของกองมรดกโจทก์จึงต้องรับผิดชอบตามส่วน (เนื่องจากโจทก์ได้รับมรดกที่ดิน22 ตารางวา จากที่ดินทั้งแปลง 89 ตารางวา คิดเป็น 1 ใน 4 ส่วน)
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 แบ่งเงินค่าทดแทนที่ดินพร้อมบ้านพิพาท คือ ที่ดินโฉนดที่ 5677 ตำบลสามเสนในฝั่งเหนืออำเภอบางซื่อ จังหวัดพระนคร (กรุงเทพมหานคร) เนื้อที่ 22ตารางวา พร้อมบ้านเลขที่ 956 ซึ่งตั้งอยู่ในที่ดินโฉนดดังกล่าวจำนวน 655,091.12 บาท แก่โจทก์ ทั้งนี้ให้โจทก์เป็นผู้รับเงินค่าทดแทนดังกล่าวโดยให้หักหนี้ที่โจทก์ต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 1จำนวน 131,258 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 1 ก่อน กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบค่าเช่าบ้านพิพาทเดือนละ 2,000 บาทนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2532) ไปจนถึงวันที่ที่ดินพร้อมบ้านพิพาทถูกเวนคืนและมีการโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (วันที่ 30 สิงหาคม 2532) แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ