แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์เป็นวัดในพระพุทธศาสนายินยอมให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการเทคอนกรีตในที่ดินพิพาทเป็นผืนเดียวกับถนนสายเถินบุรี เพื่อใช้เป็นที่จอดรถ เป็นวงเวียนให้รถอ้อม และให้สร้างป้องตำรวจในที่ดินพิพาท แสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์ที่จะสละสิทธิอุทิศที่ดินพิพาทให้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินโดยปริยาย กรณีดังกล่าวไม่เป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฯ ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นประธานกรรมการจำเลยที่ 1 และเป็นนายอำเภอเถิน โจทก์เป็นเจ้าของและผู้ครอบครองที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดและที่ดินซึ่งเป็นที่ธรณีสงฆ์ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ 2767 และ 2780 และยังเป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ธรณีสงฆ์ ซึ่งตกสำรวจออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์อีก 1 แปลง เนื้อที่ 1 งาน 38 ตารางวา เนื่องจากเจ้าพนักงานที่ดินเดินสำรวจรังวัดจากหมุดทางทิศตะวันตกไปทางทิศตะวันออกเพียงถึงแนวกำแพงวัด ไม่ได้รังวัดไปถึงปากบ่อน้ำ ซึ่งเป็นแนวเขตที่โจทก์และกำนัน ผู้ใหญ่บ้านนำชี้ ทำให้ความยาวขาดหายไป 18.172 เมตรโจทก์จึงยื่นคำร้องขอให้ที่ดินอำเภอเถิน ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์สำหรับที่ดินซึ่งตกสำรวจดังกล่าวแต่ทางที่ดินอำเภอเพิกเฉย ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดขอให้รังวัดออกโฉนดที่ดินที่ตกค้างดังกล่าว แต่นายอำเภอเถินในฐานะผู้ปกครองท้องที่่และในฐานะประธานกรรมการจำเลยที่ 1 ได้คัดค้านการรังวัดออกโฉนดดังกล่าว โดยอ้างว่าเป็นการรุกล้ำแนวเขตถนนเถินบุรี จึงทำให้เจ้าพนักงานที่ดินไม่ออกโฉนดทีดินให้โจทก์ขอให้พิพากษาว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ ยกคำค้ดค้านของจำเลยที่มีต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดลำปาง และห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท
จำเลยทั้งสองให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน โดยเป็นทางสาธารณะถนนสายเถินบุรีและเป็นทางหลวงสุขาภิบาล ตั้งอยู่ในเขตสุขาภิบาลอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน โดยโจทก์ได้อุทิศให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกันมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้วจำเลยทั้งสองซึ่งมีหน้าที่ดูแลรักษาสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันในเขตสุขาภิบาล จึงได้คัดค้านการขอออกโฉนดที่ดินพิพาทของโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า ที่ดินพิพาทมีบ่อน้ำ 2 บ่อบ่อหนึ่งเป็นวงเวียนให้รถขับอ้อม อีกบ่อหนึ่งอยู่ติดกำแพงวัดราษฎรได้ช่วยกันสร้างป้อมตำรวจคร่อมบ่อน้ำดังกล่าวไว้ โดยเรี่ยไรเงินจากธนาคารและร้านค้า ต่อมาราวปี 2526 จำเลยที่ 1ได้ให้งบประมาณมาเทคอนกรีตในที่ดินพิพาทให้เป็นผืนเดียวกันกับถนนสายเถินบุรีเพื่อใช้เป็นที่สัญจรและจอดรถ เห็นว่า การเทคอนกรีตในที่ดินพิพาทให้เป็นผืนเดียวกันกับถนนสายเถินบุรีมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้ดำเนินการ มีการใช้ที่ดินพิพาทเป็นที่จอดรถใช้บ่อน้ำเดิมเป็นวงเวียนให้รถอ้อมรวมทั้งสร้างป้อมตำรวจคร่อมบ่อน้ำไว้ในที่ดินพิพาทด้วย เป็นลักษณะการที่ยอมให้ที่ดินพิพาทเป็นที่สำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1304(2) แสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์ที่จะสละสิทธิอุทิศที่ดินพิพาทให้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินโดยปริยาย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์อุทิศที่ดินพิพาทให้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินแล้ว
ที่โจทก์ฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า การอุทิศที่ดินพิพาทให้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินขัดตอพระราชบัญญัติคณะสงฆ์นั้น เห็นว่าการอุทิศที่ดินพิพาทให้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเช่นนี้มีได้ไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 มาตรา 41 หรือพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 34 ที่ใช้อยู่ในขณะนั้น(ก่อนมีการแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2)พ.ศ. 2535 มาตรา 14) ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน