แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
คดีจะมีประเด็นข้อพิพาทว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่จะต้องเกิดจากคำให้การของจำเลยว่าจำเลยให้การว่าฟ้องโจทก์เป็นฟ้องเคลือบคลุม ดังนั้นศาลย่อมมีอำนาจที่จะนำคำให้การของจำเลยมาวินิจฉัยประกอบคำฟ้องของโจทก์ได้ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ ผู้ครอบครองจะนับระยะเวลาที่ครอบครองที่พิพาทก่อนที่พิพาทออกโฉนดรวมเข้าด้วยไม่ได้ เพราะการครอบครองปรปักษ์ใช้ได้แต่เฉพาะที่ดินมีกรรมสิทธิ์เท่านั้น ที่ดินที่มีโฉนดจะนำเรื่องการฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 มาปรับใช้ไม่ได้เพราะเป็นคนละเรื่องกัน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 426 ตำบลตูมใต้ อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี เนื้อที่12 ไร่ 2 งาน 96 ตารางวา จำเลยปลูกบ้านในที่ดินของโจทก์โดยไม่ได้รับอนุญาต เนื้อที่ 169.59 ตารางวา โจทก์แจ้งให้จำเลยรื้อถอนขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินหรือทำสัญญากับโจทก์ แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตาม โจทก์จึงมอบให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไป จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนบ้านและสิ่งปลูกสร้างของจำเลยออกไปให้พ้นจากเขตที่ดินของโจทก์ห้ามเกี่ยวข้องต่อไป กับให้จำเลยและบริวารออกไปให้พ้นจากที่ดินของโจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยกับพวกครอบครองทำประโยชน์ในที่พิพาทโดยสงบ เปิดเผยและด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตั้งแต่ พ.ศ. 2490จึงได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมไม่บรรยายให้แจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา กล่าวคือไม่บรรยายว่าจำเลยเข้าอยู่ในที่พิพาทตั้งแต่เมื่อใด ครอบครองเนื้อที่กว้าง ยาวเท่าใด แผนที่พิพาทเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 4 ทำขึ้นเพียงคร่าว ๆไม่ชัดเจนแน่นอน จำเลยไม่สามารถให้การโดยละเอียด โจทก์ไม่ได้ฟ้องคดีเพื่อปลดเปลื้องการรบกวนภายใน 1 ปี นับแต่ถูกรบกวนคดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนบ้านและสิ่งปลูกสร้างของจำเลยออกจากที่ดินของโจทก์ และห้ามเกี่ยวข้อง ให้จำเลยและบริวารออกจากที่ดินของโจทก์ จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยข้อแรกมีว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่า แม้ฟ้องโจทก์จะมิได้บรรยายว่าจำเลยเข้าอยู่อาศัยในที่ดินพิพาทตั้งแต่เมื่อใด จำเลยครอบครองที่พิพาทเป็นเนื้อที่กว้างยาวเท่าใด แต่จำเลยก็ทราบและเข้าใจฟ้องโจทก์ โดยยื่นคำให้การต่อสู้คดีได้ถูกต้อง นอกจากนี้โจทก์ได้ส่งแผนที่พิพาทเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 4 มาด้วย ถือได้ว่าโจทก์ได้บรรยายฟ้องโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาแล้ว ส่วนรายละเอียดต่าง ๆนั้น เป็นเรื่องที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม ที่จำเลยฎีกาว่า การวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่นั้น ต้องวินิจฉัยแต่ต้นคือตอนยื่นคำฟ้องและศาลรับคำฟ้องแล้วไม่ใช่ให้โจทก์นำสืบในชั้นพิจารณามารองรับ และศาลจะอ้างคำให้การต่อสู้คดีของจำเลยมาสนับสนุนฟ้องของโจทก์ให้สมบูรณ์ไม่ได้นั้นศาลฎีกาเห็นว่า คดีจะมีประเด็นข้อพิพาทว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ จะต้องเกิดจากคำให้การของจำเลยว่าจำเลยจะให้การว่าฟ้องโจทก์เป็นฟ้องเคลือบคลุม ดังนั้นศาลย่อมมีอำนาจที่จะนำคำให้การของจำเลยมาวินิจฉัยประกอบกับคำฟ้องของโจทก์ได้ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ ส่วนในข้อที่ว่าโจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้นั้น หมายถึงรายละเอียดปลีกย่อย ไม่ใช่สภาพแห่งข้อหา
ปัญหาต่อไปมีว่า จำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตามกฎหมายแล้วหรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 426 ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382บัญญัติว่าบุคคลใดครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปีบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์ เมื่อปรากฏว่า นับแต่วันออกโฉนดเมื่อวันที่5 กันยายน 2522 ถึงวันฟ้องคือวันที่ 3 พฤษภาคม 2532 ยังไม่ถึง10 ปี แม้ว่าจำเลยจะครอบครองที่พิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของก็ตาม จำเลยยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวข้างต้น จำเลยจะนับระยะเวลาที่ครอบครองก่อนที่พิพาทออกโฉนดรวมเข้าด้วยหาได้ไม่ เพราะการครอบครองปรปักษ์ใช้ได้แต่เฉพาะที่ดินมีกรรมสิทธิ์เท่านั้น จำเลยจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ที่พิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์
ปัญหาสุดท้ายมีว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่าคดีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ได้ใช้สิทธิติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนเป็นคดีไม่มีอายุความฟ้องร้อง แม้จะเป็นเวลานานสักปานใด และทราบเรื่องเมื่อใด โจทก์ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ย่อมมีสิทธิติดตามทรัพย์สินนั้นได้เสมอ เว้นแต่กรณีจะต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382, 1383 โจทก์จึงจะหมดสิทธิติดตามเอาคืน ที่พิพาทคดีนี้เป็นที่ดินที่มีโฉนดจะนำเรื่องการฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 มาปรับใช้แก่คดีนี้หาได้ไม่ โดยเป็นคนละเรื่องกัน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นชอบแล้ว”
พิพากษายืน