คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5128/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลแรงงานได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ 2 ข้อ คือ ข้อ 1. โจทก์ฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยและจำเลยได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้วหรือไม่ ข้อ 2. โจทก์มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยหรือไม่โดยประเด็นข้อพิพาทที่ 1. ศาลแรงงานวินิจฉัยตอนต้นว่า โจทก์ไม่ได้ฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยซึ่งจำเลยได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว แต่คำวินิจฉัยในตอนต่อมาที่ว่า การขัดคำสั่งของโจทก์ยังฟังไม่ได้ว่าเป็นการกระทำโดยจงใจหรือละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งของจำเลยเป็นอาจิณนั้น เป็นการฟังว่าโจทก์ฝ่าฝืนหรือขัดคำสั่งของจำเลยคำวินิจฉัยของศาลแรงงานในประเด็นข้อพิพาทข้อ 1 ดังกล่าวเป็นการฟังข้อเท็จจริงเป็นสองอย่างขัดแย้งกัน ศาลฎีกาจึงไม่มีข้อเท็จจริงอันเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลแรงงานที่จะนำมาวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อกฎหมายของจำเลยเป็นกรณีที่ข้อเท็จจริงซึ่งศาลแรงงานฟังมาไม่พอแก่การวินิจฉัยข้อกฎหมาย ศาลฎีกาไม่อาจวินิจฉัยชี้ขาดข้อเท็จจริงเสียเองได้จึงต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวเสียใหม่ให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 243 พระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31,56

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม2535 ทำหน้าที่ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายบัญชี ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 17,000 บาทเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2537 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิด และมิได้บอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมายแต่จำเลยไม่ยอมจ่าย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย 51,000 บาทสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 17,000 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า โจทก์จงใจขัดคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลย ละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งเช่นว่านั้นเป็นอาจิณกล่าวคือโจทก์ขัดคำสั่งของจำเลยที่สั่งให้ปฏิบัติในเรื่องตัดตัวเลขสินค้า เรื่องการทำรายงานเช็คค้างจ้างและส่งมอบเช็คที่อนุมัติเรียบร้อยแล้ว เรื่องการทำรายชื่อลูกค้าที่ค้างชำระค่างวด เรื่องการทำเช็คด้วยเครื่องพิมพ์ดีด และเรื่องการจัดการบิลค่าโทรศัพท์จำเลยได้ตักเตือนโจทก์เป็นหนังสือแล้วแต่โจทก์ก็ยังขัดคำสั่งละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งของจำเลยตลอดมา จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยชำระเงินสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 17,000 บาท และค่าชดเชยจำนวน 51,000 บาท แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ 2 ข้อ คือ ข้อ 1 โจทก์ฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยและจำเลยได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้วหรือไม่ข้อ 2 โจทก์มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยหรือไม่ โดยประเด็นข้อพิพาทข้อ 1 ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยในตอนต้นว่า โจทก์ไม่ได้ฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยซึ่งจำเลยได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว แต่คำวินิจฉัยในตอนต่อมาที่ว่าการขัดต่อคำสั่งของโจทก์ยังฟังไม่ได้ว่าเป็นการกระทำโดยจงใจหรือละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งของจำเลยเป็นอาจิณนั้น เป็นการฟังว่าโจทก์ฝ่าฝืนหรือขัดคำสั่งของจำเลย คำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางในประเด็นข้อพิพาทข้อ 1 ดังกล่าวเป็นการฟังข้อเท็จจริงเป็นสองอย่างขัดแย้งกันศาลฎีกาจึงไม่มีข้อเท็จจริง อันเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางที่จะนำมาวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อกฎหมายของจำเลยเป็นกรณีที่ข้อเท็จจริงซึ่งศาลแรงงานกลางฟังมาไม่พอแก่การวินิจฉัยข้อกฎหมายโดยที่ศาลฎีกาไม่อาจวินิจฉัยชี้ขาดข้อเท็จจริงเสียเองได้จึงชอบที่จะย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นข้อพิพาทข้อ 1 เสียใหม่ให้ถูกต้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31, 56
พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share