คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3148/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยไม่พอใจราคาสินค้าที่โจทก์สำแดงจึงให้โจทก์ชำระอากรตามสำแดงและให้วางประกันเงินค่าอากรอีกส่วนหนึ่งได้มีการส่งมอบสินค้าให้โจทก์รับไปแล้ว ต่อมาพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้ประเมินให้โจทก์ชำระอากรขาเข้าเพิ่ม โจทก์ได้ชำระอากรเพิ่มตามที่ได้รับแบบแจ้งการประเมิน การชำระเงินค่าอากรเพิ่มเป็นเป็นการชำระหลังจากได้รับมอบสินค้าแล้ว จึงไม่ต้องด้วยพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 10 วรรคห้า แม้โจทก์มิได้สงวนสิทธิในการฟ้องร้องหรือเรียกร้องเงินจำนวนนี้คืนและมิได้บอกกล่าวให้จำเลยคืนเงินตามฟ้องก่อนนั้น ก็มิได้ตัดสิทธิในการฟ้องคดี เมื่อจำเลยไม่มีสิทธิอย่างใดในเงินอากรขาเข้าที่เรียกเก็บตามฟ้องนั้น จำเลยย่อมมีหน้าที่จะต้องคืนเงินจำนวนเท่าที่โจทก์ชำระไปให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอีกร้อยละ 0.625 ต่อเดือนของจำนวนที่ต้องคืนโดยไม่คิดทบต้น นับแต่วันที่ได้ชำระค่าอากรหรือวางประกันค่าอากรครั้งสุดท้ายตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469มาตรา 112 จัตวา วรรคท้าย ซึ่งคดีนี้โจทก์ขอเรียกดอกเบี้ยมาในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของจำนวนเงินที่เจ้าพนักงานของจำเลยเรียกไว้เกินจำนวนอันจะพึงต้องเสียนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จเท่านั้น โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง การประเมินภาษีอากรขาเข้าจะชอบหรือไม่ต้องพิจารณาว่าราคาอันแท้จริงในท้องตลาดของราคาสินค้าเป็นจำนวนเท่าใด เมื่อข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบฟังได้ว่าโจทก์ได้สำแดงราคาสินค้าพิพาทเท่าที่โจทก์ซื้ออันอนุมานได้ว่าเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด ที่จำเลยอ้างว่าต่ำกว่าราคาประเมินที่จำเลยกำหนดหลักเกณฑ์ไว้ พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยจึงประเมินภาษีอากรขาเข้าตามคำสั่งทั่วไปกรมศุลกากรที่ 47/2531 ข้อ 1.8 ที่ใช้ราคานำเข้าสูงสุดก่อนรายที่พิจารณาไม่เกิน 6 เดือนนั้น จำเลยไม่ได้นำสืบให้ประจักษ์ว่าสินค้าพิพาทมีราคาอันแท้จริงในท้องตลาดเป็นจำนวนเท่าใด หลักฐานที่ว่ามีผู้นำเข้ารายอื่นในช่วง 6 เดือนดังกล่าวไม่มีในเอกสารที่ส่งจึงเป็นการไม่แน่นอนว่าจะเป็นสินค้าชนิดและประเภทเดียวกับสินค้าพิพาทหรือไม่ ยังฟังไม่ได้ว่าราคาที่เจ้าพนักงานของจำเลยประเมินเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด การประเมินราคาสินค้าพิพาทและประเมินภาษีอากรขาเข้าของจำเลยจึงไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2535 โจทก์นำสินค้าเหล็กแผ่นม้วนรีดร้อน 2 ชนิดเข้ามาในราชการอาณาจักรสินค้าชนิดแรกราคาเมตริกตันละ 260 เหรียญสหรัฐ สินค้าชนิดที่สองคุณภาพชั้นสองรวมหลายขนาดหนา 1.5 มิลลิเมตร ถึง 12.7 มิลลิเมตร กว้างจาก 600ถึง 1,575 มิลลิเมตร รวม 146 ม้วนน้ำหนักรวม 1,584.34 เมตริกตัน ราคาเมตริกตันละ 250 เหรียญสหรัฐซี.ไอ.เอพ กรุงเทพฯ รวมดอกเบี้ยที่ชำระเงินใน 180 วัน นับจากวันบรรทุกของลงเรือ โจทก์ยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการค้า2 ฉบับตามชนิดของสินค้า สินค้าชนิดแรกสำแดงราคาสินค้าเป็นเงิน9,577,322.93 บาท อากรขาเข้าเป็นเงิน 766,186 บาทส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มนั้นพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้ให้โจทก์เพิ่มราคาสินค้าเป็นเมตริกตันละ 299.65 เหรียญสหรัฐ เป็นรายรับทำให้โจทก์ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 890,925 บาท เกินไปจากที่ควรชำระ 166,880 บาท จำเลยได้ให้โจทก์วางประกันในส่วนของค่าอากรขาเข้าที่จะต้องเพิ่มไว้ก่อนในวงเงิน 220,000 บาทโจทก์ชำระภาษีอากร และใช้หนังสือสัญญาของธนาคารศรีนคร จำกัดวางประกันไว้ต่อจำเลยแล้ว สินค้าชนิดที่สองโจทก์สำแดงราคาซี.ไอ.เอฟ. กรุงเทพฯ เป็นเงิน 9,408,001.06 บาท อากรขาเข้าเป็นเงิน 752,640 บาท ภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 ของรายรับคือราคาบวกอากรขาเข้าจากจำนวนที่กล่าวเป็นเงิน 711,245 บาทแต่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยให้โจทก์เพิ่มราคาสินค้าเป็นเมตริกตันละ 285,375 เหรียญสหรัฐ จึงทำให้โจทก์ต้องสำแดงภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น 866,832 บาท ซึ่งสูงเกินไปจากที่ควรจะเป็น155,587 บาท จำเลยได้ให้โจทก์วางประกันในส่วนอากรขาเข้าไว้ก่อนในวงเงิน 198,000 บาท โจทก์ชำระเงินอากรขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มกับได้ใช้หนังสือสัญญาของธนาคารศรีนคร จำกัด วางประกันไว้ต่อจำเลยแล้ว ต่อมาเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2535 พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้ทำการประเมินราคาสินค้าโจทก์เพิ่ม โจทก์ได้ชำระเงินอากรขาเข้าเพิ่มแก่จำเลยแล้ว การซื้อขาย ส่งมอบสินค้าและชำระราคากระทำโดยปกติตามระเบียบสากล มีเอกสารและตราสารเป็นที่เชื่อถือและยอมรับกันโดยทั่วไป ราคาสินค้าที่โจทก์ซื้อมาอันเป็นราคาแท้จริงในท้องตลาดที่ซื้อขายกัน การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยให้เพิ่มราคาสินค้า และการที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยประเมินราคาสินค้าโจทก์เพิ่มสูงขึ้นเป็นเมตริกตันละ 299.65 เหรียญสหรัฐ และเมตริกตันละ 285,375 เหรียญสหรัฐ แล้วคำนวณเรียกเก็บค่าอากรขาเข้าเพิ่มตามเป็นการไม่ชอบ โจทก์ไม่เห็นด้วยกับการประเมินราคาสินค้าเพิ่มของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลย แต่โจทก์ต้องเสียภาษีอากรเพิ่มตามระเบียบ ขอให้มีคำพิพากษาให้จำเลยคืนเงินอากรขาเข้าจำนวน251,875.52 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้ตรวจพลว่าโจทก์สำแดงราคาสินค้าในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าทั้งสองฉบับตามฟ้องไว้ต่ำกว่าราคาอันแท้จริงในท้องตลาดที่จำเลยได้ใช้เทียบเคียงเพื่อเป็นเกณฑ์ในการประเมินเรียกเก็บภาษีอากรแก่ผู้นำเข้า ดังนั้นการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยจึงชอบแล้ว เมื่อจำเลยได้แจ้งการประเมินค่าภาษีอากรให้โจทก์ทราบโจทก์นำเงินตามจำนวนที่จำเลยแจ้งมาชำระจนครบถ้วน โดยโจทก์มิได้โต้แย้งหรือขอสงวนสิทธิในการที่จะฟ้องหรือเรียกร้องขอคืนเงินจำนวนนี้แต่ประการใด ทั้งก่อนที่โจทก์จะฟ้องคดีต่อศาล โจทก์ก็หาได้เคยทวงถามให้จำเลยคืนเงินตามจำนวนที่โจทก์ฟ้องแต่ประการใดไม่ข้อโต้แย้งสิทธิในเรื่องที่โจทก์จะได้รับเงินคืนจากจำเลยหรือไม่จึงยังไม่เกิดขึ้น โจทก์จึงยังไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องจำเลย
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินเพิ่มเฉพาะอากรขาเข้าตามสำเนาแบบแจ้งการประเมินอากรขาเข้าเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 5 และ 7 ให้จำเลยคืนเงินอากรขาเข้าจำนวน 251,875.52 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า กรณีของโจทก์เป็นเรื่องพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยไม่พอใจราคาสินค้าที่โจทก์สำแดงจึงให้โจทก์ชำระอากรตามสำแดงและให้วางเงินประกันค่าอากรอีกส่วนหนึ่งได้มีการส่งมอบสินค้าให้โจทก์รับไปแล้วต่อมาพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้ประเมินให้โจทก์ชำระอากรขาเข้าเพิ่ม โจทก์ได้ชำระอากรเพิ่มตามที่ได้รับแบบแจ้งการประเมิน การชำระเงินค่าอากรเพิ่มเป็นการชำระหลังจากได้รับมอบสินค้าแล้ว จึงไม่ต้องด้วยพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 10 วรรคห้า การที่โจทก์ได้ชำระอากรขาเข้าให้แก่จำเลยตามที่จำเลยเรียกเก็บโดยอาศัยอำนาจตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ แม้โจทก์มิได้สงวนสิทธิในการฟ้องร้องหรือเรียกร้องเงินจำนวนนี้คืน และมิได้บอกกล่าวให้จำเลยคืนเงินตามฟ้องก่อนนั้นก็มิได้ตัดสิทธิในการฟ้องคดี เมื่อจำเลยไม่มีสิทธิอย่างใดในเงินอากรขาเข้าที่เรียกเก็บตามฟ้องนั้น จำเลยก็ย่อมมีหน้าที่จะต้องคืนเงินจำนวนเท่ากับที่โจทก์ได้ชำระไปให้แก่โจทก์ ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 112 จัตวา วรรคท้าย ก็บัญญัติว่า”ในกรณีที่ต้องคืนเงินอากรหรือเงินประกันค่าอากรเพราะเหตุที่ได้เรียกไว้เกินจำนวนอันพึงต้องเสียหรือเพิ่ม ให้คืนพร้อมด้วยดอกเบี้ยอีกร้อยละ 0.625 ต่อเดือน ของจำนวนที่ต้องคืนโดยไม่คิดทบต้นนับแต่วันที่ได้ชำระค่าอากรหรือวางประกันค่าอากรครั้งสุดท้าย”ซึ่งคดีนี้โจทก์ขอเรียกดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของจำนวนเงินที่เจ้าพนักงานของจำเลยได้เรียกไว้เกินจำนวนอันจะพึงต้องเสียนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จเท่านั้น โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
การประเมินภาษีอากรขาเข้าจะชอบหรือไม่ต้องพิจารณาว่าราคาอันแท้จริงในท้องตลาดของสินค้าพิพาทเป็นจำนวนเท่าใด เมื่อโจทก์ได้สำแดงราคาสินค้าพิพาทเท่าที่โจทก์ซื้อมาจริง อันอนุมานได้ว่าเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด ที่จำเลยอ้างว่าราคาสินค้าพิพาทที่โจทก์สำแดงต่ำกว่าราคาประเมินที่จำเลยกำหนดหลักเกณฑ์ไว้พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยจึงประเมินภาษีอากรขาเข้าตามคำสั่งทั่วไปกรมศุลกากรที่ 47/2531 ได้โดยชอบด้วยกฎหมายนั้น จำเลยไม่ได้นำสืบให้ประจักษ์ว่าสินค้าพิพาทมีราคาอันแท้จริงในท้องตลาดเป็นจำนวนเท่าใด ราคาที่ว่ามีผู้นำเข้าสูงสุดก่อนรายที่พิจารณา (สินค้าพิพาท)ไม่เกิน 6 เดือน นั้น ไม่มีเอกสารนำเข้าของผู้นำเข้ามาประกอบจึงเป็นการไม่แน่นอนว่าจะเป็นสินค้าชนิดแรกประเภทเดียวกันกับสินค้าพิพาทหรือไม่อย่างใด ที่จำเลยนำสืบมายังรับฟังไม่ได้ว่าราคาสินค้าพิพาทอันแท้จริงในท้องตลาดเป็นราคาเท่าที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยประเมินต่อโจทก์ การประเมินราคาสินค้าพิพาทและประเมินภาษีอากรขาเข้าของจำเลยจึงไม่ชอบ
พิพากษายืน

Share