คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3077/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ซึ่งบัญญัติในเรื่องกำหนดโทษปรับไว้ว่า “สำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ ให้ปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว” นั้นคำว่า “ราคาของ” ตามบทบัญญัติดังกล่าว หมายถึงราคาของที่แท้จริงไม่ใช่ราคาของที่สำแดงไว้ขาด ส่วนคำว่า “ค่าอากร” นั้นก็มิได้จำกัดไว้ว่าให้คิดเฉพาะค่าอากรที่ชำระขาดไปเช่นกัน จึงหมายถึงค่าอากรตามอัตราที่ต้องชำระโดยไม่คำนึงถึงว่าได้ชำระค่าอากรไปแล้วหรือไม่เพียงใด เพราะเป็นเรื่องกฎหมายบัญญัติให้นำราคาของกับค่าอากรมาเป็นหลักในการกำหนดอัตราโทษปรับมิใช่เพื่อให้ผู้กระทำผิดชำระค่าอากรแต่อย่างใด จึงจะแปลว่ากฎหมายมุ่งหมายให้คิดเฉพาะราคาของกับค่าอากรที่ยังขาดอยู่มิได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดมีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนระหว่างวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2515 ถึงวันที่ 27 มิถุนายน 2517 เวลากลางวันจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันกระทำผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกันกล่าวคือ จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าเพื่อขอรับสินค้าประเภทเครื่องเขียนและอุปกรณ์ที่สั่งซื้อมาจากต่างประเทศ โดยยังมิได้เสียภาษีศุลกากรอย่างถูกต้องเพราะได้มีการสำแดงราคาต่ำกว่าราคาที่ซื้อขายกันจริง จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันสำแดงราคาเท็จรวม 36 ครั้ง รวมราคาของที่สำแดงเป็นจำนวนเงิน 1,354,161.27 บาทรวมอากรขาเข้าที่สำแดงเป็นจำนวนเงิน 611,005.71 บาท รวมภาษีการค้าที่สำแดงเป็นจำนวนเงิน152,457.29 บาท รวมภาษีบำรุงเทศบาลที่สำแดงเป็นจำนวนเงิน15,245.82 บาท ราคาของที่สำแดงต่ำกว่าราคาจริงรวม 1,060,511.47บาท ทำให้อากรขาเข้าขาดไปรวม 446,577.68 บาทภาษีการค้าขาดไปรวม 121,675.13 บาท ภาษีบำรุงเทศบาลขาดไปรวม 12,207.40 บาทรวมค่าของและค่าอากรขาดไป 1,507,089.15 บาท เหตุทั้ง 36 กรรมเกิดที่แขวงคลองเตย เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ที่แก้ไขแล้วประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 ที่แก้ไขแล้ว พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2489 มาตรา 4, 5,6, 7, 8 ริบของกลางและจ่ายเงินรางวัลให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้จับตามกฎหมาย
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ที่แก้ไขแล้ว การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน จึงต้องลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำเลยที่ 1มีความผิดรวม 36 กระทงจำเลยที่ 2 มีความผิดรวม 35 กระทง ให้ปรับจำเลยทั้งสองสี่เท่าของราคาของรวมค่าอากรตามใบขนสินค้าแต่ละฉบับโดยให้ปรับจำเลยทั้งสองเป็นเงิน 13,889,023.90 บาท ทั้งนี้โดยจำเลยที่ 2 รับผิดในค่าปรับจำนวนดังกล่าวไม่เกินวงเงิน12,933,277.18 บาท หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระค่าปรับให้ยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ใช้ค่าปรับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ส่วนจำเลยที่ 2 ก็ให้กักขังแทนค่าปรับไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 30 วรรคแรก สำหรับความผิดตามใบขนสินค้าเอกสารหมาย จ.220 ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และให้จ่ายเงินรางวัลแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้จับตามกฎหมายส่วนคำขออื่นนอกนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ปรับจำเลยทั้งสองเป็นเงิน13,881,994 บาท แต่ให้จำเลยที่ 2 รับผิดในค่าปรับจำนวนดังกล่าวเป็นเงิน 12,926,247.28 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาในศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีนายจุลกลิ่นวิบูลย์ นางสาวยุพิน กลิ่นวิบูลย์ และจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการ โดยกรรมการคนใดคนหนึ่งลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 กระทำการแทนจำเลยที่ 1 ได้ตามเอกสารหมาย จ.234และ จ.235 เมื่อระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ 2515 ถึงเดือนมิถุนายน2517 จำเลยที่ 1 ได้นำสินค้าประเภทเครื่องเขียนและอุปกรณ์จากต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักร จำเลยที่ 1 ได้ยื่นใบขนสินค้าตามเอกสารหมาย จ.7 จ.14 จ.21 จ.29 จ.34 จ.39 จ.47 จ.52 จ.57จ.65 จ.74 จ.79 จ.86 จ.91 จ.97 จ.108 จ.112 จ.116 จ.122 จ.128 จ.134จ.140 จ.145 จ.150 จ.155 จ.159 จ.165 จ.174 จ.180 จ.185 จ.193จ.197 จ.204 จ.213 จ.220 และ จ.227 รวม 36 ฉบับ โดยใบขนสินค้าตามเอกสารหมาย จ.220 มีนายจุลลงชื่อเป็นผู้นำเข้าส่วนใบขนสินค้านอกนั้น 35 ฉบับ จำเลยที่ 2 ลงชื่อเป็นผู้นำเข้ากรมศุลกากรได้เรียกเก็บภาษีอากรขาเข้า ภาษีการค้า ภาษีบำรุงเทศบาลแล้วจึงปล่อยสินค้าให้จำเลยที่ 1 รับไป ต่อมาวันที่ 14 มิถุนายน2517 เจ้าพนักงานศุลกากรและเจ้าพนักงานตำรวจได้ตรวจคันยึดเอกสารเกี่ยวกับการติดต่อซื้อสินค้าระหว่างจำเลยที่ 1 กับผู้ขายในต่างประเทศซึ่งอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 1 ไปตรวจสอบ แล้วมีความเห็นว่าราคาสินค้าที่ได้สำแดงไว้ในใบขนสินค้าทั้ง 36 ฉบับต่ำกว่าราคาที่แท้จริงเจ้าพนักงานศุลกากรจึงทำการประเมินภาษีอากรใหม่ และแจ้งให้จำเลยที่ 1 ชำระภาษีอากรเพิ่มพร้อมทั้งชำระค่าปรับแต่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระจึงส่งเรื่องให้พนักงานสอบสอนดำเนินคดีนี้แก่จำเลยทั้งสอง
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองในประการต่อไปมีว่าศาลอุทธรณ์กำหนดโทษปรับจำเลยทั้งสองชอบหรือไม่ ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ซึ่งบัญญัติในเรื่องกำหนดโทษปรับไว้ว่า “สำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ ให้ปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว” นั้น ตามบทบัญญัติดังกล่าวมีความมุ่งหมายว่าจะต้องปรับสี่เท่าของค่าของและค่าอากรที่ยังขาดอยู่ คดีนี้ปรากฏตามฟ้องว่า จำเลยได้ชำระภาษีอากรขาเข้าไปแล้วเป็นเงิน 563,413.73 บาท เมื่อนำค่าของและค่าอากรที่ขาดอยู่ตามฟ้องแต่ละข้อมารวมกันแล้วจะได้ยอดทั้งสิ้น1,508,009.15 บาท การพิพากษาให้จำเลยชำระค่าปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรโดยไม่หักค่าอากรที่จำเลยได้ชำระไปออกก่อนจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นในข้อนี้เห็นว่า คำว่า “ราคาของ”ตามบทบัญญัติดังกล่าว หมายความถึงราคาของที่แท้จริงไม่ใช่ราคาของที่สำแดงไว้ขาด ส่วนคำว่า “ค่าอากร” ก็มิได้จำกัดไว้ว่าให้คิดเฉพาะค่าอากรที่ชำระขาดไป จึงหมายถึงค่าอากรตามอัตราที่ต้องชำระโดยไม่คำนึงถึงว่าได้ชำระค่าอากรไปแล้วหรือไม่เพียงใด เพราะเป็นเรื่องกฎหมายบัญญัติให้นำราคาของกับค่าอากรมาเป็นหลักในการกำหนดอัตราโทษปรับมิใช่เพื่อให้ผู้กระทำผิดชำระค่าอากร จึงจะแปลว่ากฎหมายมุ่งหมายให้คิดเฉพาะค่าอากรที่ยังขาดอยู่มิได้ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน

Share