แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
คดีก่อนจำเลยดัดแปลงต่อเติมอาคารชั้นที่สี่ ระหว่างวันที่6 พฤศจิกายน 2531 ถึงวันที่ 6 ธันวาคม 2531 ส่วนคดีนี้จำเลยทั้งสองร่วมกันดัดแปลงอาคารโดยการต่อเติมขยายเพิ่มขึ้นจาก 3 ชั้น เป็น8 ชั้น และกระทำเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2534 เช่นนี้แม้อาคารคดีนี้จะเป็นอาคารเดียวกันกับคดีก่อน แต่การกระทำในคดีนี้ก็เป็นคนละกรรมต่างกันกับคดีก่อน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงไม่ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณไม่ว่าในทางใด ดังนั้นจึงต้องนำบทบัญญัติ มาตรา 70 แห่งพระราชบัญญัติ ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ที่แก้ไขอันเป็นคุณแก่จำเลยทั้งสองยิ่งกว่ามาตรา 70 เดิมมาใช้บังคับแก่จำเลยทั้งสอง และยังคงต้องใช้มาตรา 65 วรรคหนึ่งเดิม ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดอันเป็นคุณแก่จำเลยทั้งสองยิ่งกว่ามาตรา 65 ที่แก้ไขมาใช้บังคับด้วย ฉะนั้น เมื่อนำกฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยคือ มาตรา 65 วรรคหนึ่งเดิม ซึ่งไม่มีระวางโทษจำคุกคงมีแต่โทษปรับและมาตรา 70 ที่แก้ไขซึ่งไม่ได้กำหนดโทษจำคุกไว้มาใช้บังคับแก่จำเลยทั้งสอง จึงไม่มีโทษจำคุกที่จะลงแก่จำเลยทั้งสอง คงลงโทษจำเลยทั้งสองได้เพียงปรับซึ่งเป็นโทษที่เบากว่าโทษจำคุก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 มาตรา 4, 22, 65, 69, 70 ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522 ข้อ 35, 76ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติ ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 22, 65, 69, 70 วางโทษจำคุกคนละ 1 ปี จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ6 เดือน
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาในศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาขึ้นมาสู่ศาลฎีกาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 เป็นข้อแรกว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4921/2531 ของศาลแขวงธนบุรีหรือไม่ ซึ่งเป็นปัญหาที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยโดยเห็นว่า เป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วแต่ในศาลชั้นต้น แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน มิใช่ปัญหาข้อเท็จจริงแม้จะมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วแต่ในศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1ก็ชอบที่จะยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยให้จำเลยที่ 1 เป็นการไม่ชอบ และศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยให้เสร็จไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงได้ความว่าในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4921/2531 ของศาลแขวงธนบุรีนั้นเป็นเรื่องจำเลยที่ 1 ดัดแปลงต่อเติมอาคารโดยการหล่อเสา คานก่ออิฐผนัง และเทพื้นหลังคาชั้นสี่ และจำเลยที่ 1 กระทำการดังกล่าวระหว่างวันที่ 6 พฤศจิกายน 2531 ส่วนคดีนี้จำเลยที่ 1 กับที่ 2ร่วมกันดัดแปลงอาคารโดยการต่อเติมขยายเพิ่มขึ้นจาก 3 ชั้น เป็น8 ชั้น และกระทำเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2534 เช่นนี้แม้อาคารที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันดัดแปลงต่อเติมคดีนี้จะเป็นหลังเดียวกันกับอาคารในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4921/2531 การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในคดีนี้ก็เป็นคนละกรรมต่างกันกับการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4921/2531 ของศาลแขวงธนบุรี ฟ้องโจทก์คดีนี้ไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4921/2531 ของศาลแขวงธนบุรี สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงไม่ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4)
ปัญหาต่อไปคือที่จำเลยทั้งสองฎีกาขอให้รอการลงโทษนั้นเห็นว่าขณะนี้มีพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ใช้บังคับโดยมาตรา 22 และ 25 ให้ยกเลิกความในมาตรา 65 และ 70 แห่งพระราชบัญญัติ ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ตามลำดับ และให้ใช้ความใหม่แทนปรากฏว่าบทกำหนดโทษตามมาตรา 65 วรรคหนึ่ง เดิม ซึ่งมีบทกำหนดโทษผู้ดัดแปลงอาคารโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามมาตรา 22 ร่วมอยู่ด้วยมีระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทแต่มาตรา 65 ที่แก้ไข มีระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือนหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนมาตรา 70 เดิม ซึ่งเป็นบทกำหนดโทษให้หนักขึ้นในการกระทำความผิดอันเกี่ยวกับอาคารเพื่อพาณิชยกรรม มีระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับเป็นสิบเท่าของโทษที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ หรือทั้งจำทั้งปรับแต่มาตรา 70 ที่แก้ไข มีระวางโทษเป็นสองเท่าของโทษที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ อันเป็นกรณีที่กฎหมายซึ่งใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด อันมีทั้งเป็นคุณและเป็นโทษแก่ผู้กระทำความผิด ซึ่งประมวลกฎหมายอาญามาตรา 3 ให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดไม่ว่าในทางใด ดังนั้น จึงต้องนำมาตรา 70 ที่แก้ไขอันเป็นคุณแก่จำเลยทั้งสองยิ่งกว่ามาตรา 70 เดิม มาใช้บังคับแก่จำเลยทั้งสอง และยังคงต้องใช้มาตรา 65 วรรคหนึ่ง เดิม ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดอันเป็นคุณแก่จำเลยทั้งสองยิ่งกว่ามาตรา 65 ที่แก้ไขมาใช้บังคับแก่จำเลยทั้งสอง เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองโดยอาศัยมาตรา 70 เดิม ซึ่งมีระวางโทษจำคุกด้วยแต่มาตรา 70 ที่แก้ไข ไม่ได้กำหนดโทษจำคุกไว้ต่างหากจากบทกำหนดโทษหลัก โดยกำหนดไว้ว่าผู้กระทำต้องระวางโทษเป็นสองเท่าของโทษที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ และศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสอง ฉะนั้น เมื่อนำกฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยคือมาตรา 65 วรรคหนึ่ง เดิม ซึ่งไม่มีระวางโทษจำคุก คงมีแต่โทษปรับและมาตรา 70 ที่แก้ไขมาใช้บังคับแก่จำเลยทั้งสอง จึงไม่มีโทษจำคุกที่จะลงแก่จำเลยทั้งสอง คงลงโทษจำเลยทั้งสองได้เพียงปรับซึ่งเป็นโทษที่เบากว่าโทษจำคุก ไม่จำต้องวินิจฉัยข้อฎีกาจำเลยทั้งสองต่อไป”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 วรรคหนึ่ง เดิม มาตรา 65มาตรา 70 ที่แก้ไขโดยพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ 2)พ.ศ. 2535 มาตรา 25 ให้ปรับคนละ 20,000 บาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงปรับคนละ 10,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30