แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
แม้การที่คนต่างด้าวได้ที่ดินมาโดยมิชอบด้วยประมวลกฎหมายที่ดินฯ มาตรา 86 จะทำให้คนต่างด้าวนั้นถือสิทธิหรือใช้สิทธิในที่ดินที่ได้มาอย่างเจ้าของกรรมสิทธิ์ไม่ได้และต้องจำหน่ายที่ดินนั้นไปตามมาตรา 94 แต่ก็มิใช่ว่าการได้มาซึ่งที่ดินของคนต่างด้าวจะไม่มีผลเสียเลย เนื่องจากคนต่างด้าวยังคงมีสิทธิได้รับผลตามมาตรา 94 ทั้งยังมีสิทธิได้รับชำระราคาที่ดินซึ่งได้จากการจำหน่ายตามมาตรา 54 ดังนั้น แม้โจทก์เป็นคนต่างด้าวโจทก์ก็มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 แบ่งทรัพย์สินที่ดินและบ้านซึ่งโจทก์กับจำเลยที่ 1 ร่วมกันซื้อมาได้ กรณีถือว่าคดีแพ่งที่โจทก์ฟ้องขอแบ่งทรัพย์จากจำเลยที่ 1 โจทก์มีฐานะเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่โอนขายที่ดินและบ้านดังกล่าวไปเสีย จึงครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ขอแบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 18859 พร้อมบ้านโดยให้นำออกขายทอดตลาดแบ่งเงินให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่ง ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้โอนขายทรัพย์ดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยมีเจตนาไม่ให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350, 83
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 350 จำคุก 1 ปี ยกฟ้องจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี จึงเป็นคดีที่ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 218 วรรคแรก คงมีฎีกาในข้อกฎหมายของจำเลยที่ 1 มาสู่การวินิจฉัยของศาลฎีกาเพียงข้อเดียวว่าโจทก์มิใช่เจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1เพราะโจทก์เป็นคนต่างด้าวและโจทก์ไม่ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 86 เกี่ยวกับการได้มาซึ่งที่ดิน โจทก์จึงไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทและไม่อยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 350 ซึ่งในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ซึ่งข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฟังได้เป็นยุติว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 อยู่กินเป็นสามีภริยากันโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส โจทก์เป็นผู้ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 188539 (ที่ถูกเลขที่ 18859)ตำบลหนองจ๊อม อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมบ้านเลขที่333/125 จากห้างหุ้นส่วนจำกัดเชียงใหม่แฮปปี้โฮมดิเวลล้อปเม้นท์เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยร่วมกับจำเลยที่ 1 แต่โจทก์มิใช่คนสัญชาติไทย จึงให้ผู้ขายโอนให้ในชื่อของจำเลยที่ 1 โจทก์จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์หรืออย่างน้อยก็มีกรรมสิทธิ์ร่วมกับจำเลยที่ 1ต่อมาจำเลยที่ 1 ขับไล่โจทก์ออกจากบ้านและที่ดินดังกล่าวดังนั้นในวันที่ 16 ตุลาคม 2532 โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลชั้นต้นขอให้ศาลสั่งขายทอดตลาดบ้านและที่ดินนั้น นำเงินมาแบ่งให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่ง ครั้นวันที่ 27 พฤศจิกายน 2532 ภายหลังจากโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 เพียงเดือนเศษ จำเลยที่ 1 ได้โอนขายบ้านและที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เห็นว่า แม้ว่าการได้มาซึ่งที่ดินของคนต่างด้าวจะต้องอยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 86 ก็ตาม แต่ก็ยังมีบทบัญญัติต่อมาในมาตรา 94 ว่า บรรดาที่ดินที่คนต่างด้าวได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ได้รับอนุญาตให้คนต่างด้าวนั้นจัดการจำหน่ายภายในเวลาที่อธิบดีกรมที่ดินกำหนดมิฉะนั้นให้อธิบดีกรมที่ดินมีอำนาจจำหน่ายที่ดินนั้น และให้นำบทบัญญัติเรื่องการบังคับจำหน่ายที่ดินตามความในหมวด 3 มาใช้บังคับโดยอนุโลม และตามมาตรา 54 แห่งหมวด 3 ก็ได้บัญญัติว่าเมื่อมีการจำหน่ายที่ดินแล้ว ให้อธิบดีกรมที่ดินชำระราคาที่ดินให้แก่ผู้มีสิทธิในที่ดิน จากบทบัญญัติของกฎหมายเช่นนี้ย่อมเป็นที่เห็นได้ว่า แม้การที่คนต่างด้าวได้ที่ดินมาโดยมิชอบด้วยมาตรา 86จะทำให้คนต่างด้าวนั้น ถือสิทธิหรือใช้สิทธิในที่ดินที่ได้มาอย่างเจ้าของกรรมสิทธิ์ไม่ได้ และต้องจำหน่ายที่ดินนั้นไปตามมาตรา 94ก็ตาม แต่ก็มิใช่ว่าการได้มาซึ่งที่ดินของคนต่างด้าวดังกล่าวจะไม่มีผลใด ๆ เสียเลย เพราะคนต่างด้าวยังมีสิทธิได้รับผลตามมาตรา 94 และมีสิทธิได้รับชำระราคาที่ดินที่ได้จากการจำหน่ายตามมาตรา 54 อยู่ ดังนั้น แม้โจทก์จะเป็นคนต่างด้าว โจทก์ก็มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 แบ่งทรัพย์สินที่ดินและบ้านที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ร่วมกันซื้อมาได้ และในคดีแพ่งที่โจทก์ฟ้องแบ่งทรัพย์จากจำเลยที่ 1 ย่อมถือได้ว่าโจทก์มีฐานะเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1เพราะคำว่า “หนี้” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 มิได้หมายถึงเฉพาะหนี้เงินเท่านั้น หากแต่ยังมีความหมายรวมถึงหนี้อื่น ๆด้วย การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำเลยที่ 1 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน