คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2045/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์และจำเลยตกลงจะซื้อขายที่ดินพิพาทโดยมิได้มุ่งหมายจะทำหลักฐานกันเป็นหนังสือ เมื่อจำเลยได้ส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตั้งแต่ที่ได้ตกลงทำสัญญากัน สัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทจึงสมบูรณ์ในแบบที่ได้มีการชำระหนี้บางส่วนแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคสอง สามารถฟ้องร้องบังคับคดีกันได้โดยไม่จำต้องมีเอกสารเป็นหนังสือ ส่วนที่โจทก์จำเลยยื่นเรื่องราวขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเป็นเพียงพฤติการณ์ที่คู่กรณีแสดงเจตนาจะทำการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเท่านั้นไม่ใช่หลักฐานแห่งสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาท จำเลยจึงนำสืบราคาที่แท้จริงได้ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 94

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันโดยให้เรียก นายคะแนน ประสมพล โจทก์สำนวนแรกว่าโจทก์ เรียกนางสาวสุพร แซ่ตั้ง โจทก์สำนวนหลังว่าจำเลย
โจทก์สำนวนแรกฟ้องว่า จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ 5 โจทก์จำเลยได้ตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแปลงดังกล่าวในราคา 100,000 บาท โดยตกลงกันว่าโจทก์จะชำระราคาที่ดินให้แก่จำเลยในวันที่ไปจดทะเบียนซื้อขายกัน เมื่อโจทก์จำเลยตกลงกันแล้ว จำเลยได้ส่งมอบการครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่โจทก์โจทก์จึงเข้าไปปรับปรุงที่ดินเพื่อทำสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงตามวัตถุประสงค์ ต่อมาเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2529 โจทก์จำเลยได้ไปพร้อมกันที่สำนักงานที่ดิน ยื่นเรื่องราวขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม เจ้าพนักงานที่ดินได้ประกาศการขอจดทะเบียนมีกำหนด30 วันแล้วไม่มีผู้ใดคัดค้านโจทก์จึงติดต่อกับจำเลยให้ไปจดทะเบียนซื้อขายที่ดินพร้อมกับรับเงินค่าที่ดิน แต่จำเลยปฏิเสธว่าไม่ขายขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนโอนขายที่ดินดังกล่าว และรับเงินราคาที่ดินจากโจทก์จำนวน 100,000 บาท หากจำเลยไม่สามารถไปทำการจดทะเบียนโอนขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่โจทก์ ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยสำนวนแรกให้การว่า โจทก์จำเลยตกลงจะซื้อขายที่ดินแปลงพิพาทในราคา 325,000 บาท โดยโจทก์จะขอชำระราคาที่ดินทั้งหมดหลังจากที่ประกาศกำหนด 30 วันแล้ว ครั้นประกาศครบกำหนด 30 วันแล้วโจทก์กลับเป็นฝ่ายผิดนัดไม่มาทำนิติกรรมขอรับโอนจากจำเลยและโจทก์เป็นฝ่ายขอผัดผ่อนเรื่อยมา ต่อมาจำเลยได้บอกเลิกการขายที่ดินแปลงพิพาทแก่โจทก์แล้ว ถือว่าการซื้อขายที่ดินแปลงพิพาทเป็นอันสิ้นสุดลง
โจทก์สำนวนหลังฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ทรงสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ 5 โจทก์ตกลงขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้จำเลยเพื่อนำไปดำเนินการค้าขายน้ำมันเชื้อเพลิงในราคา325,000 บาท ต่อมาจำเลยผิดนัดไม่ไปขอรับโอนที่ดินและชำระราคาโจทก์ได้บอกเลิกการขายแก่จำเลย แต่จำเลยและบริวารไม่ยอมออกไปจากที่ดินของโจทก์ กลับนำทรัพย์สินต่าง ๆ เข้าไปติดตั้งในที่ดินของโจทก์ โจทก์จึงมอบให้ทนายความมีหนังสือแจ้งยืนยันให้ส่งมอบที่ดินแปลงดังกล่าวคืนให้กับโจทก์ในสภาพที่เรียบร้อยและห้ามมิให้จำเลยหรือบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินอีกต่อไป
จำเลยสำนวนหลังให้การว่า โจทก์ได้ตกลงขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้จำเลยในราคา 100,000 บาท โจทก์ไม่เคยนัดให้จำเลยไปรับโอนที่ดินจำเลยอยู่ในที่ดินแปลงพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมาย โดยอาศัยสิทธิตามสัญญาจะซื้อจะขายและด้วยความยินยอมของโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้ขับไล่โจทก์และให้โจทก์ขนย้ายทรัพย์สินออกไปเสียจากที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ทะเบียนการครอบครองเลขที่ 5 ตำบลศรีสุทโธ อำเภอบ้านดุงจังหวัดอุดรธานี และให้โจทก์ส่งมอบที่ดินแปลงดังกล่าวคืนแก่จำเลยในสภาพที่เรียบร้อยและห้ามมิให้โจทก์หรือบริวารโจทก์เข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินแปลงดังกล่าวอีกต่อไปให้ยกฟ้องโจทก์ คำขออื่นให้ยกเสีย
โจทก์อุทธรณ์ทั้งสองสำนวน
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาทั้งสองสำนวน
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์จำเลยตกลงจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทกันเมื่อต้นเดือนกันยายน 2529 และจำเลยได้ส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์แล้ว ต่อมาวันที่ 23 กันยายน 2529 โจทก์จำเลยได้ยื่นเรื่องราวขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมการสอบสวนสิทธิในที่ดินประเภทขายที่ดิน ตามเอกสารหมาย จ.14 หรือ ล.9 เมื่อเจ้าพนักงานที่ดินประกาศตามระเบียบครบกำหนด 30 วันแล้ว ไม่มีการจดทะเบียนซื้อขาย โดยจำเลยเป็นฝ่ายแจ้งยกเลิกการขายตามเอกสารหมาย ล.1และ ล.5 มีปัญหาจะต้องพิจารณาตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทมิใช่จำนวน 100,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.14 แต่เป็นราคาตามที่จำเลยนำสืบ เป็นการรับฟังพยานหลักฐานที่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 เพราะเมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์และจำเลยได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินแปลงพิพาทฉบับอื่นอีก จึงรับฟังได้ว่าเอกสารหมาย จ.14 เป็นหลักฐานสัญญาจะซื้อขายที่ดินแปลงพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลย นั้น เห็นว่า โจทก์และจำเลยตกลงซื้อขายที่ดินพิพาทโดยมิได้มุ่งหมายจะทำหลักฐานกันเป็นหนังสือ เมื่อจำเลยได้ส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตั้งแต่ที่ได้ตกลงทำสัญญากันสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทจึงสมบูรณ์ในแบบที่ได้มีการชำระหนี้บางส่วนแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคสองสามารถฟ้องร้องบังคับคดีกันได้โดยไม่จำต้องมีเอกสารเป็นหนังสือเรื่องราวขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามเอกสารหมาย จ.14 หรือ ล.9จึงเป็นเพียงพฤติการณ์ที่คู่กรณีแสดงเจตนาจะทำการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเท่านั้น ไม่ใช่หลักฐานแห่งสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทคำพิพากษาฎีกาที่โจทก์อ้างข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ จำเลยจึงนำสืบถึงราคาที่แท้จริงได้ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 94”
พิพากษายืน

Share