คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2044/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การพิจารณาว่าโจทก์จะอุทธรณ์ได้หรือไม่ต้องพิจารณาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายซึ่งใช้อยู่ในขณะยื่นอุทธรณ์ มิใช่ในขณะกระทำผิด พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534กำหนดอัตราโทษไว้อย่างสูงตามมาตรา 4 อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ภายหลังการกระทำความผิดและในขณะยื่นอุทธรณ์อันเป็นคุณแก่จำเลยยิ่งกว่าพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำผิดในส่วนของโทษปรับ กรณีจึงต้องใช้บทบัญญัติของมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2534 มาวินิจฉัยอัตราโทษว่าต้องห้ามอุทธรณ์หรือไม่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 วรรคแรก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อเดือนมิถุนายน 2533 จำเลยนำเช็คธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขาขอนแก่น ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2533จำนวนเงิน 150,000 บาท มีจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายมาแลกเงินสดจากโจทก์เมื่อเช็คถึงกำหนด ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินโดยให้เหตุผลว่าเงินในบัญชีไม่พอจ่ายเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2533การกระทำของจำเลยแสดงว่าเจตนาออกเช็คโดยจะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คหรือออกเช็คในขณะไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันพึงจะใช้เงินตามเช็คได้ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 28 เมษายน2535 หลังจากพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2534 ใช้บังคับแล้ว การพิจารณาว่าโจทก์จะอุทธรณ์ได้หรือไม่จึงต้องพิจารณาตามบทบัญญัติแห่งบทกฎหมายดังกล่าวซึ่งใช้อยู่ในขณะยื่นอุทธรณ์ มิใช่ในขณะกระทำผิดและโดยที่พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 กำหนดอัตราโทษไว้อย่างสูงตามมาตรา 4 อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดและในขณะยื่นอุทธรณ์อันเป็นคุณแก่จำเลยยิ่งกว่าพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดในส่วนของโทษปรับ กรณีจึงต้องใช้บทบัญญัติของมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาวินิจฉัยอัตราโทษว่าต้องห้ามอุทธรณ์หรือไม่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 3 วรรคแรก
พิพากษายืน

Share