คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1832/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 3 มอบอำนาจให้ ช. จำนองที่ดินกับโจทก์ โดยระบุในหนังสือมอบอำนาจและสัญญาจำนองว่าเพื่อประกันหนี้ที่โจทก์ออกหนังสือค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อกรุงเทพมหานคร จำนวนเงิน117,000 บาท จึงเป็นการจำนองเพื่อประกันหนี้ดังกล่าว หาใช่หนี้อื่น ๆ ที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ด้วยไม่ ที่หนังสือสัญญาจำนองที่ดินข้อ 5 ระบุว่า ส่วนข้อตกลงอื่น ๆ ให้เป็นไปตามหนังสือสัญญาต่อท้ายนั้น ย่อมหมายถึงข้อตกลงที่เป็นรายละเอียดปลีกย่อย นอกจากที่กล่าวไว้ในหนังสือสัญญาจำนองที่ดินต้องถือเอาข้อความที่ระบุไว้ในหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นหลักในการพิจารณา โดยข้อความในสัญญาต่อท้ายเป็นเพียงส่วนประกอบเท่านั้นดังนั้นแม้หนังสือสัญญาต่อท้าย จะมีข้อความระบุว่า เพื่อประกันหนี้เบิกเงินเกินบัญชีและหนี้สินอื่นใดซึ่งผู้จำนองหรือจำเลยที่ 1เป็นหนี้ธนาคารอยู่ในเวลานี้หรือต่อไปในภายหน้าในวงเงินไม่เกิน117,000 บาท จึงจะตีความว่ารวมถึงหนี้เบิกเงินเกินบัญชีที่จำเลยที่ 1 มีอยู่กับโจทก์ด้วยหาได้ไม่ การที่จำเลยที่ 3 นำสืบพยานบุคคลว่า การจำนองที่ดินตามสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนอง เป็นการจำนองเพื่อประกันการที่โจทก์ออกหนังสือค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อกรุงเทพมหานคร โดยไม่รวมถึงหนี้ตามฟ้องโจทก์ เป็นการนำสืบว่าโจทก์กับจำเลยที่ 3 ไม่มีหนี้ตามฟ้องต่อกัน สัญญาจำนองที่ดินเพื่อประกันหนี้ตามฟ้องไม่เกิดขึ้นหรือไม่สมบูรณ์ จึงไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 94

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2511 จำเลยที่ 1ได้เปิดบัญชีกระแสรายวัน โดยใช้เช็คกับโจทก์ สาขาท่าดินแดงและตกลงว่าหากเงินในบัญชีของจำเลยที่ 1 มีไม่พอจ่ายตามเช็คปกติโจทก์จะปฏิเสธการจ่ายเงินโดยสิ้นเชิงแต่ถ้าโจทก์ยินยอมจ่ายเงินให้ไปก่อน จำเลยที่ 1 ต้องผูกพันคืนเงินที่จ่ายนั้นแก่โจทก์เสมือนเป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ14 ต่อปี และชำระดอกเบี้ยทุกวันที่ 5 ของเดือน หากผิดนัดให้นำดอกเบี้ยที่ค้างชำระทบเข้ากับต้นเงินที่ค้างชำระเพื่อคำนวณดอกเบี้ยต่อไปตามประเพณีของธนาคาร และเพื่อประกันหนี้เบิกเงินเกินบัญชีดังกล่าว เมื่อวันที่ 19 และ 23 กันยายน 2518 จำเลยที่ 3 ได้จดทะเบียนจำนองที่ดิน 3 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างตามโฉนดเลขที่ 25451แขวงบางด้วน (บางเชือกหนังฝั่งใต้) เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานครและโฉนดเลขที่ 20149 และ 20150 ตำบลอ้อมน้อย อำเภอกระทุ่มแบน(ตลาดใหม่) จังหวัดสมุทรสาคร (นครไชยศรี) กับโจทก์โดยตกลงว่าหากบังคับจำนองได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ จำเลยที่ 3 ยินยอมชดใช้เงินที่ยังขาดอยู่จนกว่าจะครบ หลังจากที่จำเลยที่ 1 ได้เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันกับโจทก์แล้วบัญชีของจำเลยที่ 1 ได้เดินสะพัดเรื่อยมาโดยนำเงินเข้าฝากหรือถอนเงินออกโดยใช้เช็คจนถึงวันที่26 พฤษภาคม 2524 โจทก์ได้หักทอนบัญชีปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีจำนวน 2,796,227.94 บาท โจทก์ติดตามทวงถามแล้วแต่จำเลยทั้งสามไม่ชำระ โจทก์จึงมีหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้และบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยทั้งสามตามสำเนาเอกสารท้ายฟ้องจำเลยทั้งสามก็ยังเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 5,629,841.05 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปีในต้นเงินจำนวน 2,796,227.94 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จหากจำเลยทั้งสามไม่ชำระ ให้นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่จดทะเบียนจำนองไว้ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แทน และหากได้เงินสุทธิยังไม่พอชำระหนี้ ก็ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์จนกว่าจะครบ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องเพื่อประกันการที่โจทก์ออกหนังสือค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อกรุงเทพมหานครเท่านั้น กล่าวคือ เมื่อประมาณกลางปี 2518 จำเลยที่ 1 ได้เข้าประกวดราคาก่อสร้างโรงเรียนเทศบาลให้แก่กรุงเทพมหานคร ซึ่งการเข้าประกวดราคาดังกล่าวจะต้องมีหนังสือค้ำประกันของธนาคารในวงเงินประมาณ 200,000 บาทวางไว้ต่อกรุงเทพมหานครเพื่อประกันซองประมูล แต่ขณะนั้นจำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้โจทก์อยู่ประมาณ 1,300,000 บาท โจทก์จึงไม่ออกหนังสือค้ำประกันให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 จึงจดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องแก่โจทก์ เพื่อให้โจทก์ออกหนังสือค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อกรุงเทพมหานคร การออกหนังสือค้ำประกันดังกล่าวมีอายุการค้ำประกันเพียง 1 ปี และการค้ำประกันเป็นระงับแล้วตั้งแต่ปี 2519 โดยไม่มีกรณีที่โจทก์จะต้องรับผิดชอบต่อกรุงเทพมหานครตามหนังสือค้ำประกัน สัญญาจำนองตามฟ้องเป็นอันระงับไปด้วย จำเลยที่ 3 ได้ติดต่อโจทก์ขอให้ไปจดทะเบียนไถ่ถอนจำนอง แต่โจทก์บ่ายเบี่ยงเรื่อยมาและฟ้องจำเลยที่ 3 เป็นคดีนี้จำเลยที่ 3 มิได้จดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันหนี้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 ตามฟ้องแต่ประการใดหนังสือสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนอง ฉบับลงวันที่ 23 กันยายน 2518ไม่ถูกต้องขัดกับความประสงค์ของจำเลยที่ 3 ในการจดทะเบียนจำนองหนังสือสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองดังกล่าวเป็นโมฆะ ทั้งนี้ โจทก์ก็ทราบถึงเจตนาอันแท้จริงว่าจำเลยที่ 3 จำนองที่ดินเพื่อเป็นประกันการออกหนังสือค้ำประกันอย่างไรก็ตาม สัญญาจำนองตามฟ้องทั้งสองฉบับกำหนดวงเงินที่จำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดเพียง 217,000 บาทเท่านั้น ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน2,796,227.94 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2524 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ รวมทั้งชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 15,000 บาทคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก และให้ยกฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 3 ด้วย
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน 2,796,227.94 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปีนับแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2524 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ที่โจทก์ฎีกาว่า การจำนองที่ดิน 2 แปลง ตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดินและสัญญาต่อท้ายเอกสารหมาย จ.7 เป็นการจำนองเพื่อประกันหนี้ที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ตามบัญชีกระแสรายวันนั้น ปรากฏตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย ล.2ว่า จำเลยที่ 3 มอบอำนาจให้นายชลอ จั่นลา ทำการจำนองที่ดิน2 แปลง ตามโฉนดที่ดินที่ระบุไว้ในหนังสือมอบอำนาจเพื่อเป็นประกันการที่โจทก์ออกหนังสือค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อกรุงเทพมหานครจำนวนเงิน 117,000 บาท และตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดินและสัญญาต่อท้ายเอกสารหมาย จ.7 ก็มีข้อความระบุไว้ในหนังสือสัญญาจำนองที่ดินข้อ 1 ว่า ผู้จำนองตกลงจำนองที่ดินแปลงที่กล่าวข้างบนนี้ทั้งแปลง แก่ผู้รับจำนองเพื่อเป็นประกันการออกหนังสือค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อกรุงเทพมหานคร เป็นจำนวนเงิน 117,000 บาทข้อความที่ระบุไว้ในหนังสือมอบอำนาจและหนังสือสัญญาจำนองที่ดินดังกล่าวย่อมเห็นได้อย่างชัดแจ้งว่า เป็นการจำนองเพื่อประกันหนี้ที่โจทก์ออกหนังสือค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อกรุงเทพมหานคร จำนวนเงิน117,000 บาท เท่านั้น หาได้จำนองเพื่อประกันหนี้อื่น ๆ ที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ไม่ ส่วนที่หนังสือสัญญาจำนองที่ดินมีข้อความในข้อ 5 ว่า ส่วนข้อตกลงอื่น ๆ ให้เป็นไปตามหนังสือสัญญาต่อท้ายของธนาคารรวมอยู่ด้วยนั้น ย่อมหมายถึงข้อตกลงที่เป็นรายละเอียดปลีกย่อยนอกจากที่กล่าวไว้ในหนังสือสัญญาจำนองที่ดิน แต่ก็ต้องถือเอาข้อความที่ระบุไว้ในหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นหลักในการพิจารณาว่า คู่กรณีมีเจตนาในการจำนองที่ดินเพื่อประกันหนี้อะไรและมีจำนวนเงินมากน้อยเพียงใด ข้อความในสัญญาต่อท้ายเป็นเพียงส่วนประกอบของหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเท่านั้น ซึ่งในเมื่อหนังสือสัญญาจำนองที่ดินระบุไว้ชัดแจ้งว่า จำเลยที่ 3 จำนองที่ดินเพื่อเป็นประกันการที่โจทก์ออกหนังสือค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อกรุงเทพมหานครเป็นเงินจำนวน 117,000 บาท แม้ตามหนังสือสัญญาต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนองที่ดินจะมีข้อความระบุไว้ในข้อ 1 ว่า ฯลฯเพื่อเป็นประกันเงินซึ่งผู้จำนองหรือจำเลยที่ 1 ซึ่งต่อไปในสัญญานี้จะเรียกว่า ลูกหนี้ ได้หรือจะได้กู้ไปจากธนาคาร ได้เบิกหรือจะได้เบิกเงินเกินบัญชีไปจากธนาคาร และหนี้สินอื่นใด ซึ่งลูกหนี้ หรือผู้จำนองเป็นหนี้ธนาคารอยู่ในเวลานี้ หรือที่จะเป็นต่อไปในภายหน้าในวงเงินไม่เกิน 117,000 บาท ฯลฯ ก็เห็นว่า ข้อความดังกล่าวจะตีความว่า รวมถึงหนี้เบิกเงินเกินบัญชีที่จำเลยที่ 1 มีอยู่กับโจทก์หาได้ไม่เพราะถ้าโจทก์และจำเลยที่ 3 มีเจตนาที่จะให้จำเลยที่ 3จำนองที่ดินเพื่อประกันหนี้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 ด้วยก็คงจะต้องระบุข้อความดังกล่าวรวมทั้งจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1เป็นหนี้โจทก์ในวันที่จดทะเบียนจำนองที่ดินคือวันที่ 23 กันยายน2518 ซึ่งปรากฏตามหลักฐานทางบัญชีเอกสารหมาย จ.8 ว่า จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์จำนวน 1,300,000 บาทเศษ ไว้ในหนังสือสัญญาจำนองที่ดินและสัญญาต่อท้ายเอกสารหมาย จ.7 ด้วย นอกจากนี้ยังได้ความจากนายชลอ จั่นลา พนักงานของโจทก์ซึ่งเป็นผู้พิมพ์หนังสือสัญญาจำนองที่ดิน และสัญญาต่อท้ายเอกสารหมาย จ.7 ทั้งเป็นผู้ได้รับมอบอำนาจจากโจทก์และจำเลยที่ 3 ให้ไปจดทะเบียนจำนองรายนี้ว่า ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย ล.2 ได้ระบุว่า ให้จำนองเพื่อเป็นประกันการออกหนังสือค้ำประกันอย่างเดียวเท่านั้นหากผู้มอบอำนาจประสงค์ให้ค้ำประกันหนี้สินอื่น ๆ ก็จะต้องระบุไว้ในหนังสือมอบอำนาจด้วย พยานไปจดทะเบียนจำนองโดยได้ระบุในสัญญาจำนองว่า จำนองเพื่อเป็นประกันการออกหนังสือค้ำประกันต่อกรุงเทพมหานครของจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 117,000 บาท ตามความประสงค์ของจำเลยที่ 3 แต่พยานพิมพ์สัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองที่ดินในส่วนที่ต้องพิมพ์เพิ่มเติมในช่องว่าง ซึ่งต้องพิมพ์ชื่อจำเลยที่ 3ผิดไปเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 เพราะความพลั้งเผลอ นางเสมอใจแก้วรัตนอัมพร พยานโจทก์ตอบทนายจำเลยที่ 3 ถามค้านว่าหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย ล.2 และสัญญาจำนองที่ดินระบุไว้ชัดเจนว่า จดทะเบียนจำนองเพื่อเป็นประกันการออกหนังสือค้ำประกันต่อกรุงเทพมหานครของจำเลยที่ 1 แต่ปรากฏว่าหนังสือสัญญาต่อท้ายในข้อ 1 แทนที่จะพิมพ์ชื่อจำเลยที่ 3 กลับมีชื่อของจำเลยที่ 1ลงในช่องว่างแทนจำเลยที่ 3 จึงไม่ตรงกับเจตนาของจำเลยที่ 3แสดงให้เห็นว่าแม้พนักงานของโจทก์ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ก็ยังเห็นว่าจำเลยที่ 3 มีเจตนาจำนองที่ดินเพื่อเป็นประกันหนี้ที่โจทก์ออกหนังสือค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อกรุงเทพมหานครเท่านั้นหาได้มีเจตนาเพื่อประกันหนี้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 ไม่จากเหตุผลดังได้กล่าวมาแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่า การจำนองที่ดินตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดินและสัญญาต่อท้ายเอกสารหมาย จ.7หาได้ครอบคลุมถึงหนี้ตามบัญชีกระแสรายวันที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์อยู่ไม่
ข้อที่โจทก์ฎีกาว่า ตามสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองที่ดิน เอกสารหมาย จ.7 ข้อ 1 มีข้อความว่าจำเลยที่ 3 จดทะเบียนจำนองที่ดินเพื่อประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ในหนี้ตามฟ้องโจทก์ แต่ในชั้นพิจารณาจำเลยที่ 3 นำพยานบุคคลเข้าสืบว่าการจำนองที่ดินดังกล่าวเป็นการจำนองเพื่อเป็นประกันที่โจทก์ออกหนังสือค้ำประกันจำเลยที่ 1ต่อกรุงเทพมหานคร โดยไม่รวมถึงหนี้ตามฟ้องโจทก์ด้วย อันขัดต่อหนังสือสัญญาจำนองที่ดิน จึงเป็นการสืบพยานบุคคลเพื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความในเอกสาร ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 นั้น เห็นว่า การที่จำเลยที่ 3 นำพยานบุคคลมาสืบว่าการจำนองที่ดินตามสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองที่ดินเอกสารหมาย จ.7เป็นการจำนองเพื่อเป็นประกันการที่โจทก์ออกหนังสือค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อกรุงเทพมหานคร โดยไม่รวมถึงหนี้ตามฟ้องโจทก์ด้วยนั้นเท่ากับเป็นการนำสืบว่าโจทก์กับจำเลยที่ 3 ไม่มีหนี้ตามฟ้องที่จะต้องรับผิดต่อกัน สัญญาจำนองที่ดินเพื่อประกันหนี้ตามฟ้องไม่เกิดขึ้นหรือไม่สมบูรณ์ จึงไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 ที่จำเลยที่ 3 จะนำพยานบุคคลมาสืบประกอบข้ออ้างดังกล่าว”
พิพากษายืน

Share