คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1815/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ความผิดฐานฟ้องเท็จย่อมเกิดขึ้นทันทีที่ฟ้องคดี หาใช่ว่าต้องรอให้คดีนั้นถึงที่สุด หรือต้องฟังว่าผู้เสียหายได้รับความเสียหายหรือไม่ก่อนแต่อย่างใด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 175, 177,264, 268, 91 และให้จำเลยคืนเงิน 5,500 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 175, 177 วรรคสอง, 264, 268 เป็นความผิดหลายกรรมให้เรียงกระทงลงโทษ ฟ้องเท็จจำคุก 1 ปี เบิกความเท็จ2 กรรม จำคุกกระทงละ 1 ปี ปลอมและใช้เอกสารปลอมลงโทษฐานใช้เอกสารปลอมตามมาตรา 268 วรรคสอง จำคุก 1 ปี รวมจำคุก 4 ปีคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องของโจทก์ที่ 2นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาว่าจำเลยกระทำผิดฐานฟ้องเท็จและเบิกความเท็จหรือไม่นั้น ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังได้ว่า โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมในข้อหามีไม้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและเจ้าพนักงานตำรวจยึดไม้แปรรูปไว้เป็นของกลาง จำเลยซึ่งมีตำแหน่งเป็นป่าไม้อำเภอปรางค์กู่ตรวจสอบไม้แปรรูปของกลางแล้ว แต่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นไม้เก่าเกินกว่า 2 ปีหรือไม่ จึงได้ขอให้ผู้เชี่ยวชาญมาพิสูจน์ไม้ดังกล่าว ต่อมาวันที่ 25 พฤษภาคม 2530 พนักงานอัยการจังหวัดศรีสะเกษแจ้งผลเด็ดขาดมีคำสั่งไม่ฟ้องและคืนไม้แปรรูปของกลางแก่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ตามเอกสารหมาย จ.7 หน้า 14 วันที่10 กันยายน 2530 โจทก์ที่ 1 ทำหนังสือร้องเรียนต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยว่าจำเลยและเจ้าพนักงานตำรวจคนหนึ่งเรียกร้องเอาเงินจากโจทก์ที่ 1 ที่ 2 เป็นค่าช่วยเหลือการคืนไม้แปรรูปของกลาง นายบุญส่งเจ้าหน้าที่บริหารงานป่าไม้ 6 สำนักงานป่าไม้จังหวัดศรีสะเกษได้สอบสวนปากคำโจทก์ที่ 1 เกี่ยวกับเรื่องที่ร้องเรียนดังกล่าว วันที่ 10 มีนาคม 2531 จำเลยฟ้องโจทก์ที่ 1 ที่ 2ต่อศาลชั้นต้นตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3735/2531 ว่าข้อความที่โจทก์ที่ 1 ร้องเรียนต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและให้ถ้อยคำต่อนายบุญส่งเป็นความเท็จ ขอให้ลงโทษฐานแจ้งความเท็จวันที่ 7 เมษายน 2531 จำเลยเบิกความเป็นพยานในชั้นไต่สวนมูลฟ้องและวันที่ 3 สิงหาคม 2531 จำเลยเบิกความในชั้นพิจารณาคดีดังกล่าวโดยเบิกความยืนยันต่อศาลว่าข้อความที่โจทก์ที่ 1 ร้องเรียนต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและให้ถ้อยคำต่อนายบุญส่งว่าจำเลยเรียกร้องเอาเงินจากโจทก์ที่ 1 ที่ 2 นั้นเป็นความเท็จสำหรับข้อเท็จจริงอื่นโจทก์ที่ 1 เบิกความเป็นพยานว่าหลังจากโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมตัวประมาณ 10 วันจำเลยมาพูดกับโจทก์ที่ 1 ที่บ้านว่าหากอยากได้ไม้แปรรูปของกลางคืนให้จ่ายเงิน 30,000 บาท แก่จำเลยเมื่อต่อรองกันแล้วจำเลยลดเหลือ20,000 บาท โจทก์ที่ 1 ตกลงและจ่ายเงิน 10,000 บาท ให้จำเลยไปในวันนั้นก่อน ต่อมาอีก 7-8 วัน จำเลยมารับเงินจากโจทก์ที่ 1อีก 10,000 บาท จำเลยเบิกความเป็นพยานเกี่ยวกับเรื่องเงินนี้ว่าโจทก์ที่ 1 ที่ 2 เป็นผู้เอาซองบรรจุเงิน 14,500 บาท มาฝากภริยาจำเลยไว้เพื่อมอบให้แก่จำเลยในขณะจำเลยไม่อยู่บ้าน จำเลยทราบเรื่องดังกล่าวเมื่อกลับเข้าบ้านแล้ว จึงไปพบโจทก์ที่ 1 ที่ 2ที่บ้านเพื่อคืนเงิน โจทก์ที่ 1 ที่ 2 บอกว่าให้เงินจำนวนดังกล่าวไว้เป็นค่าบริการผู้เชี่ยวชาญที่จะมาพิสูจน์ไม้แปรรูปของกลางจำเลยไม่ยอมเอาเงินไว้และคืนเงินแก่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ไปตามบันทึกเอกสารหมาย จ.4 และ จ.6 เห็นว่า จำเลยเคยเบิกความเกี่ยวกับเงินจำนวนดังกล่าวไว้ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องและในชั้นพิจารณาคดีอาญาที่จำเลยฟ้องโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ต่อศาลชั้นต้นตามเอกสารหมาย จ.2และ จ.3 แต่ตามคำเบิกความของจำเลยในชั้นไต่สวนมูลฟ้องเอกสารหมายจ.2 ปรากฏว่า จำเลยเบิกความว่าโจทก์ที่ 1 ที่ 2 นำเงิน 14,500 บาทมาให้ภริยาจำเลยโดยบอกว่าเพื่อเป็นค่าบริการเจ้าหน้าที่ที่จะมาตรวจสอบไม้แปรรูปของกลาง เห็นได้ว่าจำเลยไม่ได้เบิกความถึงมีซองบรรจุเงินดังที่ได้เบิกความไว้ในคดีนี้แต่อย่างใด และมีการเบิกความถึงว่าโจทก์ที่ 1 ที่ 2 บอกภริยาจำเลยเกี่ยวกับเงินที่นำมามอบให้ว่าเป็นค่าอะไรด้วย แต่คดีนี้จำเลยไม่ได้เบิกความไว้เช่นนั้นเลย คงเบิกความอ้างว่าโจทก์ที่ 1 ที่ 2 บอกแก่จำเลยในวันที่จำเลยนำเงินไปคืนโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ว่าเงินดังกล่าวเป็นค่าอะไรซึ่งเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยเพิ่งรู้ว่าโจทก์ที่ 1 ที่ 2ให้เงินดังกล่าวเพื่อเป็นค่าอะไรจากโจทก์ที่ 1 ที่ 2 โดยตรงหาใช่รู้จากภริยาจำเลยตามที่จำเลยเบิกความไว้ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องไม่และตามคำเบิกความของจำเลยในชั้นพิจารณาคดี เอกสารหมาย จ.3ปรากฏว่า จำเลยเบิกความว่า โจทก์ที่ 1 ที่ 2 มาหาจำเลยที่บ้านและขอให้จำเลยช่วยให้ผู้เชี่ยวชาญพิสูจน์ไม้แปรรูปของกลางว่าเป็นไม้เรือนเก่าจะให้ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แก่ผู้เชี่ยวชาญ จำเลยบอกว่าไม่สามารถช่วยได้ โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ได้ฝากซองบรรจุเงินแก่ภริยาจำเลยไว้ในขณะจำเลยเข้าห้องน้ำ แล้วโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ก็กลับไปจำเลยออกจากห้องน้ำจึงเปิดซองพบเงิน 14,500 บาท เห็นได้ว่าจำเลยเบิกความถึงโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ฝากซองบรรจุเงินแก่ภริยาจำเลยในวันเดียวกันกับที่จำเลยอยู่บ้าน เพียงแต่ในขณะนั้นจำเลยเข้าห้องน้ำ จึงไม่ใช่ในวันนั้นจำเลยไม่อยู่บ้านดังจำเลยเบิกความในคดีนี้แต่อย่างใด นอกจากนั้นที่จำเลยเบิกความเกี่ยวกับเอกสารหมายจ.4 และ จ.6 ซึ่งมีข้อความว่าเงินที่โจทก์ที่ 1 ฝากไว้เป็นค่าใช้จ่ายและบริการผู้เชี่ยวชาญมาพิสูจน์ไม้แปรรูปของกลางนั้นเห็นว่า แม้โจทก์ที่ 1 ลงลายมือชื่อไว้ในเอกสารดังกล่าวด้วยก็ตามแต่โจทก์ที่ 1 เบิกความอธิบายว่า ขณะนั้นจำเลยถูกสอบสวนตามหนังสือร้องเรียนของโจทก์ที่ 1 จำเลยต้องการเอกสารดังกล่าวไปอ้างต่อผู้บังคับบัญชา โจทก์ที่ 1 สงสารจำเลยจึงยอมลงลายมือชื่อในเอกสารดังกล่าว นายบุญมา บุตรแสน พยานในเอกสารดังกล่าวก็มาเบิกความเป็นพยานโจทก์ที่ 1 ว่า โจทก์ที่ 1 ยินยอมให้มีข้อความดังกล่าวเพราะจำเลยขอร้องให้โจทก์ที่ 1 ช่วยเหลือเพื่อให้จำเลยพ้นผิดในกรณีที่ถูกสอบสวน จำเลยเองก็เบิกความยอมรับว่านายบุญมาเป็นพยานในเอกสารดังกล่าว ดังนั้นข้อความในเอกสารหมาย จ.4 และ จ.6เกี่ยวกับความเป็นมาของเงินดังกล่าวจึงเชื่อถือไม่ได้ ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ที่ 1 ลงลายมือชื่อในเอกสารดังกล่าวโดยไม่มีข้อโต้แย้งแต่อย่างใด จึงหาเป็นพิรุธไม่พยานหลักฐานจำเลยเป็นไปดังวินิจฉัยจึงหามีน้ำหนักให้รับฟังได้ไม่ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า คำเบิกความของโจทก์ที่ 1 ในชั้นพิจารณาเป็นพิรุธ เพราะในชั้นพิจารณาโจทก์ที่ 1 เบิกความว่า จำเลย ร้อยตำรวจตรีสรฤทธิ์ เพิ่มนาคและพวกโดยสารรถยนต์กระบะไปหาโจทก์ที่ 1 ที่บ้าน แต่ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องโจทก์ที่ 1 เบิกความว่า จำเลย ร้อยตำรวจตรีสรฤทธิ์และพวก 10 คน ไปหาโจทก์ที่ 1 ที่บ้านนั้น เห็นว่า คำเบิกความของโจทก์ที่ 1 ทั้งสองครั้งดังกล่าวไม่ได้แตกต่างกันอันจะเป็นพิรุธแต่อย่างใดเลยและที่จำเลยฎีกายกข้อโต้เถียงเกี่ยวกับพยานหลักฐานโจทก์ที่ 1 ในปัญหานี้อีกนั้นก็ไม่เป็นสาระแก่คดีพอที่จะทำให้พยานหลักฐาน โจทก์ที่ 1 ไม่น่าเชื่อแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์ที่ 1 นำสืบว่า จำเลยได้เรียกร้องเอาเงิน 20,000 บาทจากโจทก์ที่ 1 โดยบอกว่าจะเอาไม้แปรรูปของกลางคืนให้ตามที่โจทก์ที่ 1 มีหนังสือร้องเรียนต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและให้ถ้อยคำต่อนายบุญส่งนั้นเป็นความจริง ดังนั้นการที่จำเลยฟ้องโจทก์ที่ 1 ต่อศาลขอให้ลงโทษฐานแจ้งความเท็จตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3735/2531 ของศาลชั้นต้นดังกล่าวแล้ว โดยที่รู้อยู่แล้วว่าข้อความที่นำมาฟ้องนั้นไม่เป็นความจริง จึงเป็นการเอาความอันเป็นเท็จฟ้องผู้อื่นต่อศาลว่ากระทำความผิดอาญาประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 175 จำเลยมีความผิดฐานฟ้องเท็จ และการที่จำเลยเบิกความต่อศาลในชั้นไต่สวนมูลฟ้องและในชั้นพิจารณายืนยันตามข้อความอันเป็นเท็จดังกล่าวจึงเป็นการเบิกความเท็จ ซึ่งความเท็จนั้นเป็นข้อสำคัญในคดี จำเลยจึงมีความผิดฐานเบิกความเท็จในการพิจารณาคดีอาญา 2 กรรมด้วย ที่จำเลยฎีกาเกี่ยวกับความผิดฐานฟ้องเท็จอีกว่า คดีดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุดและศาลยังมิได้ชี้ชัดว่าโจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด จึงยังไม่เป็นการฟ้องเท็จนั้น เห็นว่า เกี่ยวกับความผิดนี้หาได้มีกฎหมายบัญญัติไว้ดังเช่นฎีกาของจำเลยดังกล่าวด้วยไม่ ฎีกาของจำเลยในปัญหานี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาว่าจำเลยมีความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารปลอมหรือไม่นั้นโจทก์ที่ 1 มีตัวโจทก์ที่ 1 และนายบุญมาเป็นพยานเบิกความสอดคล้องต้องกันว่า เอกสารหมาย จ.4 และ จ.6 ลงวันที่ 8 ตุลาคม 2530และโจทก์ที่ 1 เบิกความว่า จำเลยจะแก้ไขคำว่าตุลาคมในเอกสารหมายจ.4 เป็นคำว่าพฤษภาคมเมื่อใดก็ไม่ทราบ นายบุญมาก็เบิกความว่าในขณะที่พยานลงลายมือชื่อเป็นพยานในเอกสารหมาย จ.4 ไม่มีการแก้ไขเดือนที่ลงไว้ในเอกสารนี้แต่อย่างใดเลย ส่วนจำเลยคงมีแต่ตัวจำเลยเบิกความเป็นพยานว่า วันทำเอกสารดังกล่าวนั้นจำเลยได้แก้ไขเดือนในเอกสารหมาย จ.4 จากตุลาคมเป็นพฤษภาคมเพื่อให้ถูกต้อง แต่จำเลยก็เบิกความด้วยว่า จำเลยเขียนเอกสารหมาย จ.4ก่อนแล้วจึงเขียนเอกสารหมาย จ.6 โดยลอกข้อความมาจากเอกสารหมาย จ.4แต่ลอกไม่ถูกต้องเฉพาะเดือนที่ลงไว้ในเอกสารดังกล่าวเท่านั้นเห็นว่า หากเป็นความจริงดังที่จำเลยเบิกความก็ไม่น่าจะลอกข้อความผิดเฉพาะเกี่ยวกับเดือนเท่านั้น เพราะขณะจำเลยเขียนเอกสารหมาย จ.6ก็ย่อมรู้อยู่แล้วว่าเอกสารหมาย จ.4 ที่แก้ไขแล้วเขียนใหม่เป็นเดือนอะไร ที่จำเลยเบิกความดังกล่าวจึงไม่มีเหตุผลให้น่าเชื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์ที่ 1 นำสืบว่าจำเลยเขียนเดือนตุลาคมในเอกสารหมาย จ.4 และ จ.6 ถูกต้องตรงกับความจริง ต่อมาจำเลยได้แก้ชื่อเดือนในเอกสารหมาย จ.4 ซึ่งอยู่กับจำเลยเป็นเดือนพฤษภาคมในภายหลัง โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ที่ 1 เป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจ จึงเป็นการทำเอกสารปลอม และการทำเอกสารปลอมดังกล่าวก็เพื่อที่จำเลยต้องการจะใช้พิสูจน์ข้ออ้างที่ว่าโจทก์ที่ 1 นำเงินมาฝากไว้ให้จำเลยเอง และจำเลยก็รีบนำเงินไปคืนแก่โจทก์ที่ 1 โดยเร็วหาใช่เพิ่งนำเงินไปคืนเมื่อโจทก์ที่ 1มีหนังสือร้องเรียนต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่10 กันยายน 2530 แล้วไม่ซึ่งเป็นข้อความเท็จ เมื่อจำเลยนำเอกสารหมาย จ.4 มาสืบเป็นพยานต่อศาลในคดีที่จำเลยฟ้องโจทก์ที่ 1 ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3735/2531 ของศาลชั้นต้น จึงเป็นกรณีที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 โดยตรง จำเลยย่อมมีความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารปลอมดังคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง…”
พิพากษายืน

Share