คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1585/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า พยานหลักฐานของโจทก์ โจทก์ร่วมและจำเลยยังไม่ได้ความชัดแจ้งในเรื่องจำนวนเงินที่จะให้จำเลยคืนหรือใช้ตามคำขอของโจทก์ เห็นสมควรให้ไปว่ากล่าวกันในทางแพ่งโจทก์ฎีกาว่า พยานหลักฐานที่โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบมาฟังได้แน่ชัดว่าจำเลยยักยอกเอาเงินตามจำนวนที่โจทก์ขอมาจริงฎีกาของโจทก์เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการฟังพยานหลักฐานว่าควรเชื่อได้เพียงใดเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อศาลล่างทั้งสองลงโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามฎีกาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรก โจทก์ร่วมมีหนังสือร้องทุกข์ถึงหัวหน้าพนักงานสอบสวน ลงวันที่15 สิงหาคม 2529 สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองเชียงใหม่ได้รับเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2529 ถือว่าผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ตั้งแต่วันที่18 สิงหาคม 2529 ส่วนวิธีการของพนักงานสอบสวนจะปฏิบัติอย่างไรในการลงบันทึกประจำวันเกี่ยวกับคดีเป็นอีกขั้นตอนหนึ่งไม่กระทบถึงวันที่มีการร้องทุกข์โดยถูกต้องแล้ว คดีจึงไม่ขาดอายุความ จำเลยมีการศึกษาระดับปริญญาตรี มีวุฒิภาวะพอเพียงที่จะสำนึกว่าการใดควรไม่ควร ก่อนที่จะได้ลงมือกระทำการนั้น จำเลยใช้โอกาสที่ตนมีหน้าที่ที่ได้รับความไว้วางใจให้ดูแลดำเนินกิจการของโจทก์ร่วมในฐานะผู้จัดการ ทำการทุจริตเป็นเวลาหลายเดือนติดต่อกันจึงไม่มีเหตุรอการลงโทษ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, 83กับให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 1,245,783.72 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา สหกรณ์ออมทรัพย์ป่าไม้ภาคเหนือ จำกัดผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก 83 ให้จำคุก 1 ปีกับให้จำเลยคืนหรือชดใช้เงิน 1,245,783.72 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอที่ให้จำเลยคืนหรือชดใช้เงิน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนดไม่เกิน 5 ปี คดีจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรกโจทก์ขอมาในฎีกาว่าให้จำเลยคืนหรือชดใช้เงินจำนวน 1,245,783.72 บาทซึ่งในเรื่องจำนวนเงินที่จะให้จำเลยคืนหรือใช้ตามคำขอของโจทก์นี้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า พยานหลักฐานของโจทก์ โจทก์ร่วมและจำเลยยังไม่ได้ความชัดแจ้ง เห็นสมควรให้ไปว่ากล่าวกันในทางแพ่งซึ่งโจทก์ฎีกาในปัญหานี้ว่าพยานหลักฐานที่โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบมาฟังได้แน่ชัดว่า จำเลยยักยอกเอาเงินจำนวนตามที่ขอมาท้ายฎีกาของโจทก์ร่วมไปจริงซึ่งเห็นได้ว่าฎีกาของโจทก์ดังกล่าวเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการฟังพยานหลักฐานว่าควรจะเชื่อได้เพียงใดจึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทกฎหมาย ดังกล่าวศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คดีคงมีปัญหาวินิจฉัยเฉพาะตามฎีกาของจำเลยที่ได้รับอนุญาตให้ฎีกามาว่าที่จำเลยนำเงินของโจทก์ร่วมไปนั้น จะเป็นการกระทำที่เป็นความผิดตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาหรือไม่
จำเลยฎีกาในข้อต่อมาว่า โจทก์ร่วมรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2529 โจทก์ร่วมมาร้องทุกข์ดำเนินคดีต่อจำเลยเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2529 เกิน 3 เดือน คดีของโจทก์ร่วมจึงขาดอายุความจำเลยฎีกาอ้างว่าโจทก์ร่วมร้องทุกข์ในวันที่ 9 กันยายน 2529 โดยถือเอาตามบันทึกประจำวัน ซึ่งเป็นวันที่พนักงานสอบสวนลงบันทึกประจำวันในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี เป็นวันร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีของโจทก์ร่วม ศาลฎีกาได้พิจารณาถึงการร้องทุกข์ของโจทก์ร่วมให้ดำเนินคดีต่อจำเลยแล้วปรากฏว่าโจทก์ร่วมได้มีหนังสือถึงหัวหน้าพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองเชียงใหม่ ขอแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีต่อคณะกรรมการสหกรณ์ชุดที่ 2/2528 กับพวก ซึ่งมีจำเลยรวมอยู่ด้วย หนังสือแจ้งความร้องทุกข์ของโจทก์ร่วมดังกล่าวนั้น ลงวันที่ 15 สิงหาคม 2529และสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองเชียงใหม่ ได้รับหนังสือร้องทุกข์ของโจทก์ร่วม เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2529 โดยมีการสั่งการในหนังสือดังกล่าวให้ร้อยตำรวจเอกวสันต์ ดำเนินการ ความในหนังสือนั้นปรากฏชัดเจนว่า ขอให้ดำเนินคดีต่อจำเลยและพวก ในข้อหายักยอกฉ้อโกงและปลอมแปลงเอกสารเอาเงินของโจทก์ร่วมไป ดังนั้นตามหนังสือนี้เป็นที่เห็นได้ว่าโจทก์ร่วมในฐานะผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อพนักงานสอบสวนว่ามีการกระทำผิดและจำเลยเป็นผู้กระทำผิดโดยมีเจตนาจะให้จำเลยได้รับโทษ อันถือว่าเป็นคำร้องทุกข์ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(7) แล้วตั้งแต่วันที่ 18 สิงหาคม 2529 ซึ่งเป็นวันที่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองเชียงใหม่ได้รับหนังสือแจ้งความร้องทุกข์ของโจทก์ร่วม ส่วนวิธีการของพนักงานสอบสวนจะได้ปฏิบัติการในหน้าที่โดยมีการลงบันทึกประจำวันเมื่อใดนั้นเป็นอีกขั้นตอนหนึ่ง ซึ่งไม่กระทบถึงวันที่มีการร้องทุกข์โดยถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดไว้ในเมื่อโจทก์ร่วมร้องทุกข์ไว้ตั้งแต่วันที่ 18 สิงหาคม 2529 แล้วแม้จะฟังตามฎีกาของจำเลยว่าโจทก์ร่วมรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิดตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2529 ก็ตาม กรณีจึงเป็นที่เห็นได้ว่า โจทก์ร่วมได้ร้องทุกข์ไว้ในกำหนด 3 เดือนแล้ว คดีจึงไม่ขาดอายุความตามที่จำเลยฎีกา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในปัญหานี้ ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
จำเลยฎีกาในข้อสุดท้ายขอให้รอการลงโทษจำเลยนั้นศาลฎีกาได้พิจารณาถึงพฤติการณ์ในการกระทำความผิดของจำเลยแล้ว เห็นว่าจำเลยเป็นผู้ที่มีการศึกษาในระดับปริญญาตรี มีวุฒิภาวะพอเพียงที่จะสำนึกได้ว่าการใดควรไม่ควรอย่างไรก่อนที่จะได้ลงมือกระทำการนั้นการกระทำผิดตามที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นเป็นกรณีที่จำเลยใช้โอกาสในการที่ตนมีหน้าที่ซึ่งได้รับความไว้วางใจให้ดูแลและดำเนินกิจการของโจทก์ร่วมในฐานะที่เป็นผู้จัดการ ทำการทุจริตติดต่อกันมาเป็นเวลาหลายเดือน และโจทก์ร่วมต้องเสียหายไปเป็นเงินจำนวนมากเช่นนี้ ศาลฎีกาเห็นว่าไม่มีเหตุอันควรปรานีที่จะรอการลงโทษให้จำเลยฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share