คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1469/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

สายไฟฟ้าซึ่งมีกระแสไฟฟ้าเดินอยู่และหม้อแปลงไฟฟ้าเป็นทรัพย์อันเป็นของเกิดอันตรายได้โดยสภาพ จำเลยผู้มีทรัพย์ดังกล่าวไว้ในครอบครองจึงต้องรับผิดเพื่อความเสียหายที่เกิดจากทรัพย์ดังกล่าว เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเองตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 437 แม้จำเลยมิได้ประมาทเลินเล่อทำให้เกิดไฟไหม้ จำเลยก็ต้องรับผิดในความเสียหายของโจทก์อันเกิดจากสายไฟฟ้าและหม้อแปลงไฟฟ้าของจำเลยเช่นนั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติการไฟฟ้านครหลวง พ.ศ. 2501 จำเลยเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองเสาไฟฟ้าและหม้อแปลงกระแสไฟฟ้า (ที่ถูกน่าจะเป็นหม้อแปลงไฟฟ้า) ซึ่งติดตั้งอยู่บริเวณริมถนนซอยสมเด็จพระเจ้าตากสิน 4 หน้าตึกแถวเลขที่ 359/9 และ 359/10ซอยสมเด็จพระเจ้าตากสิน ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน แขวงบางยี่เรือเขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2530หม้อแปลงไฟฟ้าและกระแสไฟฟ้าที่ต่อเข้าและออกจากหม้อแปลงไฟฟ้าซึ่งตั้งอยู่หน้าบ้านเลขที่ 359/9 และ 359/10 ดังกล่าวได้เกิดไฟลุกไหม้ขึ้นและลุกลามไปตามสายไฟฟ้าบริเวณใกล้เคียงเกิดสะเก็ดเปลวไฟหล่นลงและกระเด็นเข้าไปในห้องของตึกแถวเลขที่ 359/9และ 359/10 ทำให้เกิดไฟลุกไหม้ขึ้นในอาคารตึกแถวดังกล่าว และลุกลามไปไหม้ตึกแถวข้างเคียง ทำให้เกิดความเสียหายต่ออาคารและทรัพย์สินในตึกแถวเลขที่ 359/9 ถึง 359/18 ของโจทก์รวม 10 คูหาจำเลยต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เนื่องจากเหตุที่เกิดขึ้นเกิดจากความประมาทของจำเลยที่ติดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้าใกล้หน้าต่างตึกแถวของโจทก์ห่างประมาณ 90 เซนติเมตร เป็นการผิดระเบียบวิธีการติดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้าที่วางไว้ และการต่อสายไฟฟ้าเข้ากับหม้อแปลงไฟฟ้าไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ทำให้ขั้วที่ต่อไม่แน่น เมื่อเกิดการเดินของกระแสไฟฟ้าขึ้นก็จะเกิดความร้อนที่ขั้ว หรือมิฉะนั้นก็ปล่อยให้มีการใช้กระแสไฟฟ้าไหลผ่านหม้อแปลงไฟฟ้าดังกล่าวเกินจำนวนที่หม้อแปลงไฟฟ้าจะสามารถให้ใช้งานได้หรือหม้อแปลงไฟฟ้าดังกล่าวได้ใช้งานไปนานจนเสื่อมสภาพแล้วโดยจำเลยมิได้ตรวจดูแลรักษาให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัยและใช้งานได้ดี จำเลยมิได้ดูแลรักษาและป้องกันอันตรายต่อประชาชนตามหน้าที่ตามวิสัยเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายต้องเสียค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างซ่อมแซมตึกแถวทั้ง 10 คูหาให้อยู่ในสภาพที่สามารถใช้เป็นที่อยู่อาศัยได้ดังเดิมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,000,000 บาท จำเลยต้องชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย นับแต่วันเกิดเหตุถึงวันฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหายจำนวน 1,075,000 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ตึกแถว 10 คูหา ที่ได้รับความเสียหายตามฟ้อง และฟ้องของโจทก์ขาดอายุความแล้ว เหตุที่เกิดเพลิงไหม้มิได้เกิดจากสะเก็ดเปลวไฟที่มาจากหม้อแปลงไฟฟ้าและสายไฟฟ้าซึ่งเป็นทรัพย์อันตรายซึ่งอยู่ในความครอบครองของจำเลยโดยต้นเพลิงเกิดการลุกไหม้ขึ้นจากภายในชั้นที่ 3 ของห้องเลขที่ 359/9 และ 359/10 หม้อแปลงไฟฟ้าของจำเลยตั้งอยู่ใกล้บริเวณชั้นที่ 2 หน้าตึกแถวระหว่างห้องดังกล่าวหากเกิดประกายไฟจากไฟฟ้าลัดวงจรหรือลุกไหม้ก็ไม่สามารถกระเด็นเข้าไปถึงชั้นที่ 3 ได้เนื่องจากมีระยะห่างกันประมาณ 2 เมตร และมีกันสาดคอนกรีตบังอยู่ ทั้งประกายไฟไม่สามารถลุกลามไปติดสายไฟฟ้าแรงสูงซึ่งอยู่ด้านบนได้เพราะเป็นสายอลูมิเนียมเปลือยไม่มีฉนวนห่อหุ้มอันจะเป็นเชื้อเพลิงได้ จำเลยติดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้าก่อนโจทก์ปลูกสร้างตึกแถวที่เสียหาย และได้ปฏิบัติตามระเบียบและหลักวิชาในการดูแลรักษาหม้อแปลงไฟฟ้าให้อยู่ในสภาพปกติและปลอดภัยทุกประการเป็นประจำ หม้อแปลงไฟฟ้าดังกล่าวของจำเลยอยู่ในสภาพดีจำเลยไม่ได้กระทำด้วยความประมาทให้โจทก์ได้รับความเสียหายโจทก์ไม่ได้รับความเสียหายมากตามฟ้อง ค่าเสียหายของโจทก์รวมแล้วไม่เกิน 30,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระเงินให้โจทก์จำนวน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ตามที่จำเลยฎีกาเป็นข้อแรกว่า จำเลยเป็นฝ่ายประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายหรือไม่ ในการวินิจฉัยปัญหานี้จำเป็นต้องวินิจฉัยก่อนว่าเหตุเพลิงไหม้คดีนี้เกิดจากหม้อแปลงไฟฟ้าหรือสายไฟฟ้าซึ่งอยู่ในความครอบครองของจำเลยหรือไม่ ในปัญหานี้พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลยฟังได้ว่าเหตุที่เกิดไฟไหม้ตึกแถว 10 คูหา ของโจทก์เสียหายเนื่องจากมีกระแสไฟฟ้าลัดวงจรที่เสาไฟฟ้าและหม้อแปลงไฟฟ้าซึ่งอยู่ในความครอบครองของจำเลยโดยที่สายไฟฟ้าซึ่งมีกระแสไฟฟ้าเดินอยู่และหม้อแปลงไฟฟ้าเป็นทรัพย์อันเป็นของเกิดอันตรายได้โดยสภาพจำเลยผู้มีทรัพย์ดังกล่าวไว้ในครอบครองจึงต้องรับผิดเพื่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากทรัพย์ดังกล่าว เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 437 เมื่อจำเลยไม่ได้นำพยานหลักฐานมาสืบเลยว่าเหตุที่เกิดไฟไหม้ตึกแถวของโจทก์ดังกล่าวเกิดจากเหตุสุดวิสัยหรือเกิดเพราะความผิดของโจทก์แต่อย่างใดจึงฟังไม่ได้เช่นนั้น และเมื่อคดีฟังได้ว่า เหตุเพลิงไหม้ตึกแถวของโจทก์เสียหายเกิดจากสายไฟฟ้าและหม้อแปลงไฟฟ้าซึ่งเป็นของเกิดอันตรายได้โดยสภาพที่อยู่ในครอบครองของจำเลย โดยมิได้เกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือเกิดเพราะความผิดของโจทก์ผู้ต้องเสียหายเช่นนี้แล้ว แม้จำเลยมิได้ประมาทเลินเล่อทำให้เกิดไฟไหม้ดังกล่าว จำเลยก็ต้องรับผิดในความเสียหายของโจทก์อันเกิดจากสายไฟฟ้าและหม้อแปลงไฟฟ้าของจำเลยเช่นนั้น จึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยว่าเหตุที่เกิดไฟไหม้ตึกแถวของโจทก์เสียหายเกิดขึ้นเนื่องจากจำเลยประมาทเลินเล่อหรือไม่ต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายจำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยให้โจทก์นั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share