คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1434/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามวัตถุที่ประสงค์แห่งสัญญาซื้อขายทั้งสองฉบับโดยสภาพหรือโดยเจตนาของโจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่อาจระบุได้ว่าจะเป็นผลสำเร็จได้ก็แต่ด้วยการชำระหนี้ ณ เวลาที่กำหนดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 388 เนื่องจากสัญญาซื้อขายทั้งสองฉบับมิได้ระบุให้ชัดแจ้งและเด็ดขาดว่าหากจำเลยที่ 1ไม่ส่งสินค้าให้โจทก์ภายในกำหนด สัญญาซื้อขายทั้งสองฉบับเป็นอันเลิกกันทันที ฉะนั้น การที่โจทก์จะใช้สิทธิเลิกสัญญาก็ต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 ซึ่งบัญญัติเป็นหลักทั่วไปว่าถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งไม่ชำระหนี้ อีกฝ่ายหนึ่งจะกำหนดระยะเวลาพอสมควร แล้วบอกกล่าวให้ฝ่ายนั้นชำระหนี้ภายในระยะเวลานั้นก็ได้ ถ้าและฝ่ายนั้นไม่ชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนดให้ไซร้อีกฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญาเสียก็ได้ เมื่อจำเลยที่ 1 กระทำผิดสัญญาซื้อขายโดยไม่ส่งมอบสินค้าให้โจทก์ให้ถูกต้อง โจทก์ผู้ซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาตามสัญญาข้อ 8 วรรคแรก และทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกร้องเงินหลักประกันจากธนาคารผู้ออกหนังสือค้ำประกันตามสัญญาข้อ 7 และถ้าโจทก์จัดซื้อสิ่งของจากบุคคลอื่นภายในกำหนด 3 เดือน นับแต่วันที่บอกเลิกสัญญานี้ด้วยตามสัญญาข้อ 8 วรรคสอง นอกจากสิทธิตามสัญญาข้อ 8 โจทก์ยังอาจใช้สิทธิตามสัญญาข้อ 9 วรรคแรก กล่าวคือในกรณีที่โจทก์ไม่ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาตามสัญญาข้อ 8 โจทก์มีสิทธิเรียกค่าปรับจากจำเลยที่ 1 เป็นรายวันในอัตราร้อยละ 0.2 ของราคาสิ่งของที่ยังไม่ได้รับมอบนับแต่วันที่ถัดจากวันครบกำหนดตามสัญญาจนถึงวันที่จำเลยที่ 1 ผู้ขายได้นำสินค้ามาส่งให้แก่โจทก์ผู้ซื้อและตามสัญญาข้อ 9 วรรคสอง ระบุว่า ในระหว่างที่มีการปรับนั้นถ้าโจทก์เห็นว่าจำเลยที่ 1 ไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาต่อไปได้โจทก์จะใช้สิทธิตามสัญญาข้อ 8 ทั้งสองวรรคนอกเหนือจากการปรับจนถึงวันบอกเลิกสัญญาด้วยก็ได้ ดังนี้ เมื่อข้อความตามหนังสือทวงหนี้ และหนังสือบอกเลิกสัญญาทั้งสองฉบับแสดงว่าโจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาตามสัญญาทั้งสองฉบับข้อ 8 วรรคแรก โจทก์ก็ต้องรับผลของสัญญาข้อ 8 วรรคสอง โจทก์จะเลือกรับผลคนละเหตุโดยอาศัยสัญญาข้อ 9 วรรคแรกกับวรรคสองตามที่โจทก์ต้องการนั้นไม่ได้โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าปรับเป็นรายวันตามสัญญาซื้อขายทั้งสองฉบับ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาขายสินค้าให้โจทก์ 2 ฉบับโดยจำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบสินค้าให้ตามสัญญา โจทก์เตือนจำเลยทั้งสองให้ปฏิบัติตามสัญญา แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย โจทก์จึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญาทั้งสองฉบับ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าปรับตามสัญญาทั้งสองฉบับในอัตราร้อยละ 0.2 ของราคาสิ่งของที่ยังไม่ส่งมอบให้โจทก์ คิดเป็นรายวันตามสัญญาฉบับแรกเป็นเวลา 258 วันเป็นเงิน 100,413.60 บาท ตามสัญญาฉบับที่ 2 เป็นเวลา 185 วันเป็นเงิน 81,268.28 บาท ภายใน 7 วัน จำเลยทั้งสองเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 207,799.12 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน 181,681.88 บาทนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 18 และ19 มีนาคม 2528 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาขายแม็กเนติค คอนแทคเตอร์เครื่องสูบน้ำ และขายอะไหล่ตู้คอนโทรลเลอร์ โรงกรองน้ำให้โจทก์แล้วผิดสัญญาโดยไม่ส่งสินค้าให้โจทก์ภายในวันที่ 15 มิถุนายน 2528กับวันที่ 14 กันยายน 2528 ตามลำดับ วันที่ 21 สิงหาคม 2528โจทก์มีหนังสือทวงถามให้ปฏิบัติตามสัญญาฉบับแรกมีใจความขอให้จำเลยทั้งสองส่งมอบสินค้าให้โจทก์ภายใน 7 วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือ วันที่ 10 มีนาคม 2529 และวันที่ 22 เมษายน2529 โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาทั้งสองฉบับมีใจความขอบอกเลิกสัญญาโดยจำเลยทั้งสองจะต้องเสียค่าปรับเป็นรายวันในอัตราร้อยละ0.2 ของราคาสินค้าทั้งหมด และต้องรับผิดชดใช้ราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นในกรณีที่โจทก์ได้จัดซื้อสินค้าอย่างเดียวกันภายในกำหนด 3 เดือนนับตั้งแต่วันที่บอกเลิกสัญญา วันที่ 10 เมษายน 2531 โจทก์มีหนังสือให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำเงินค่าปรับไปชำระมีใจความให้นำเงินค่าปรับตามสัญญาทั้งสองฉบับไปชำระให้โจทก์ คดีมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิเรียกค่าปรับเป็นรายวันตามสัญญาซื้อขายทั้งสองฉบับข้อ 9 หรือไม่ พิเคราะห์แล้ว เมื่อจำเลยที่ 1 กระทำผิดสัญญาซื้อขายตามสำเนาภาพถ่ายสัญญาซื้อขายเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 และ 5 โดยไม่ส่งมอบสินค้าให้โจทก์ให้ถูกต้องโจทก์ผู้ซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาตามสัญญาข้อ 8 วรรคแรก และทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกร้องเงินหลักประกันจากธนาคารทหารไทย จำกัดสาขาเตาปูน ผู้ออกหนังสือค้ำประกันตามสัญญาข้อ 7 และถ้าโจทก์จัดซื้อสิ่งของจากบุคคลอื่นภายในกำหนด 3 เดือน นับแต่วันที่บอกเลิกสัญญา จำเลยที่ 1 ยอมรับผิดชดใช้ราคาที่เพิ่มขึ้นจากราคาที่กำหนดไว้ในสัญญานี้ด้วยตามสัญญาข้อ 8 วรรคสอง นอกจากสิทธิตามสัญญาข้อ 8 โจทก์ยังอาจใช้สิทธิตามสัญญาข้อ 9 วรรคแรกกล่าวคือ ในกรณีที่โจทก์ไม่ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาตามสัญญาข้อ 8โจทก์มีสิทธิเรียกค่าปรับจากจำเลยที่ 1 เป็นรายวันในอัตราร้อยละ 0.2ของราคาสิ่งของที่ยังไม่ได้รับมอบนับแต่วันที่ถัดจากวันครบกำหนดตามสัญญาจนถึงวันที่จำเลยที่ 1 ผู้ขายได้นำสินค้ามาส่งให้แก่โจทก์ผู้ซื้อ และตามสัญญาข้อ 9 วรรคสอง ระบุว่าในระหว่างที่มีการปรับนั้น ถ้าโจทก์เห็นว่าจำเลยที่ 1 ไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาต่อไปได้ โจทก์จะใช้สิทธิตามสัญญาข้อ 8 ทั้งสองวรรค นอกเหนือจากการปรับจนถึงวันบอกเลิกสัญญาด้วยก็ได้ เห็นว่า ตามวัตถุที่ประสงค์แห่งสัญญาคือการซื้อขายแม็กเนติค คอนแทคเตอร์เครื่องสูบน้ำ และอะไหล่ตู้คอนโทรลเลอร์โดยสภาพหรือโดยเจตนาของโจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่อาจระบุได้ว่าจะเป็นผลสำเร็จได้ก็แต่ด้วยการชำระหนี้ ณ เวลาที่กำหนดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 388 เนื่องจากสัญญาซื้อขายทั้งสองฉบับมิได้ระบุให้ชัดแจ้งและเด็ดขาดว่าหากจำเลยที่ 1 ไม่ส่งสินค้าให้โจทก์ภายในกำหนด สัญญาซื้อขายทั้งสองฉบับเป็นอันเลิกกันทันที ฉะนั้น การที่โจทก์จะใช้สิทธิเลิกสัญญาก็ต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 ซึ่งบัญญัติเป็นหลักทั่วไปว่าถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งไม่ชำระหนี้ อีกฝ่ายหนึ่งจนกำหนดระยะเวลาพอสมควร แล้วบอกกล่าวให้ฝ่ายนั้นชำระหนี้ภายในระยะเวลานั้นก็ได้ ถ้าและฝ่ายนั้นไม่ชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนดให้ไซร้ อีกฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญาเสียก็ได้ การที่โจทก์ทวงถามให้จำเลยที่ 1 ส่งสินค้าตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 6 ก็เป็นไปตามวิธีการก่อนเลิกสัญญาตามมาตรา 387 หรือตามสัญญาซื้อขายข้อ 8นั่นเอง ถ้าหากโจทก์มุ่งประสงค์เรียกค่าปรับเป็นรายวันในอัตราร้อยละ 0.2 ของราคาสิ่งของที่ยังไม่ได้รับมอบตามสัญญาซื้อขายทั้งสองฉบับข้อ 9 วรรคแรก และวรรคสองดังที่โจทก์ฎีกาจริงแล้วเหตุใดจึงไม่ปรากฏข้อความเรียกร้องค่าปรับหนังสือทวงถามทั้ง ๆที่ในวันที่ออกหนังสือทวงถามเป็นระยะเวลาล่วงเลยกำหนดส่งสินค้าตามสัญญานานถึง 2 เดือนเศษแล้ว ส่วนที่โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาทั้งสองฉบับมีใจความแสดงความประสงค์เรียกค่าปรับกับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชดใช้ราคาที่เพิ่มขึ้นในกรณีที่โจทก์จัดซื้อสินค้าอย่างเดียวกันต่อมานั้น ก็ไม่อาจกล่าวได้ว่าโจทก์ใช้สิทธิตามสัญญาข้อ 9 วรรคสอง เพราะกรณีที่โจทก์เห็นว่าจำเลยทั้งสองผู้ขายไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาต่อไป โจทก์จะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกร้องเงินหลักประกันจากธนาคารทหารไทย จำกัดสาขาเตาปูน พร้อมกับเงินชดใช้ราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นภายหลังนั้นต้องเป็นกรณีในระหว่างที่มีการปรับจริง ๆ ตามข้อความในสัญญาข้อ 9วรรคแรกอยู่เท่านั้น เนื่องจากสัญญาข้อ 9 วรรคสอง ระบุไว้ชัดเจนว่าโจทก์จะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกร้องเงินดังกล่าวตามสัญญาข้อ 8 ทั้งสองวรรคอีกได้ ต้องเป็นกรณีที่อยู่ในระหว่างที่มีการปรับเมื่อข้อความตามหนังสือทวงหนี้ และหนังสือบอกเลิกสัญญาทั้งสองฉบับ แสดงว่า โจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาตามสัญญาทั้งสองฉบับข้อ 8วรรคแรก โจทก์ก็ต้องรับผลของสัญญาข้อ 8 วรรคสอง โจทก์จะเลือกรับผลคนละเหตุโดยอาศัยสัญญาข้อ 9 วรรคแรกกับวรรคสองตามที่โจทก์ต้องการนั้นไม่ได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าปรับเป็นรายวันตามสัญญาซื้อขายทั้งสองฉบับ
พิพากษายืน

Share