คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1276/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยได้ทำสัญญาซื้ออุปกรณ์ไฟฟ้าจากโจทก์ และโจทก์รับจ้างจำเลยประกอบตู้ไฟฟ้า โดยจำเลยได้รับอุปกรณ์ไฟฟ้าครบถ้วนและได้ชำระเงินให้โจทก์บางส่วนแล้ว คงค้างชำระค่าอุปกรณ์ไฟฟ้าและค่าจ้างประกอบตู้ไฟฟ้างวดที่ 4 ซึ่งจำเลยอ้างว่าโจทก์ผิดสัญญาไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบเสนอราคาที่ระบุว่าโจทก์จะต้องให้การไฟฟ้านครหลวงยอมรับอุปกรณ์ไฟฟ้าเสียก่อน เห็นว่าหากโจทก์จำเลยมีเจตนาให้นำเงื่อนไขดังกล่าวมาใช้บังคับด้วยก็น่าจะระบุลงไว้ในสัญญาที่ทำขึ้นในภายหลังให้ชัดเจน เช่นเดียวกับเงื่อนไขอื่น ๆ อีกทั้งจำเลยก็ไม่ควรรับมอบอุปกรณ์ไฟฟ้าจากโจทก์จนกว่าการไฟฟ้านครหลวงจะได้รับรองอุปกรณ์ไฟฟ้าดังกล่าว แสดงว่าโจทก์ จำเลยไม่ได้ตกลงเงื่อนไขดังกล่าวไว้ ส่วนที่ว่าโจทก์ไม่ได้ออกหนังสือรับประกันให้นั้น ปรากฏว่าในสัญญามีข้อความเขียนด้วยลายมือว่า “โดยมีระยะเวลารับประกัน 1 ปีฯ” ถือว่าโจทก์ได้รับประกันให้จำเลยแล้ว จึงฟังได้ว่าโจทก์ไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยมีหน้าที่ต้องชำระเงินค่าอุปกรณ์ไฟฟ้าและค่าจ้างประกอบตู้ไฟฟ้างวดที่ 4 ให้โจทก์ ส่วนที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้จำเลยชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยโดยให้นับถัดจากวันฟ้อง ทั้งที่ระบุในคำวินิจฉัยว่าโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้เมื่อผิดนัดเห็นได้ชัดว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษาโดยผิดพลาดหรือพลั้งเผลอ เมื่อโจทก์ฎีกาขอให้ศาลฎีกาบังคับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลฎีกาจึงมีอำนาจแก้ไขคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนนี้ด้วยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2528 จำเลยได้ตกลงซื้ออุปกรณ์ไฟฟ้า ตู้ไฟฟ้า หม้อแปลง แคแปซิเตอร์แบ๊งค์ และอุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ ไปจากโจทก์ รวม 2 ครั้ง คือ ครั้งที่หนึ่งจำเลยตกลงซื้ออุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับโครงการ เอ็ม พี ดี ทาวเวอร์เป็นเงินทั้งสิ้น 2,331,560 บาท โดยจำเลยได้ชำระค่าสินค้าจำนวนร้อยละ 10 ของค่าสินค้าทั้งหมดให้โจทก์แล้วส่วนที่เหลือจำเลยตกลงชำระให้โจทก์เป็นงวด ๆ จำเลยได้รับสินค้าดังกล่าวไปเรียบร้อยแล้ว และทยอยชำระหนี้จนครบร้อยละ 40 ของค่าสินค้าทั้งหมดในงวดที่ 2 จำเลยคงค้างชำระค่าสินค้าอยู่จำนวนเงิน 1,165,780 บาทครั้งที่สองจำเลยตกลงซื้อตู้ไฟฟ้า หม้อแปลง และแคแปซิเตอร์แบ็งค์ จากโจทก์เป็นเงิน 323,600 บาท โดยจำเลยได้ชำระค่าสินค้าร้อยละ 10 ของค่าสินค้าทั้งหมดให้โจทก์แล้วส่วนที่เหลือจำเลยตกลงชำระให้โจทก์เป็นงวด ๆ รวม 3 งวด แต่ปรากฏว่าจำเลยไม่ยอมชำระค่าสินค้า กล่าวคือ ให้โจทก์ตามกำหนด จำเลยยังคงค้างชำระค่าสินค้าครั้งที่สอง เป็นเงินจำนวน 291,240 บาท การกระทำดังกล่าวทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายดังกล่าว โจทก์ไม่ได้รับค่าสินค้าเป็นเงินจำนวน 1,457,020 บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ1.5 ต่อเดือนนับจากวันที่จำเลยตกเป็นผู้ผิดนัดถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ยทั้งสิ้น 261,584.14 บาท รวมกับต้นเงินเป็นเงินทั้งสิ้น1,718,604.14 บาท ขอให้บังคับจำเลยใช้เงินจำนวน 1,718,604.14 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนจากต้นเงิน1,457,020 บาท นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ที่โจทก์อ้างว่าจำเลยตกลงซื้ออุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับโครงการ เอ็ม พี ดี ทาวเวอร์เป็นเงินทั้งสิ้น 2,331,560 บาท เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2528ไม่เป็นความจริงค่าสินค้าตามฟ้องงวดที่ 1 ถึงงวดที่ 3 จำเลยชำระหมดแล้ว คงค้างชำระงวดที่ 4 ซึ่งเป็นงวดสุดท้ายเพียง 466,311 บาทและจำนวนเงินที่ค้างชำระหนี้โจทก์ก็ยังไม่มีสิทธิเรียกจากจำเลยเพราะโจทก์ยังไม่ปฏิบัติตามสัญญาที่ตกลงกันไว้ คือ อุปกรณ์ต้องผ่านการยอมรับจากการไฟฟ้านครหลวงและโจทก์ต้องมีหนังสือรับประกันสินค้าระยะเวลา 1 ปี นับจากวันตรวจรับงาน ที่โจทก์อ้างว่าจำเลยตกลงซื้อตู้ไฟฟ้า หม้อแปลง และแคแปซิเตอร์แบ็งค์ จากโจทก์เป็นเงิน323,600 บาท เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2528 และยังค้างชำระค่าสินค้าอยู่เป็นเงิน 291,240 บาท นั้น ไม่เป็นความจริง ความจริงค่าสินค้าตามฟ้องจำเลยชำระหมดแล้ว คงค้างชำระงวดที่ 4 ซึ่งเป็นงวดสุดท้ายเพียง 64,720 บาท และจำนวนเงินที่ค้างชำระนี้ โจทก์ก็ยังไม่มีสิทธิเรียกจากจำเลย เพราะโจทก์ยังไม่ปฏิบัติตามสัญญาที่ได้ตกลงกันไว้กับจำเลย กล่าวคือ จำเลยจะชำระงวดที่ 4 แก่โจทก์ก็ต่อเมื่อส่งมอบงานแล้ว และมีหนังสือรับประกันสินค้าระยะเวลา 1 ปี นับจากวันตรวจรับงาน โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนคดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน1,718,604.14 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนในต้นเงิน 1,457,020 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 17,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน925,987 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นให้จำเลยใช้แทนเท่าที่โจทก์ชนะคดี ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยได้ทำสัญญาซื้ออุปกรณ์ไฟฟ้าจากโจทก์และโจทก์รับจ้างจำเลยประกอบตู้ไฟฟ้า จำเลยได้รับอุปกรณ์ไฟฟ้าครบถ้วนและได้ชำระเงินให้โจทก์บางส่วนแล้ว คงค้างชำระค่าอุปกรณ์ไฟฟ้าและค่าจ้างประกอบตู้ไฟฟ้างวดที่ 4 ซึ่งจำเลยอ้างว่าโจทก์ผิดสัญญาไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ จำเลยจึงไม่ชำระเงินงวดที่ 4ให้ เห็นว่า ตามข้อ 5 ของสัญญาทั้งสองฉบับเป็นตัวพิมพ์ว่า”เงื่อนไขอื่น ๆ ให้ถือตามเงื่อนไขใน เจนเนอรัล คอนดิชั่น ฟอร์มยู ที เอช 106 ที่แนบท้ายมานี้” และมีลายมือเขียนด้วยหมึกว่า”(ไม่เห็นมี) ให้ถือตามเงื่อนไขข้างล้าง” สำหรับลายมือเขียนนั้นนายเดชพล วงศ์มิติรุ่งเรือง กรรมการจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อไว้โจทก์ไม่ได้แนบเจนเนอรัล คอนดิชั่น ฟอร์ม ยู ที เอช 106ให้จำเลยไปด้วย และมีข้อความว่า “ให้ถือตามเงื่อนไขข้างล่าง”แสดงว่าเงื่อนไขที่โจทก์เสนอไปก่อนหน้านั้น จำเลยไม่ยอมรับและมีการตกลงตามเงื่อนไขใหม่ที่จำเลยต่อสู้ว่า จะต้องนำเงื่อนไขในใบเสนอราคาที่ระบุว่า โจทก์จะต้องให้การไฟฟ้านครหลวงยอมรับอุปกรณ์ไฟฟ้าเสียก่อน มาพิจารณาประกอบเป็นเงื่อนไขในสัญญาด้วยนั้น เห็นว่าหากโจทก์จำเลยมีเจตนาให้นำเงื่อนไขดังกล่าวมาใช้บังคับด้วยก็น่าจะระบุลงไว้ในสัญญาซึ่งเป็นเอกสารที่ทำขึ้นภายหลังให้ชัดเจนเช่นเดียวกับเงื่อนไขอื่น ๆ อนึ่งหากมีเงื่อนไขดังที่จำเลยนำสืบจริงจำเลยก็ไม่ควรรับมอบอุปกรณ์ไฟฟ้าจากโจทก์จนกว่าการไฟฟ้านครหลวงจะได้รับรองอุปกรณ์ไฟฟ้าดังกล่าว การที่จำเลยยอมรับมอบอุปกรณ์ไฟฟ้าไว้แสดงว่าโจทก์จำเลยไม่ได้ตกลงเงื่อนไขดังกล่าวไว้สำหรับข้อที่จำเลยว่า โจทก์ไม่ได้ออกหนังสือรับประกันให้จำเลยนั้นปรากฏตามสัญญาทั้งสองฉบับหน้าแรกตอนล่าง มีข้อความเขียนด้วยลายมือเขียนว่า”โดยมีระยะเวลารับประกัน 1 ปี นับจากวันตรวจรับงาน” ถือว่าโจทก์ได้รับประกันให้จำเลยแล้วตามสัญญา โจทก์ไม่จำเป็นจะต้องออกหนังสือรับประกันให้จำเลยอีก ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า โจทก์ไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาจำเลยจึงมีหน้าที่ชำระเงินค่าอุปกรณ์ไฟฟ้างวดที่ 4 และค่าจ้างประกอบตู้ไฟฟ้างวดที่ 4 ให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ1.5 ต่อเดือนนับแต่วันผิดนัด
ส่วนที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน925,987 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน โดยให้นับถัดจากวันฟ้อง ทั้งที่ระบุในคำวินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้เมื่อผิดนัดนั้น เห็นได้ชัดว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษาโดยผิดพลาดหรือพลั้งเผลอ กรณีมิใช่ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจลดค่าเสียหายให้แก่จำเลยตามที่จำเลยแก้ฎีกา เมื่อโจทก์ฎีกาขอให้ศาลฎีกาบังคับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลฎีกาจึงมีอำนาจพิพากษาแก้ไขคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนนี้ด้วยได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความรวม 5,000 บาท

Share