แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีมิได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้จึงใช้บังคับได้จนกว่าจะมีการบอกเลิกสัญญา การที่โจทก์ตกลงกับจำเลยให้ชำระหนี้เพื่อลดหนี้ลงและปลดจำนองทรัพย์สินที่จำนองเป็นประกันไว้ไปบางรายการและได้มีการชำระหนี้บางส่วนตามที่ตกลงกันไว้เป็นพฤติการณ์ที่แสดงว่าคู่กรณีไม่ประสงค์จะให้มีการเดินสะพัดบัญชีกันอีกต่อไป สัญญาบัญชีเดินสะพัดจึงเป็นอันสิ้นสุดลงในวันที่มีการชำระหนี้บางส่วนนั้น หลังจากนั้นโจทก์จะคิดดอกเบี้ยทบต้นไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกค้าของโจทก์ โดยเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน และได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีไว้กับโจทก์ โดยมีจำเลยที่ 2 ที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันและจดทะเบียนจำนองที่ดินไว้เป็นประกันการชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 โดยยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วมจำเลยที่ 1 ได้เดินสะพัดทางบัญชีกับโจทก์โดยสั่งจ่ายเช็คเบิกเงินและนำเงินเข้าฝากในบัญชีหลายครั้งจนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2529เมื่อหักทอนบัญชีแล้วจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์เป็นเงินทั้งสิ้น32,862,950.44 บาท จำเลยทั้งสามต้องชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 32,862,950.44 บาท นับแต่วันที่1 กันยายน 2529 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ขอให้บังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวนดังกล่าว หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้จำเลยที่ 2 ชำระแทน
จำเลยทั้งสามให้การว่า การที่โจทก์ทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้และจำเลยที่ 1 นำเงินฝากเข้าบัญชีครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2522 หลังจากนั้นไม่เคยเบิกเงินหรือนำเงินฝากเข้าบัญชีอีกเลยถือได้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงเลิกบัญชีเดินสะพัดต่อกันในวันที่ 20 สิงหาคม 2522 ในวันดังกล่าว จำเลยที่ 1เป็นหนี้โจทก์เพียง 13,461,970.24 บาท หลังจากนั้นโจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้อีกต่อไป
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน36,149,245.34 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15ต่อปีจากเงินต้นจำนวน 32,862,950.44 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากไม่ชำระให้จำเลยที่ 2 ที่ 3ชำระแทน ตามสัญญาจำนองและสัญญาค้ำประกันภายในวงเงิน 880,000 บาทและ 150,000 บาท ตามลำดับพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2529 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 17,400,362.18 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ15 ต่อปีในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน 2525 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้จำเลยที่ 2ที่ 3 ชำระแทน นอกจากที่แก้ให้คงเป็นไป ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้ว่าสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีที่จำเลยที่ 1 ทำไว้กับโจทก์ รวม 10 ฉบับ ตามเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.13มิได้กำหนดระยะเวลาชำระหนี้ไว้ สัญญาดังกล่าวจึงใช้บังคับได้จนกว่าจะมีการบอกเลิกสัญญาก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของนายเรวัต ศิรินุกูล ซึ่งเคยเป็นผู้จัดการธนาคารโจทก์สาขาท่าเรือพยานโจทก์และนายวิสันต์ พงศ์วิทยาภานุ อดีต ผู้จัดการบริษัทจำเลยที่ 1 พยานจำเลยที่ 1 เจือสมกันฟังได้ว่าหลังจากวันที่20 สิงหาคม 2522 เป็นต้นมา จำเลยที่ 1 ไม่ได้นำเงินเข้าบัญชีและเบิกเงินออกจากบัญชีเลย นายเรวัตจึงเรียกให้นายวิสันต์ไปเจรจาเพื่อตกลงกันในเรื่องการผ่อนชำระหนี้ มิฉะนั้นจะถูกธนาคารโจทก์สำนักงานใหญ่ยื่นฟ้อง นายเรวัตกับนายวิสันต์จึงตกลงกันให้นายวิสันต์โอนเงินจากบัญชีเงินฝากของนายวิสันต์จำนวน 6,364,154.35 บาท ชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีทั้งหมดของจำเลยที่ 1 เพื่อลดหนี้ลง และปลดจำนองทรัพย์สินเฉพาะส่วนทรัพย์สินของนายวิสันต์ ต่อมาเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน2525 จึงได้มีการชำระหนี้บางส่วนให้ตามที่ตกลงกันไว้ พฤติการณ์ของโจทก์และจำเลยที่ 1 ดังกล่าวนั้นเป็นกรณีที่โจทก์เรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้หลังจากที่หักทอนบัญชีกันแล้วอันแสดงว่าคู่กรณีไม่ประสงค์ให้มีการเดินสะพัดบัญชีกันอีกต่อไป สัญญาบัญชีเดินสะพัดจึงเป็นอันสิ้นสุดในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2525 โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้จนถึงวันดังกล่าว หลังจากนั้นโจทก์จะคิดดอกเบี้ยทบต้นอีกไม่ได้
พิพากษายืน