คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 892/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ผู้เสียหายถูกทำร้ายมีบาดแผลเส้นเอ็นที่ยึดข้อปลายของนิ้วก้อยซ้ายขาด นิ้วก้อยซ้ายงอผิดรูป หลังเกิดเหตุแล้ว 2 เดือนนิ้วก้อยซ้ายของผู้เสียหายยังไม่สามารถยืดออกได้ตามปกติแต่โจทก์มิได้นำสืบว่าอาการป่วยเจ็บเช่นว่านั้นทำให้ผู้เสียหายได้รับทุกขเวทนาหรือไม่สามารถประกอบกรณีกิจได้ตลอดระยะเวลาดังกล่าวจึงฟังไม่ได้ว่าบาดแผลดังกล่าวเป็นเหตุให้ผู้เสียหายป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาหรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน อันจะเข้าลักษณะเป็นอันตรายสาหัส จำเลยที่ 1 ทำร้ายผู้เสียหายที่ปากซอย แล้วไล่ตามเข้าไปทำร้ายผู้เสียหายในบริเวณบ้านของบิดาผู้เสียหาย ถือว่าเป็นการกระทำต่อเนื่องกันมีเจตนาอันเดียวมุ่งหมายที่จะทำร้ายผู้เสียหายเท่านั้น จึงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91, 297, 358, 364, 365
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 364 การกระทำของจำเลยที่ 1เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจำคุก 3 เดือน ฐานบุกรุก จำคุก 3 เดือน รวมจำคุก 6 เดือนข้อหาอื่นให้ยก ยกฟ้องจำเลยที่ 2
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 365 เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามมาตรา 365 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 ให้จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 3 เดือน ให้จำคุกจำเลยที่ 2มีกำหนด 1 เดือน และปรับ 1,000 บาท เฉพาะโทษจำคุกของจำเลยที่ 2 ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี หากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ตามที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นนี้ว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุขณะที่ผู้เสียหายจอดรถอยู่ที่ปากซอยจรัญสนิทวงศ์ 70 เพื่อรอเลี้ยวซ้ายออกถนนจรัญสนิทวงศ์ จำเลยที่ 1 ซึ่งมีอาการเมาสุราเข้าไปต่อว่าผู้เสียหายว่าจอดรถขวางทาง เมื่อผู้เสียหายลงจากรถ จำเลยที่ 1ใช้ขวดสุราตีผู้เสียหายแต่ไม่ถูกแล้วเข้าชกต่อยผู้เสียหาย เกิดการต่อสู้กัน จำเลยที่ 1 หยิบขวดสุราขึ้นฟาดพื้นแตกถือวิ่งเข้าหาผู้เสียหาย ผู้เสียหายวิ่งหนีเข้าไปในบ้านของนายพัฒนพันธ์ปรีดาสวัสดิ์ บิดาซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 20 เมตร จำเลยทั้งสองวิ่งตามเข้าไปในบริเวณบ้านของนายพัฒนพันธ์และรุมชกต่อยผู้เสียหาย ผู้เสียหายมีบาดแผลถลอกที่ดั้งจมูกและศอกขวาเส้นเอ็นที่ยึดข้อปลายของนิ้วก้อยซ้ายขาดนิ้วก้อยซ้ายงอผิดรูป แพทย์ลงความเห็นว่าบาดแผลดังกล่าวใช้เวลาในการรักษา 1 เดือน ตามรายงานการตรวจบาดแผลของแพทย์ท้ายฟ้อง
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่า ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสหรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายเบิกความว่าผู้เสียหายไปรักษาที่ยันฮีโพลีคลีนิคเป็นเวลาประมาณ 1 เดือนหลังเกิดเหตุแล้ว 2 เดือนเศษ นิ้วก้อยซ้ายยังไม่สามารถยืดได้ตามปกติ และโจทก์มีนายแพทย์วิสูตร ฟองศิริไพบูลย์ แพทย์ผู้ตรวจบาดแผลผู้เสียหายหลังเกิดเหตุและรักษาบาดแผลผู้เสียหายที่ยันฮีโพลีคลีนิคด้วยเบิกความว่าเมื่อตรวจบาดแผลโดยละเอียดพบว่านอกจากเส้นเอ็นปลายนิ้วก้อยซ้ายของผู้เสียหายขาดแล้วกระดูกบริเวณเดียวกันยังแตกด้วย ต้องรักษาโดยใช้เหล็กเป็นเส้น ๆ ยิงตามกระดูก ในช่วงระหว่างการรักษานิ้วก้อยซ้ายไม่สามารถใช้งานได้เหมือนเดิม ผู้เสียหายไปรับการรักษาประมาณ 10 ครั้งหลังจากรักษาได้ประมาณ 2 เดือน จึงถอดเหล็กที่ดามออก เห็นว่าแม้หลังเกิดเหตุแล้ว 2 เดือน นิ้วก้อยซ้ายของผู้เสียหายยังไม่สามารถยืดออกได้ตามปกติก็ตาม แต่โจทก์มิได้นำสืบว่าอาการป่วยเจ็บเช่นว่านั้นทำให้ผู้เสียหายได้รับทุกขเวทนาหรือไม่สามารถประกอบกรณียกิจได้ตลอดระยะเวลาดังกล่าว จึงฟังไม่ได้ว่าบาดแผลดังกล่าวเป็นเหตุให้ผู้เสียหายป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาหรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน อันจะเข้าลักษณะเป็นอันตรายสาหัสตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าผู้เสียหายเพียงได้รับอันตรายแก่กาย ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
โจทก์ฎีกาข้อต่อมาว่า จุดเกิดเหตุทำร้ายครั้งแรกและบุกรุกอยู่ห่างกันผู้เสียหายเป็นคนละคนกัน และจำเลยที่ 1 มีเวลายั้งคิดก่อนติดตามผู้เสียหายไปในบ้านของนายพัฒนพันธ์ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันนั้น เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 ทำร้ายผู้เสียหายที่ปากซอยจรัญสนิทวงศ์ 70 แล้วไล่ตามเข้าไปทำร้ายผู้เสียหายในบริเวณบ้านของนายพัฒนพันธ์อีกนั้น ถือได้ว่าเป็นการกระทำต่อเนื่องกันโดยจำเลยมีเจตนาอันเดียวมุ่งหมายที่จะทำร้ายผู้เสียหายเท่านั้น การกระทำของจำเลยที่ 1จึงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท มิใช่ความผิดหลายกรรมต่างกันคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในข้อนี้ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน

Share