คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 840/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์จำเลยโต้เถียงกันว่า ที่พิพาทเป็นของโจทก์หรือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ เมื่อปรากฏว่าทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท คดีโจทก์จึงต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 วรรคแรก ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 12)พ.ศ. 2534 มาตรา 18 ปัญหาว่า บิดาโจทก์เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทก่อนใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 ได้แจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1)และครอบครองต่อเนื่องตลอดมา เป็นการปฏิบัติตามประมวลกฎหมายที่ดินพ.ศ. 2497 ทางราชการหรือประชาชนจะกล่าวอ้างว่าเป็นหนองน้ำสาธารณะใช้ประโยชน์ร่วมกันหาได้ไม่ เป็นฎีกาข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ ทั้งไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน เป็นฎีกาต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 27 เป็นของโจทก์ทั้งแปลง มิใช่เป็นที่สาธารณประโยชน์บางส่วนมีเนื้อที่ 3 ไร่ แต่อย่างใด และให้เพิกถอนคำสั่งเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของจังหวัดสุรินทร์ ที่ 2085/2529ลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2529
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ 27 เนื้อที่ประมาณ 15 ไร่ 3 งาน66 ตารางวา เพราะโจทก์ได้ขอให้เจ้าพนักงานที่ดินออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวทับที่หนองฮะซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน จำนวนเนื้อที่ 3 ไร่ จำเลยทั้งสองได้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวตามอำนาจหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน และให้คืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินจากจำนวน 200 บาท ทั้งสองศาลให้แก่โจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาว่าที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 27 เป็นของโจทก์ทั้งแปลงมิใช่เป็นที่สาธารณประโยชน์บางส่วนมีเนื้อที่ 3 ไร่แต่อย่างใดและให้เพิกถอนคำสั่งเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของจังหวัดสุรินทร์ จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของผู้ครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวเพราะโจทก์ขอให้เจ้าพนักงานที่ดินออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ทับที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันจำนวนเนื้อที่3 ไร่ คดีนี้โจทก์จำเลยจึงโต้เถียงกันว่า ที่พิพาทเป็นของโจทก์หรือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ เมื่อปรากฏว่าคดีนี้มีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาทคดีโจทก์จึงต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคแรก ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 12)พ.ศ. 2534 มาตรา 18 อันเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะที่โจทก์ยื่นฎีกาที่โจทก์ฎีกาว่า ที่พิพาทเป็นของโจทก์ไม่ใช่เป็นหนองน้ำสาธารณประโยชน์เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่านายบุ่น สิทธิจันทร์ บิดาโจทก์ได้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทก่อนประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 บิดาโจทก์ได้แจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) ไว้เป็นหลักฐานและเข้าครอบครองต่อเนื่องตลอดมา ต่อมาโจทก์ได้ยื่นเรื่องราวขอรับโอนมรดกและขอรับรองการทำประโยชน์ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เป็นการปฏิบัติตามประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 ทางราชการหรือประชาชนจะมากล่าวอ้างว่าเป็นหนองน้ำสาธารณใช้ประโยชน์ร่วมกันหาได้ไม่ เห็นว่าฎีกาข้อนี้โจทก์ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ทั้งไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เป็นฎีกาต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษาให้ยกฎีกาโจทก์ แต่ไม่ต้องคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินจาก200 บาท ในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้โจทก์

Share