แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อคดีฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 รับโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน โจทก์จึงอ้างสิทธิของตนขึ้นใช้ยันจำเลยที่ 3 ผู้รับโอนคนใหม่ไม่ได้ ไม่ว่าจำเลยที่ 3 จะซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทจากจำเลยที่ 2 โดยสุจริตหรือไม่ เพราะสิทธิของโจทก์ได้ขาดตอนไปแล้วตั้งแต่ครั้งจำเลยที่ 2 รับโอนทางทะเบียนโดยสุจริต และเสียค่าตอบแทน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1และเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในสินสมรสที่ดินพร้อมทาวน์เฮ้าส์ 2 ชั้นจำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมโอนขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ได้ปลอมลายมือชื่อโจทก์ในหนังสือให้ความยินยอมนิติกรรมการโอนระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2จึงเป็นโมฆะ ต่อมาจำเลยที่ 2 ได้ขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวให้จำเลยที่ 3 โดยจำเลยที่ 3 รู้ว่า จำเลยที่ 2 ซื้อมาจากจำเลยที่ 1 โดยไม่สุจริต นิติกรรมการโอนระหว่างจำเลยที่ 2 และที่ 3จึงเป็นโมฆะ ขอให้บังคับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไปจัดการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวคืนให้แก่โจทก์ถ้าไม่สามารถโอนได้ ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชดใช้ราคา
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ได้ซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริตในราคา 250,000 บาทต่อมาจำเลยที่ 2 ได้โอนขายให้จำเลยที่ 3 โดยสุจริตเช่นเดียวกันจำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า การจดทะเบียนซื้อขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้กระทำโดยสุจริตจำเลยที่ 3 ได้จดทะเบียนซื้อขายจากจำเลยที่ 2 โดยสุจริต ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 รับโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน โจทก์จึงขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1480 วรรคแรก การที่โจทก์ขอให้เพิกถอนการโอนระหว่างจำเลยที่ 1กับจำเลยที่ 2 ไม่ได้เพราะจำเลยที่ 2 รับโอนโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน โจทก์จึงอ้างสิทธิของตนขึ้นใช้ยันจำเลยที่ 3 ผู้รับโอนคนใหม่ไม่ได้ ไม่ว่าจำเลยที่ 3 จะซื้อมาโดยสุจริตหรือไม่ เพราะสิทธิของโจทก์ได้ขาดตอนไปแล้วตั้งแต่ครั้งที่จำเลยที่ 2 รับโอนทางทะเบียนโดยสุจริต และเสียค่าตอบแทน
พิพากษายืน