แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
คดีก่อนศาลวินิจฉัยว่า ทางที่โจทก์ทั้งสี่ฟ้องเดิมเป็นลำรางสาธารณะต่อมาตื้นเขินกลายเป็นทาง โจทก์ทั้งสี่จึงอ้างว่าได้ภาระจำยอมไม่ได้ แต่คดีนี้มีประเด็นว่าทางกว้างประมาณ2 เมตร ยาวประมาณ 18 เมตร ในที่ดินของจำเลยเป็นทางภารจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสี่หรือไม่ ประเด็นที่โจทก์ทั้งสี่ฟ้องจำเลยในคดีนี้ จึงมิใช่ประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับในคดีก่อนฟ้องของโจทก์ทั้งสี่จึงมิใช่ฟ้องซ้ำกับคดีก่อน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสี่เป็นเจ้าของที่ดินและบ้านตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ 19, 142 และ 393 ตำบลกะรนอำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินและบ้านบนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ 456/49 ในการเข้าไปในที่ดิน ที่นา บ้านและสวนมะพร้าวของโจทก์ทั้งสี่ต้องผ่านทางสาธารณะซึ่งอยู่ติดกับที่ดินของจำเลยด้านทิศตะวันออกซึ่งแต่เดิมเป็นลำรางสาธารณประโยชน์ แต่ได้ตื้นเขินขึ้นมา มีความกว้างประมาณ 1.8 เมตร ยาวตลอดแนวที่ดินของจำเลยและโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 เดิมโจทก์ทั้งสี่และชาวบ้านใช้เป็นทางเกวียน ต่อมาโจทก์ทั้งสี่และชาวบ้านได้ใช้รถยนต์ผ่านเข้าออกโดยรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของจำเลยตลอดแนวทางทิศตะวันออกกว้างประมาณ 2 เมตร ยาวประมาณ 18 เมตร ด้วยความสงบเปิดเผยด้วยเจตนาใช้เป็นทางผ่านเพื่อประโยชน์ร่วมกัน เป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว จึงตกเป็นทางภาระจำยอมแล้ว ต่อมาจำเลยได้ก่อสร้างกำแพงคอนกรีตเสริมเหล็กล้ำเข้าไปในทางภาระจำยอมกว้างประมาณ 1 เมตร ยาวประมาณ 18 เมตร และนำขอนไม้ไปวางกีดขวางบนทางภารจำยอม เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสี่ไม่สามารถใช้รถยนต์ผ่านเข้าออกทางภารจำยอมได้ ขอให้พิพากษาว่าทางที่รุกล้ำเข้าไปในที่ดินด้านทิศตะวันออก กว้างประมาณ 2 เมตร ยาวตลอดแนวที่ดินของจำเลยประมาณ 18 เมตร เป็นทางภารจำยอม ให้จำเลยไปจดทะเบียนนิติกรรมตามกฎหมายหากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ให้จำเลยรื้อถอนกำแพงที่จำเลยสร้างตลอดแนวที่ดินภารจำยอมและนำสิ่งกีดขวางต่าง ๆ ออกไปให้หมด มิฉะนั้นให้โจทก์ทั้งสี่เป็นผู้รื้อถอนโดยจำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายและให้โจทก์ทั้งสี่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยบรรดาค่าใช้จ่ายที่ออกทดรองไปก่อน
จำเลยให้การว่า ทางสาธารณะที่อยู่ติดที่ดินจำเลยด้านทิศตะวันออกเป็นทางเดินกว้างเพียง 1 เมตร เท่านั้น แต่เมื่อประมาณ2 ปี มานี้ โจทก์ทั้งสี่นำรถยนต์ผ่านทางเดินสาธารณะดังกล่าวเพื่อเข้าออกที่ดินของโจทก์ทั้งสี่รุกล้ำเข้ามาในที่ดินของจำเลย ซึ่งจำเลยก็ยินยอมให้โจทก์ทั้งสี่ผ่านไปชั่วคราว ต่อมาโจทก์ทั้งสี่ต้องการใช้ที่ดินของจำเลยส่วนที่ถูกรุกล้ำเป็นทางรถยนต์ตลอดไปจึงได้ขยายทางเดินสาธารณะรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของจำเลยด้านทิศตะวันออกให้กว้างออกไป 1.8 เมตร เพื่อความสะดวกในการใช้รถยนต์ผ่านเข้าออก จำเลยเห็นว่าหากปล่อยทิ้งไว้ให้เนิ่นนานออกไปจะทำให้ที่ดินของจำเลยด้านทิศตะวันออก ตกอยู่ภายใต้ภารจำยอมตามกฎหมายได้ จึงได้สร้างกำแพงกั้นไว้เป็นการป้องกันสิทธิในที่ดินของจำเลยฟ้องของโจทก์ทั้งสี่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 409/2530ของศาลชั้นต้น ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้ จึงให้งดชี้สองสถานและวินิจฉัยว่าฟ้องของโจทก์ทั้งสี่ในคดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 409/2530 ของศาลชั้นต้น พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสี่ว่าฟ้องของโจทก์ทั้งสี่ในคดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 409/2530 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่าคดีก่อนคือคดีหมายเลขแดงที่ 409/2530 ของศาลชั้นต้นนั้น โจทก์ทั้งสี่ฟ้องจำเลยขอให้เปิดทางภารจำยอมโดยอ้างว่าได้ภารจำยอมโดยอายุความเป็นทางรถยนต์กว้างประมาณ 4 เมตร แต่อ้างว่าทางพิพาทนั้นเดิมเป็นลำรางสาธารณะและตื้นเขินกลายเป็นทาง ศาลจึงวินิจฉัยว่าเมื่อทางพิพาทนั้นเป็นลำรางสาธารณะซึ่งตื้นเขิน จึงไม่อาจอ้างว่าได้ภารจำยอมคดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์ทั้งสี่จึงมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้อ้างว่าทางสาธารณะที่เดิมเป็นลำรางสาธารณะนั้น กว้างเพียง 1.8 เมตรแต่โจทก์ทั้งสี่และชาวบ้านได้ใช้รถยนต์ผ่านทางนั้นและรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของจำเลยอีกประมาณ 2 เมตรยาวประมาณ 18 เมตร โดยสงบเปิดเผย และด้วยเจตนาใช้เป็นทางผ่านเข้าออกเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้วทางกว้าง 2 เมตร ในที่ดินของจำเลยจึงเป็นทางภารจำยอมดังนั้นประเด็นในคดีก่อนและประเด็นในคดีนี้จึงต่างกัน เพราะคดีก่อนศาลวินิจฉัยในข้อกฎหมายว่า เมื่อทางที่โจทก์ทั้งสี่ฟ้องเดิมเป็นลำรางสาธารณะและต่อมาตื้นเขินกลายเป็นทาง โจทก์ทั้งสี่จึงอ้างว่าได้ภารจำยอมไม่ได้ แต่คดีนี้มีประเด็นตามคำฟ้องว่า ทางกว้างประมาณ2 เมตร ยาวประมาณ 18 เมตร ในที่ดินของจำเลยเป็นทางภารจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสี่หรือไม่ ส่วนปัญหาว่าคดีก่อนโจทก์ทั้งสี่อ้างว่าลำรางสาธารณะที่ตื้นเขินกลายเป็นทางกว้างประมาณ 4 เมตรจะคลุมถึงทางรถยนต์ที่โจทก์ทั้งสี่ฟ้องคดีนี้ว่าอยู่ในที่ดินของจำเลยกว้างประมาณ 2 เมตร ยาวประมาณ 18 เมตร หรือไม่นั้นจำเลยให้การในคดีก่อนว่าทางสาธารณะกว้างเพียงประมาณ 1 เมตรเท่านั้น และโจทก์ทั้งสี่ใช้รถยนต์ผ่านทางเข้ามาในที่ของจำเลยกว้างประมาณ 1.8 เมตร จำเลยจึงสร้างกำแพงกั้น ดังนั้น ประเด็นข้อที่ว่าทางสาธารณะจะคลุมถึงทางที่โจทก์ทั้งสี่ฟ้องคดีนี้หรือไม่ศาลยังมิได้วินิจฉัยในคดีก่อนประเด็นที่โจทก์ทั้งสี่ฟ้องจำเลยในคดีนี้ จึงมิใช่ประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับในคดีก่อน ฟ้องของโจทก์ทั้งสี่ในคดีนี้จึงมิใช่ฟ้องซ้ำกับคดีก่อนคือคดีหมายเลขแดงที่ 409/2530 ของศาลชั้นต้น ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าฟ้องของโจทก์ทั้งสี่ในคดีนี้เป็นฟ้องซ้ำต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 และพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสี่มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสี่ฟังขึ้น”
พิพากษายกคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี