คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 445/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยใช้มีดจี้ผู้เสียหายและดึงสร้อยคอจากคอผู้เสียหายเมื่อผู้เสียหายส่งเสียงดัง จำเลยก็พูดว่าไม่ต้องร้อง คืนสร้อยให้แล้ว แล้วจำเลยคืนสร้อยให้ผู้เสียหายไปทั้งจำเลยให้การชั้นสอบสวนว่าเหตุที่กระทำผิดเนื่องจากอยากลองและนึกสนุก แสดงว่าจำเลยกระทำโดยมิได้มีความประสงค์ต่อทรัพย์ที่แท้จริงแต่เพื่ออวดในทางที่ผิดด้วยความโง่เขลาตามประสาวัยรุ่น การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ แต่เป็นความผิดฐานทำให้เสื่อมเสียเสรีภาพ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339วรรคสอง, 83, 371, 91 และริบอาวุธมีดของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339 วรรคสอง ประกอบมาตรา 83 และมาตรา 371 จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดฐานชิงทรัพย์ ให้วางโทษจำคุก 12 ปี ความผิดฐานพาอาวุธให้ปรับ 90 บาท รวม 2 กระทงเป็นจำคุก 12 ปี และปรับ 90 บาท ในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก8 ปี และปรับ 60 บาท หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบมีดของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติในเบื้องต้นว่าตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง มีคนร้ายสองคนใช้มีดปลายแหลมเป็นอาวุธจี้ขู่เข็ญผู้เสียหายแล้วดึงเอาสร้อยคอทองคำจากคอผู้เสียหายไป และเมื่อผู้เสียหายส่งเสียงดังคนร้ายก็คืนสร้อยคอทองคำดังกล่าวให้แล้ววิ่งหนี เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยในที่เกิดเหตุ และยึดมีดของกลางได้จากที่เกิดเหตุคดีมีปัญหาวินิจฉัยในชั้นฎีกาว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่กระทำการดังกล่าวและมีความผิดฐานชิงทรัพย์ตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์มีเพียงคำให้การชั้นสอบสวนของผู้เสียหายที่ยืนยันว่าจำเลยเป็นคนร้าย และคำรับชั้นจับกุมกับชั้นสอบสวนของจำเลย แต่เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมและผู้สอบสวนล้วนแต่เป็นเจ้าพนักงานผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่โดยไม่ปรากฏว่ามีสาเหตุใด ๆ กับจำเลยมาก่อน การทำร้ายจำเลยเพื่อปักปรำดังที่จำเลยอ้างจึงขาดเหตุผลสนับสนุน ไม่มีน้ำหนักที่จะรับฟังเชื่อถือหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ในส่วนที่ว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่ลงมือกระทำการด้วยไม่ผิดตัวนั้น ได้ให้เหตุผลไว้โดยละเอียดแล้วซึ่งศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
แต่สำหรับปัญหาว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ตามฟ้องหรือไม่นั้น เห็นว่า คดีนี้ผู้เสียหายมิได้มาเบิกความยืนยันในชั้นพิจารณาแต่จากคำให้การชั้นสอบสวนของผู้เสียหายเอกสารหมาย จ.2 จำเลยเป็นผู้คืนสร้อยคอทองคำให้ผู้เสียหายเองเมื่อผู้เสียหายเพียงแต่ร้อง “ว้าย” โดยจำเลยพูดว่า “ไม่ต้องร้อง…ไม่ต้องร้อง… คืนสร้อยให้แล้ว…คืนสร้อยให้แล้ว” ซึ่งหากจำเลยประสงค์ในตัวทรัพย์จริง ก็ไม่น่าที่จะต้องคืนทรัพย์ให้และพูดจาในเชิงปลอบผู้เสียหาย จำเลยน่าที่จะวิ่งหนีไปพร้อมสร้อยที่ชิงได้มากกว่า และจากคำให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนของจำเลยเอกสารหมาย จ.8 จำเลยได้ตอบคำถามของพนักงานสอบสวนที่ถามถึงเหตุที่กระทำผิดว่า “เนื่องจากข้าฯ อยากลองและนึกสนุก” อันเป็นลักษณะของวัยรุ่นที่โง่เขลาหลงผิด ชอบอวดเก่งในทางที่ไม่เรียบร้อยประกอบกับฐานะครอบครัวจำเลยนั้น มีผู้ปกครองที่มีอาชีพมั่นคงโดยทั้งบิดาและมารดาเป็นข้าราชการระดับ 6 ทั้งคู่ ฐานะการเงินไม่ขัดสนเดือดร้อนดังนี้ เมื่อประมวลเหตุทั้งหมดแล้วน่าเชื่อว่าจำเลยกระทำโดยมิได้มีความประสงค์ต่อทรัพย์ที่แท้จริง หากเป็นการกระทำเพื่อแสดงออกซึ่งเป็นการอวดในทางที่ผิดด้วยความโง่เขลาตามประสาวัยรุ่นที่อยู่ในวัยคะนอง จึงไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ตามที่โจทก์ฟ้อง แต่ที่จำเลยร่วมกับพวกใช้มีดจี้ขู่เข็ญผู้เสียหายเป็นความผิดฐานทำให้เสื่อมเสียเสรีภาพโดยใช้อาวุธซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความผิดฐานชิงทรัพย์ตามที่โจทก์ฟ้อง จึงลงโทษจำเลยได้ตามที่พิจารณาได้ความ”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 309 วรรคสอง และมาตรา 371 จำเลยอายุไม่เกินยี่สิบปีลดมาตราส่วนโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 หนึ่งในสามแล้วความผิดตามมาตรา 309 วรรคสองลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด 3 ปี และปรับ 6,000 บาท ความผิดตามมาตรา 371 ปรับ 60 บาท รวมจำคุกจำเลยมีกำหนด 3 ปี และปรับ 6,060 บาท คำรับสารภาพของจำเลยชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาของศาล จึงลดโทษให้อีกหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยมีกำหนด 2 ปี และปรับ 4,040 บาท จำเลยไม่เคยกระทำผิดมาก่อนกระทำผิดครั้งแรกนี้ด้วยความโฉดเขลาเบาปัญญาและคึกคะนอง ประกอบกับสิ่งแวดล้อมและสภาพครอบครัวจำเลยดี มีโอกาสที่จำเลยจะกลับตัวเป็นพลเมืองดีได้ จึงเห็นควรปรานีจำเลยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 โทษจำคุกให้รอไว้มีกำหนดสามปีโดยกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติ ให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 3 เดือนต่อครั้ง จนกว่าจะครบกำหนดระยะเวลาที่รอการลงโทษ นอกจากที่แก้ให้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share