คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 337/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่โจทก์นำสืบว่า ที่ดินข้างเคียงที่ดินของโจทก์มีการซื้อขายกันในราคาเท่าใดก่อนมีการประกาศใช้ พระราชกฤษฎีกาก็เท่ากับว่าเป็นการนำสืบให้เห็นว่าที่ดินดังกล่าวมีราคาเท่าใดในวันที่ พระราชกฤษฎีกา ประกาศใช้บังคับนั่นเอง แม้โจทก์ไม่มีราคาซื้อขายมาแสดงว่าในวันดังกล่าวที่ดินของโจทก์มีราคาเท่าใด แต่โจทก์นำสืบว่าที่ดินที่มีอาณาเขตติดต่อกันมีราคาตารางวาละ1,655 บาท และที่ดินข้างเคียงตารางวาละ 1,887 บาท ย่อมฟังได้ว่าที่ดินของโจทก์มีราคาตามที่ซื้อขายกันในท้องตลาดไม่ต่ำกว่าตารางวาละ 1,655 บาท การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์แม้จะกระทำเพื่อประโยชน์แก่สาธารณชนทั่วไปก็ตาม แต่รัฐก็มีหน้าที่จ่ายค่าทดแทนเพื่อบรรเทาความเสียหายแก่เจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืนตามความเหมาะสมและเป็นธรรมทั้งต้องปฏิบัติต่อเจ้าของที่ดินทุกคนอย่างเสมอภาคกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 704แขวงบางระมาด เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 5,158 ตารางวาพร้อมบ้านพักอาศัยและสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ รวม 16 รายการ เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2523 ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงพิเศษสายพระประแดง-บางแค-ตลิ่งชัน-บางบัวทองตอนพระประแดง-บางแค-ตลิ่งชัน พ.ศ. 2523 โดยกำหนดให้อธิบดีกรมทางหลวงเป็นเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกามีหน้าที่จ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่เจ้าของทรัพย์ที่ถูกทางหลวงสายดังกล่าวตัดผ่านที่ดินของโจทก์ถูกเขตทางหลวงสายดังกล่าวตัดผ่านหมดทั้งแปลงจำเลยได้กำหนดค่าทดแทนที่ดินให้ตารางวาละ 1,300 บาท พืชผลไม้เป็นเงิน 96,940 บาทและสิ่งปลูกสร้างสิ่งอื่น ๆ ซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินเป็นเงิน 1,310,322 บาท จำเลยได้นำเงินค่าทดแทนที่ดินจำนวน6,705,400 บาท ไปวางไว้ที่สำนักงานวางทรัพย์กลาง กรมบังคับคดีเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2529 โจทก์ไปขอรับเงินจำนวนดังกล่าวแล้วและเห็นว่าค่าทดแทนสำหรับที่ดินยังต่ำกว่าราคาที่แท้จริงจึงได้สงวนสิทธิ์ที่จะเรียกค่าที่ดินเพิ่มขึ้นตามความเป็นธรรม เพราะที่ดินของโจทก์มีสภาพเป็นที่อยู่อาศัย และได้ปรับปรุงพื้นที่เพื่อให้เป็นสถานที่ต้อนรับนักท่องเที่ยวทั้งที่ดินในบริเวณใกล้เคียงซึ่งถูกเวนคืนสร้างทางหลวงเช่นเดียวกัน แต่มีสภาพด้อยกว่าเป็นที่ลุ่มมีน้ำท่วมขังไม่มีการปรับปรุงพื้นที่ จำเลยได้ให้ค่าทดแทนที่ดินตารางวาละ 1,655 บาท เมื่อปี 2522 ได้มีการซื้อขายที่ดินแปลงอื่นซึ่งมีเขตติดต่อกับที่ดินของโจทก์ในราคาตารางวาละ 1,887 บาทส่วนปี 2524 ซื้อขายกันราคาตารางวาละ 3,000 บาท ดังนั้นในปี 2523 ซึ่งเป็นปีที่พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงพิเศษฯ ใช้บังคับ ที่ดินของโจทก์ควรมีราคาตารางวาละ 3,100บาท จำเลยจึงต้องจ่ายค่าทดแทนให้โจทก์เพิ่มขึ้นเป็นเงิน 9,284,400บาท กับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี คิดถึงวันฟ้องเป็นเวลา7 ปีเศษ เป็นเงิน 4,874,310 บาท ขอให้จำเลยชำระเงิน 14,158,710บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน9,284,400 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยได้ดำเนินการตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2515 ข้อ 76 ซึ่งบัญญัติว่าเงินค่าทดแทนนี้ถ้าไม่มีบทบัญญัติเป็นพิเศษในพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ซึ่งออกตามข้อ 63 แล้วให้กำหนดเท่าราคาของทรัพย์ตามราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงใช้บังคับ โจทก์ไม่นำหลักฐานการซื้อขายที่ดินของโจทก์ในวันหรือก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงใช้บังคับมาแสดงต่อจำเลย จำเลยจึงกำหนดเงินค่าทดแทนให้โจทก์โดยอาศัยบัญชีกำหนดจำนวนราคาที่ดินตามราคาตลาดเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในท้องที่เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร ซึ่งคณะกรรมการได้กำหนดเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2521 และมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2522เปรียบเทียบกับประกาศราคาปานกลางของที่ดิน ตามพระราชบัญญัติบำรุงท้องที่ซึ่งประกาศ ณ วันที่ 5 ตุลาคม 2520 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2521 เป็นต้นไปเป็นเวลา 4 ปี โดยถือเอาราคาที่สูงกว่าเป็นเกณฑ์ในการจ่ายค่าทดแทน สำหรับที่ดินของโจทก์ถือตามราคาบัญชีกำหนดจำนวนราคาที่ดินตามราคาตลาดเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมจะมีราคาตารางวาละ600 บาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่า เป็นเกณฑ์คำนวณจ่ายค่าทดแทนให้โจทก์ เนื่องจากพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงพิเศษดังกล่าวได้ประกาศเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2523 ภายหลังบัญชีกำหนดราคาที่ดินตามราคาตลาดเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2522 เป็นเวลา 1 ปี จำเลยจึงเห็นสมควรกำหนดราคาที่ดินของโจทก์เพิ่มขึ้นโดยนำบัญชีกำหนดจำนวนราคาที่ดินตามราคาตลาดเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในท้องที่เขตตลิ่งชันซึ่งคณะกรรมการได้กำหนดเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2524 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2525 มาคำนวณเฉลี่ยด้วย ซึ่งตามบัญชีดังกล่าว ที่ดินของโจทก์มีราคาตารางวาละ 2,000 บาท เมื่อนำเฉลี่ยแล้วเห็นควรกำหนดที่ดินของโจทก์ให้มีราคาตารางวาละ 1,300 บาทจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าทดแทนเพิ่มแก่โจทก์ โจทก์ไม่เคยทวงถามจึงไม่มีสิทธิให้จำเลยชำระค่าดอกเบี้ยตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 1,831,090บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2523เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จ
โจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยใช้เงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มขึ้นจากที่ศาลชั้นต้นให้ราคาตารางวาละ 1,655 บาท เป็นตารางวาละ 2,214 บาทเพิ่มขึ้นอีกตารางวาละ 559 บาท เป็นเงิน 2,883,322 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงพิเศษฯ ใช้บังคับเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์มีหน้าที่นำสืบให้เห็นว่าที่ดินของโจทก์มีราคาในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงพิเศษฯ ใช้บังคับมีราคาตารางวาละเท่าใด แต่โจทก์ไม่สามารถนำสืบให้ศาลเห็นได้ว่าที่ดินของโจทก์มีราคาเท่าใด การที่จำเลยกำหนดค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ในราคาตารางวาละ 1,300 บาท จึงเป็นราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรมแล้วนั้นโจทก์มีนายวรพงศ์ จักรเสน ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์เบิกความว่าก่อนประกาศใช้พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงพิเศษสายพระประแดง-บางแค-ตลิ่งชัน-บางบัวทอง ตอนพระประแดง-บางแค-ตลิ่งชัน พ.ศ. 2523 ได้มีการซื้อขายที่ดินข้างเคียงกับที่ดินของโจทก์คือแปลงที่มีอาณาเขตติดต่อกับที่ดินของโจทก์ในราคาตารางวาละ 1,655 บาทและที่ดินแปลงที่อยู่ถนนสายปิ่นเกล้า-นครชัยศรี คนละฝั่งกับที่ดินของโจทก์ในราคาตารางวาละ1,887 บาท ปรากฏตามแผนผังเอกสารหมาย จ.45 ในเรื่องนี้นอกจากจำเลยจะไม่ได้นำสืบปฏิเสธแล้ว นายประดิษฐ์ เอี่ยมสำอางค์หัวหน้าฝ่ายจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและนิติการของจำเลยซึ่งมาเบิกความเป็นพยานจำเลยได้ยอมรับว่าเป็นความจริง ปรากฏตามบันทึกการประชุมคณะกรรมการปรองดองฯ เอกสารหมาย ล.3 หน้า 3 ข้อ 1 และข้อ 3การที่โจทก์นำสืบว่าที่ดินข้างเคียงที่ดินของโจทก์มีการซื้อขายกันในราคาตารางวาละเท่าใดก่อนมีการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวก็เท่ากับเป็นการนำสืบให้เห็นว่าที่ดินดังกล่าวมีราคาในท้องตลาดตารางวาละเท่าใดในวันที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับนั่นเองสำหรับที่ดินของโจทก์ แม้โจทก์ไม่มีราคาซื้อขายมาแสดงว่ามีราคาตารางวาละเท่าใดในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงพิเศษฯ ใช้บังคับเพราะโจทก์ซื้อมาตั้งแต่ปี 2510 แต่การที่โจทก์นำสืบฟังได้ว่าที่ดินซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับที่ดินของโจทก์มีราคาตารางวาละ 1,655 บาทและที่ดินที่อยู่ข้างเคียงที่ดินของโจทก์มีราคาตารางวาละ 1,887 บาทก็ย่อมฟังได้ว่าที่ดินของโจทก์มีราคาธรรมดาที่ซื้อขายกันในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงพิเศษฯใช้บังคับไม่ต่ำกว่าตารางวาละ 1,655 บาทดังนั้นที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ในราคาตารางวาละ1,655 บาท จึงเป็นราคาที่เหมาะสมและชอบธรรมแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ข้อที่จำเลยฎีกาว่า การเวนคืนที่ดินของราษฎรเพื่อสร้างทางหลวงนั้นเป็นการบริหารราชการแผ่นดินเพื่อประโยชน์แก่สาธารณชนทั่วไป การที่กฎหมายกำหนดให้ต้องจ่ายค่าทดแทนให้แก่ราษฎรที่ถูกเวนคืนที่ดินไม่ใช่เป็นการซื้อขายที่ผู้ถูกเวนคืนจะเรียกร้องให้ใช้ค่าเสียหาย เสมือนหนึ่งว่าได้ขายที่ดินต่อเอกชนด้วยกัน โจทก์จึงจะนำราคาซื้อขายที่ดินระหว่างเอกชนต่อเอกชนมาเป็นเกณฑ์ไม่ได้นั้น เห็นว่า แม้การเวนคืนที่ดินของราษฎรเพื่อสร้างทางหลวงเป็นการบริหารราชการแผ่นดินเพื่อประโยชน์แก่สาธารณชนทั่วไปดังที่จำเลยอ้างก็ตาม แต่รัฐก็มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าทดแทนที่ดินเพื่อเป็นการบรรเทาผลร้ายแก่เจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืนตามความเหมาะสมและเป็นธรรม ทั้งต้องปฏิบัติต่อเจ้าของที่ดินทุกคนโดยเสมอภาคกันด้วยกรณีของโจทก์จะเห็นได้ว่า ที่ดินของโจทก์เป็นที่ดินที่ได้ถมดินและปรับปรุงเป็นสวนผลไม้และที่อยู่อาศัย มีสภาพร่มรื่นสวยงามปรากฏตามภาพถ่ายหมาย จ.4 ถึง จ.17 จำเลยกำหนดค่าทดแทนที่ดินให้ตารางวาละ 1,300 บาท แต่ที่ดินของบริษัทเงินทุนแหลมทองจำกัด ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับที่ดินของโจทก์และโจทก์นำสืบว่าเป็นที่ดินที่มีสภาพเป็นที่ลุ่มยังไม่ได้ถมดินและทำการปรับปรุงใด ๆ โดยจำเลยไม่ได้นำสืบโต้แย้ง จำเลยกลับกำหนดค่าทดแทนที่ดินให้ตารางวาละ 1,655 บาท เช่นนี้ ย่อมเห็นได้ชัดแจ้งว่าไม่เป็นธรรมสำหรับโจทก์ดังนั้น การที่โจทก์เรียกร้องเอาค่าทดแทนที่ดินสูงกว่าค่าทดแทนที่จำเลยกำหนดให้โดยขอให้จ่ายค่าทดแทนที่ดินตามราคาธรรมดาที่ซื้อขายกันในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงพิเศษฯ ใช้บังคับจึงชอบที่จะกระทำได้ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน”
พิพากษายืน

Share