คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 288/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ผู้ร้องซื้อที่ดินพิพาทซึ่งติดจำนองกับโจทก์มาจาก ด.จึงเป็นผู้รับโอนทรัพย์สินจำนองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 735 และปรากฏว่า ผู้ร้องรับโอนทรัพย์จำนองมาก่อนฟ้องคดีการที่โจทก์บอกกล่าวบังคับจำนองไปยังผู้ร้องโดยมิได้ฟ้องผู้ร้องเป็นจำเลยด้วยนั้น มิใช่การบังคับจำนองที่ถูกต้องตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 728 เมื่อผู้ร้องไม่ใช่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาโจทก์จึงยังไม่มีสิทธิยึดที่ดินของผู้ร้องได้ เพราะการบังคับคดีตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 278นั้น จะต้องเป็นกรณีที่โจทก์อ้างว่าทรัพย์ที่จะบังคับคดีเป็นของลูกหนี้ตามคำพิพากษา เมื่อทรัพย์ที่พิพาทเป็นของผู้ร้องมิใช่ของลูกหนี้ตามคำพิพากษาจึงต้องปล่อยทรัพย์พิพาทที่ยึด

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งแปดในฐานะทายาทของนายดี กันยานะ ให้ชำระหนี้จำนอง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งแปดชำระเงินแก่โจทก์ 89,912.49 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยและค่าฤชาธรรมเนียม จำเลยทั้งแปดไม่ชำระโจทก์ขอให้บังคับคดีเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 202 ตำบลดอกคำใต้ อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยาที่นายดีจำนองไว้กับโจทก์เพื่อขายทอดตลาดชำระหนี้
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ที่ดินที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้เป็นของผู้ร้องไม่ใช่ของลูกหนี้โจทก์ ขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด
โจทก์ให้การว่า เดิมที่ดินพิพาทเป็นของนายดี กันยานะและนายดีได้จำนองไว้กับโจทก์ ต่อมานายดีจึงได้โอนให้แก่ผู้ร้องสิทธิจำนองจึงติดไปด้วย โจทก์ย่อมยึดที่ดินพิพาทมาขายทอดตลาดเอาชำระหนี้จำนองได้และโจทก์ได้บอกกล่าวบังคับจำนองแก่ผู้ร้องแล้ว
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้ปล่อยที่ดินพิพาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับให้ยกคำร้องของ ผู้ร้อง
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่านายดี กันยานะ ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย ร.จ.1 ไว้กับโจทก์ และนายดี กันยานะได้จดทะเบียนขายที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย ร.1 ให้แก่ผู้ร้อง ซึ่งต่อมาได้ออกเป็นโฉนดที่ดินตามเอกสารหมาย ร.3 ก่อนโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาทโจทก์ได้บอกกล่าวบังคับจำนองแก่ผู้ร้องแล้ว ปัญหาต้องวินิจฉัยมีว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินแปลงเดียวกันกับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่นายดีจำนองไว้กับโจทก์ตามเอกสารหมาย ร.จ.1หรือไม่ เห็นว่า ที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ร.1ซึ่งออกภายหลังหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย ร.จ.1ระบุทิศติดต่อไว้ตรงกันว่า ทิศเหนือจดที่นายหน่อ คำมาเร็วทิศใต้กับทิศตะวันตกจดที่นานายมูล อิ่นคำ และทิศตะวันออกจดเหมือง จำนวนเนื้อที่ก็ระบุไว้ใกล้เคียงกันมากคือตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย ร.1 ระบุไว้ 24 ไร่1 งาน และตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย ร.จ.1ระบุไว้ 25 ไร่ 50 ตารางวา เหตุที่เนื้อที่ขาดหายไปไม่ตรงกันคงเนื่องมาจากความผิดพลาดของผู้ทำการรังวัดที่ดินพิพาทและคิดคำนวณมากกว่า ซึ่งจะเห็นได้ว่าในการออกโฉนดที่พิพาทตามเอกสารหมาย ร.3 เนื้อที่ก็เปลี่ยนแปลงลดลงเหลือ 23 ไร่3 งาน 75 ตารางวา เท่านั้น และแม้รูปที่ดินในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ทั้งสองฉบับจะไม่เหมือนกันก็ตาม แต่รูปแผนที่ในโฉนดที่ดินซึ่งออกตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย ร.1ก็หาเหมือนกันไม่ เมื่อรูปที่ดินในเอกสารดังกล่าวทั้งสามฉบับต่างมีรูปลักษณะคล้าย ๆ กันเช่นนี้ไม่น่าที่จะเป็นที่ดินคนละแปลงไปได้ และทางพิจารณาที่ผู้ร้องนำสืบมาก็ไม่ปรากฏว่านายดีนำที่ดินแปลงอื่นที่มีเนื้อที่ใกล้เคียงกันตั้งอยู่ในทำเลเดียวกันไปจำนองไว้กับโจทก์ ดังนี้ที่โจทก์นำสืบว่าที่ดินพิพาทคือที่ดินที่นายดีจำนองไว้กับโจทก์ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย ร.จ.1 จึงเชื่อได้ว่าเป็นความจริง เมื่อเป็นเช่นนี้การที่ภายหลังต่อมาแม้จะออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินพิพาทตามเอกสารหมาย ร.1 แล้วออกเป็นโฉนดที่ดินตามเอกสารหมาย ร.3โดยไม่ระบุรายการจดทะเบียนจำนองไว้กับโจทก์ก็หาทำให้การจำนองสิ้นไปไม่ ที่ดินพิพาทจึงยังติดจำนองโจทก์อยู่ เมื่อผู้ร้องซื้อที่ดินพิพาทมาจากนายดีจึงเป็นผู้รับโอนทรัพย์สินจำนอง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 735 ข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ร้องรับโอนทรัพย์จำนองมาก่อนโจทก์ฟ้องคดี การที่โจทก์บอกกล่าวบังคับจำนองไปยังผู้ร้องโดยมิได้ฟ้องผู้ร้องเป็นจำเลยด้วยนั้นจึงมิใช่การบังคับจำนองที่ถูกต้องตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 728 เมื่อผู้ร้องไม่ใช่ลูกหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์จึงยังไม่มีสิทธิยึดที่ดินของผู้ร้องได้ เพราะการบังคับคดีตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 278 นั้นจะต้องเป็นกรณีที่โจทก์อ้างว่าทรัพย์ที่จะบังคับคดีเป็นของลูกหนี้ตามคำพิพากษา เมื่อโจทก์รับว่าทรัพย์ที่พิพาทเป็นของผู้ร้องมิใช่ของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเช่นนี้จึงต้องปล่อยทรัพย์พิพาทที่ยึดไว้ ฎีกาของผู้ร้องข้อนี้ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น

Share