คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 65/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ศาลชั้นต้นจ่ายสำเนาคำร้องขอแก้ไขคำให้การของจำเลยให้โจทก์ในวันชี้สองสถาน โดยไม่กำหนดวันพิจารณาคำร้องขอแก้ไขคำให้การของจำเลยออกไป เพื่อจะได้ส่งสำเนาคำร้องขอแก้ไขคำให้การของจำเลยให้โจทก์ทราบล่วงหน้าอย่างน้อยสามวัน แม้จะเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ โดยไม่ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 181(1) แต่การแก้ไขคำให้การนั้นกฎหมายมิได้บัญญัติว่าข้อความที่แก้ไขใหม่จะต้องเกี่ยวข้องกับคำให้การเดิมหรือข้ออ้างเดิม คงบัญญัติเฉพาะเรื่องคำฟ้องเท่านั้น ฉะนั้น การแก้ไขคำให้การจะยกข้อต่อสู้ขึ้นใหม่กล่าวแก้ข้อหาของโจทก์ ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับคำให้การเดิมหรือไม่จึงไม่สำคัญทั้งเรื่องอายุความก็เป็นข้อตัดฟ้องโจทก์ จำเลยอ้างเหตุผลมาด้วยว่า มูลหนี้ตามฟ้องโจทก์กล่าวอ้างการเช่าและใช้บริการซึ่งตามกฎหมายโจทก์ต้องใช้สิทธิเรียกร้องภายในกำหนดอายุความสองปีดังนั้น คดีของโจทก์จึงขาดอายุความฟ้องร้องตามกฎหมายแล้ว ซึ่งเป็นคำให้การที่ชัดแจ้งและแสดงเหตุแห่งการขาดอายุความชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง แล้วส่วนอายุความที่จำเลยต่อสู้นั้นต้องด้วยบทกฎหมายลักษณะใดเป็นหน้าที่ของศาลที่จะยกขึ้นวินิจฉัยเอง และโจทก์สามารถนำสืบว่าคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความเพราะเหตุใดได้อยู่แล้ว จึงไม่เสียเปรียบเชิงคดีแต่อย่างใด หากจะย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินการแก้ไขกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบใหม่ ผลก็เหมือนเดิม คือต้องกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่เช่นเดิม เมื่อปรากฏว่าโจทก์จำเลยได้สืบพยานหลักฐานในท้องสำนวนเสร็จสิ้น พอแก่การวินิจฉัยแล้ว ศาลฎีกาไม่จำเป็นต้องย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นแก้ไขกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ว.กรรมการจำเลยได้มีหนังสือขอผ่อนชำระหนี้ต่อโจทก์ แต่หนังสือดังกล่าว ว.ลงลายมือชื่อไว้เพียงผู้เดียวโดยไม่ประทับตราจำเลย ซึ่งตามหนังสือรับรองนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครได้ระบุจำนวนและอำนาจของกรรมการจำเลยไว้ว่า ให้กรรมการสองนายร่วมกันลงลายมือชื่อพร้อมประทับตราสำคัญของจำเลย จึงมีอำนาจทำการแทนจำเลยได้ การที่ ว.กระทำการดังกล่าวโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาอ้างอิงให้เห็นว่า จำเลยได้มอบหมายหรือเชิดให้ ว. เป็นตัวแทนจำเลยมีหนังสือขอผ่อนชำระหนี้ต่อโจทก์ดังนั้นการที่ ว. ลงชื่อในหนังสือขอผ่อนชำระหนี้ดังกล่าวจึงไม่มีผลผูกพันจำเลย การที่โจทก์จัดให้มีการบริการพูดโทรศัพท์ทางไกลติดต่อไปต่างประเทศ และเรียกเก็บเงินค่าบริการในการพูดโทรศัพท์นั้นถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้ค้าในการรับทำการงานต่าง ๆ และเรียกเอาสินจ้างอันจะพึงได้รับในการนั้นตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(7) ดังนั้น สิทธิเรียกร้องสำหรับค่าบริการในการพูดโทรศัพท์ไปต่างประเทศของโจทก์จึงมีอายุความ 2 ปี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นผู้เช่าเครื่องโทรศัพท์เลขหมาย278-1385, 278-1596-8, 279-2601 และครอบครองเช่าเครื่องโทรศัพท์เลขหมาย 279-7563-7 จากโจทก์ ในระหว่างวันที่ 18 กุมภาพันธ์2528 ถึงวันที่ 18 ตุลาคม 2529 จำเลยใช้บริการและยินยอมให้ผู้อื่นใช้บริการพูดโทรศัพท์ระหว่างประเทศของโจทก์จากประเทศไทยไปยังประเทศต่าง ๆ โดยเรียกออกจากโทรศัพท์เลขหมายดังกล่าว เป็นค่าใช้บริการทั้งสิ้น 285,722 บาท โจทก์ได้เรียกเก็บเงินค่าใช้บริการและมีหนังสือทวงถามให้จำเลยนำเงินไปชำระให้โจทก์หลายครั้งแต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 299,754 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 285,722 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยมิได้เป็นผู้เช่าและมิได้เป็นผู้รับผิดชอบโทรศัพท์ตามฟ้อง จำเลยหรือบริวารของจำเลยไม่เคยพูดหรือใช้โทรศัพท์ระหว่างประเทศตามฟ้อง จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ มูลหนี้ตามฟ้องเป็นการเรียกค่าเช่าและค่าบริการตามกฎหมายต้องฟ้องภายในกำหนด 2 ปีฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การก่อนวันนัดชี้สองสถาน 1 วัน คือยื่นเมื่อวันที่25 กุมภาพันธ์ 2531 ครั้นวันนัดชี้สองสถานคือวันที่ 26 กุมภาพันธ์2531 ศาลชั้นต้นจ่ายสำเนาคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การดังกล่าวแก่โจทก์ และอนุญาตให้จำเลยแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การได้ตามขอโจทก์ได้แถลงคัดค้านว่าจำเลยไม่ได้ส่งสำเนาคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การให้โจทก์ทราบล่วงหน้าก่อนศาลชั้นต้นนัดพิจารณาคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การ 3 วัน เป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 181(1) ไม่ชอบที่ศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้จำเลยแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การตามที่จำเลยร้องขอได้และในวันเดียวกันนั้นเองศาลชั้นต้นได้ทำการชี้สองสถานกำหนดประเด็นข้อพิพาทข้อที่สี่ว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ในวันที่ 4มีนาคม 2531 โจทก์ได้ยื่นคำร้องคัดค้านว่าจำเลยเพียงแต่ให้การปฏิเสธว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ โดยมิได้แสดงเหตุผลให้ชัดแจ้งว่าคดีโจทก์ขาดอายุความเพราะเหตุใด ข้อปฏิเสธดังกล่าวจึงไม่เป็นประเด็น ศาลชั้นต้นจะนำข้อปฏิเสธที่ว่านั้นกำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทเรื่องอายุความไม่ได้ ซึ่งต่อมาในวันที่ 7 มีนาคม 2531ศาลชั้นต้นก็ยืนยันว่าที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้อายุความเป็นประเด็นข้อพิพาทนั้นเป็นคำสั่งที่ชอบ ไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยใช้เงินจำนวน 61,800 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 เมษายน 2530 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท ค่าขึ้นศาลให้คิดตามจำนวนทุนทรัพย์เท่าที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินเพิ่มแก่โจทก์อีกจำนวน 223,902 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่15 เมษายน 2530 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 1,500บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่ศาลชั้นต้นจ่ายสำเนาคำร้องขอแก้ไขคำให้การของจำเลยให้โจทก์ในวันชี้สองสถาน โดยไม่กำหนดวันพิจารณาคำร้องขอแก้ไขคำให้การของจำเลยออกไป เพื่อจะได้ส่งสำเนาคำร้องขอแก้ไขคำให้การของจำเลย ให้โจทก์ทราบล่วงหน้าอย่างน้อยสามวันแม้จะเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ โดยไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติมาตรา 181(1) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งแต่ศาลฎีกาเห็นว่า การแก้ไขคำให้การนั้นกฎหมายมิได้บัญญัติว่าข้อความที่แก้ไขใหม่จะต้องเกี่ยวข้องกับคำให้การเดิมหรือข้ออ้างเดิมคงบัญญัติเฉพาะเรื่องคำฟ้องเท่านั้น ฉะนั้นการแก้ไขคำให้การจะยกข้อต่อสู้ขึ้นใหม่กล่าวแก้ข้อหาของโจทก์ ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับคำให้การเดิมหรือไม่ จึงไม่สำคัญ ทั้งเรื่องอายุความก็เป็นข้อตัดฟ้องโจทก์ จำเลยอ้างเหตุผลมาด้วยว่ามูลหนี้ตามฟ้อง โจทก์กล่าวอ้างการเช่าและใช้บริการซึ่งตามกฎหมายโจทก์ต้องใช้สิทธิเรียกร้องภายในกำหนดอายุความสองปี ดังนั้น คดีของโจทก์จึงขาดอายุความฟ้องร้องตามกฎหมายแล้ว เห็นว่าคำให้การของจำเลยเป็นคำให้การชัดแจ้งและแสดงเหตุแห่งการขาดอายุความ ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง แล้ว ส่วนอายุความที่จำเลยต่อสู้นั้นต้องด้วยบทกฎหมายลักษณะใด เป็นหน้าที่ของศาลที่จะยกขึ้นวินิจฉัยเอง และโจทก์สามารถนำสืบว่าคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความเพราะเหตุใดได้อยู่แล้ว จึงไม่เสียเปรียบเชิงคดีแต่อย่างใดหากจะย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินการแก้ไขกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบใหม่ ผลก็เหมือนเดิม คือต้องกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่เช่นเดิม เมื่อปรากฏว่าโจทก์จำเลยได้สืบพยานหลักฐานในท้องสำนวนเสร็จสิ้นพอแก่การวินิจฉัยแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่า ไม่จำเป็นต้องย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นแก้ไขกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ
ส่วนที่โจทก์อ้างว่า เมื่อโจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยชำระหนี้ค่าใช้บริการโทรศัพท์ไปต่างประเทศ นายวัน ตันดุลยเสรี กรรมการจำเลยได้มีหนังสือขอผ่อนชำระหนี้ ตามเอกสารหมาย จ.29 ก็ปรากฏว่าตามหนังสือดังกล่าวนายวันลงลายมือชื่อไว้เพียงผู้เดียว โดยไม่ประทับตราจำเลยไว้ในเอกสารดังกล่าว ซึ่งตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.2 ได้ระบุจำนวนและอำนาจของกรรมการจำเลยไว้ว่าให้กรรมการสองนายร่วมกันลงลายมือชื่อพร้อมประทับตราสำคัญของจำเลยจึงมีอำนาจทำการแทนจำเลยได้ การที่นายวันกระทำการดังกล่าวโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาอ้างอิงให้เห็นว่าจำเลยได้มอบหมายหรือเชิดให้นายวันเป็นตัวแทนจำเลยมีหนังสือขอผ่อนชำระหนี้ค่าใช้บริการโทรศัพท์ต่อโจทก์ ดังนั้น การที่นายวันลงชื่อในเอกสารหมาย จ.29 จึงไม่มีผลผูกพันจำเลยที่จะชำระค่าบริการใช้โทรศัพท์เลขหมาย 279-7563-7
การที่การสื่อสารแห่งประเทศไทยจัดให้มีการบริการพูดโทรศัพท์ทางไกลติดต่อไปต่างประเทศและเรียกเก็บเงินค่าบริการในการพูดโทรศัพท์นั้น ถือได้ว่าการสื่อสารแห่งประเทศไทยเป็นผู้ค้าในการรับทำการงานต่าง ๆ และเรียกเอาสินจ้างอันจะพึงได้รับในการนั้นตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(7) ดังนั้นสิทธิเรียกร้องสำหรับค่าบริการในการพูดโทรศัพท์ไปต่างประเทศของการสื่อสารแห่งประเทศไทย จึงมีอายุความ 2 ปี
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยใช้เงินจำนวน 61,820 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 15 เมษายน 2530 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

Share