คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2434/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องเรียกที่ดินพิพาทเป็นของตนเองทั้งหมดข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของม.เจ้ามรดกและม.มีทายาทซึ่งเป็นบุตรเพียง5คนคือโจทก์จำเลยที่1ที่2นายยศและนายโยน โจทก์จึงมีสิทธิรับมรดกในที่ดินพิพาทหนึ่งในห้าส่วนศาลย่อมพิพากษาให้โจทก์ได้รับส่วนแบ่งในที่ดินพิพาทตามส่วนของตนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา142(2)มิใช่เป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็นที่ศาลจะวินิจฉัยให้ไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่17646 และ 17790 ได้มาโดยนายมูลหรือมุน จริตรัมย์ บิดาโจทก์ยกให้เมื่อปี พ.ศ. 2515 และ 2498 ตามลำดับ ขณะยังไม่มีเอกสารสิทธิ โจทก์ครอบครองทำประโยชน์โดยเปิดเผยเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน แต่เมื่อปี พ.ศ. 2518 นายมูลได้ขอร้องให้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในชื่อของตนเพื่อเป็นประกันว่าจะได้รับการเลี้ยงดูจากโจทก์ โจทก์เห็นว่าเป็นบิดาจึงยินยอมครั้นนายมูลถึงแก่กรรม จำเลยที่ 1 ได้ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกแล้วจำเลยทั้งสามไปดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลงเป็นของจำเลยทั้งสาม เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2535 ขอให้พิพากษาว่า ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 17664 และ 17790 เป็นของโจทก์ห้ามจำเลยทั้งสามและบริวารเข้าเกี่ยวข้อง ให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสามเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2535เสีย และให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกไปจดทะเบียนโอนเป็นชื่อโจทก์ภายใน 7 วัน มิฉะนั้นให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยทั้งสามให้การว่า ที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลงเป็นของนายมูลนายมูลออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์และโฉนดที่ดินในนามของตนเอง ไม่ได้กระทำแทนโจทก์ นายมูลครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมาอย่างเป็นเจ้าของ มิได้ครอบครองแทนผู้ใดหรือใส่ชื่อแทนผู้ใด โจทก์เคยร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนายมูลโดยระบุว่าที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลงเป็นของนายมูลขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษายก ฟ้อง
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้จากพยานหลักฐานโจทก์และจำเลยทั้งสามว่า โจทก์ นายยัง จริตรัมย์ จำเลยที่ 1นายแย้ง จริตรัมย์จำเลยที่ 2 นายยศ จริตรัมย์ และนายโยนจริตรัมย์ เป็นบุตรของนายมูลหรือนายมุน จริตรัมย์นางสวน จริตรัมย์ ภรรยาของนายมูลถึงแก่กรรมแล้วจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนายมูลตามคำสั่งศาลชั้นต้นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 979/2533 ที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง ตามที่ดินโฉนดเลขที่ 17790 และเลขที่ 17664 ตำบลเมืองไผ่ อำเภอกระสังจังหวัดบุรีรัมย์ ตามเอกสารหมาย จ.10 และ จ.12 ตามลำดับ ก่อนโอนใส่ชื่อจำเลยทั้งสาม นายมูล จริตรัมย์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในประการแรกว่า ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นที่ดินของโจทก์ หรือของนายมูล จริตรัมย์ ในข้อนี้ในเมื่อที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง มีชื่อนายมูลเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน โจทก์จึงมีภาระต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของโจทก์ แต่พยานหลักฐานโจทก์ขัดกันเองและขัดกับเหตุผลหลายตอนทำให้ไม่มีน้ำหนักที่จะให้รับฟังได้ว่าเป็นที่ดินของโจทก์ อีกทั้งยังปรากฏตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 694/2533 ของศาลชั้นต้นว่าโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายมูล โดยระบุในคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนายมูลว่า ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของนายมูล และนายมูลได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทให้โจทก์เหตุนี้จึงยังฟังไม่ได้ว่า ที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง เป็นที่ดินของโจทก์ที่ศาลล่างทั้งสองฟังว่า ที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง เป็นที่ดินของนายมูลนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในประการต่อไปว่าเมื่อฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของนายมูล ศาลจะพิพากษาให้โจทก์ในฐานะเป็นบุตรของนายมูลรับมรดกในที่ดินพิพาทตามส่วนของตนได้หรือไม่ในข้อนี้โจทก์ฟ้องเรียกที่ดินพิพาทเป็นของตนเองทั้งหมดเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้แล้วว่า นายมูลเจ้ามรดกมีทายาทซึ่งเป็นบุตรเพียง 5 คน คือโจทก์ จำเลยที่ 1ที่ 2 นายยศ และนายโยน โจทก์จึงมีสิทธิรับมรดกในที่ดินพิพาทหนึ่งในห้าส่วนซึ่งเห็นสมควรพิพากษาให้โจทก์ได้รับส่วนแบ่งในที่ดินพิพาทตามส่วนของตน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(2) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า ปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็นไม่รับวินิจฉัยให้นั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้แบ่งที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลงให้โจทก์ 1 ใน 5 ส่วน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share