แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
อุทธรณ์ของโจทก์เป็นการกล่าวอ้างข้อเท็จจริงโจทก์ได้ถูกจำเลยเลิกจ้างแล้วเพราะเหตุละทิ้งหน้าที่ต้นแต่วันที่24ตุลาคม2538เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายว่าศาลแรงงานพิพากษาไม่ชอบเนื่องจากไม่ได้วินิจฉัยว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่โดยมีเหตุอันสมควรหรือไม่ซึ่งในปัญหานี้ศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ไม่ได้ทำงานให้แก่จำเลยตั้งแต่วันที่24ตุลาคม2538เป็นต้นมาโดยโจทก์สมัครใจเลิกเป็นลูกจ้างของจำเลยเองจำเลยไม่ได้เลิกจ้างโจทก์ดังนี้อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานซึ่งเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ.2522มาตรา54 การกำหนดประเด็นข้อพิพาทและหน้าที่นำสืบในคดีแรงงานไม่จำต้องอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเนื่องจากพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ.2522ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะได้บัญญัติไว้แล้วในมาตรา39วรรคหนึ่งและการกำหนดให้คู่ความฝ่ายใดในคดีแรงงานนำพยานมาสืบก่อนหรือหลังนั้นเป็นอำนาจและดุลพินิจของศาลแรงงานโดยเฉพาะ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2533 จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ครั้งสุดท้ายทำหน้าที่ผู้อำนวยการนิตยสารพีซีแม็กกาซีน ต่อมาวันที่ 31 ตุลาคม 2538 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดและมิได้บอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยติดต่อกันเกินกว่า 3 ปี จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับว่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน เป็นเงิน210,000 บาท และมีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้าง 30 วัน เป็นเงิน 35,000 บาท ทั้งจำเลยยังค้างจ่ายค่าจ้างสำหรับการทำงานตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2538 ถึงวันที่31 ตุลาคม 2538 รวม 31 วัน เป็นเงิน 35,000 บาท โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยไม่ยอมจ่าย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินดังกล่าวแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้เลิกจ้างโจทก์ แต่โจทก์ไม่พอใจในนโยบายและการบริหารงานของจำเลยจึงแสดงท่าทีเป็นปฏิปักษ์ต่อนโยบายของจำเลยอย่างรุนแรง ทั้งโจทก์เอาเวลางานไปทำธุรกิจส่วนตัวและปล่อยปละละเลยต่อหน้าที่การงานและไม่ให้ความร่วมมือประสานงานกับฝ่ายอื่น ๆ เมื่อฝ่ายบริหารของจำเลยเรียกโจทก์ไปว่ากล่าวตักเตือน โจทก์ไม่พอใจและยิ่งฝ่าฝืนมากยิ่งขึ้นจนในที่สุดโจทก์ได้ละทิ้งหน้าที่ไปติดต่อกันกว่า 3 วันขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยมิได้เลิกจ้างโจทก์ หากแต่โจทก์ไม่ไปทำงานให้จำเลยเองทั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม2538 เป็นต้นมา จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ส่วนค่าจ้างนั้นจำเลยค้างจ่ายให้แก่โจทก์จริงตามฟ้อง พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์จำนวน 35,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขอนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ อุทธรณ์ ต่อ ศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยมีฐานะเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบธุรกิจทำนิตยสารเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2533 ตำแหน่งครั้งสุดท้ายโจทก์เป็นผู้อำนวยการนิตยสารพีซีแม็กกาซีน ได้รับค่าจ้างเดือนละ 35,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน ต่อมาโจทก์ไม่พอใจในนโยบายของจำเลยโจทก์จึงเตรียมลาออกโดยเก็บของจากที่ทำงานตั้งแต่วันที่18 ตุลาคม 2538 ครั้นวันที่ 24 ตุลาคม 2538 โจทก์ไม่มาทำงานให้แก่จำเลยตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา โดยจำเลยไม่ได้เลิกจ้างโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ข้อแรกว่า ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าจำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์โดยให้เหตุผลแต่เพียงว่า โจทก์ไม่ไปทำงานให้แก่จำเลยตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2538 เป็นต้นมา แต่ไม่วินิจฉัยว่าการที่โจทก์ไม่ไปทำงานนั้นมีเหตุผลอันสมควรหรือไม่อันเป็นองค์ประกอบของกฎหมายในการที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง เห็นว่า อุทธรณ์ของโจทก์เท่ากับเป็นการกล่าวอ้างข้อเท็จจริงว่าโจทก์ได้ถูกจำเลยเลิกจ้างแล้วเพราะเหตุละทิ้งหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2538 ทั้งนี้เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายว่าศาลแรงงานกลางพิพากษาไม่ชอบเนื่องจากไม่ได้วินิจฉัยว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่โดยมีเหตุอันสมควรหรือไม่ ซึ่งในปัญหานี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ไม่ไปทำงานให้แก่จำเลยตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2538 เป็นต้นมาโดยโจทก์สมัครใจเลิกเป็นลูกจ้างของจำเลยเอง จำเลยไม่ได้เลิกจ้างโจทก์จึงถือได้ว่าอุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวเป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง ซึ่งเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
โจทก์อุทธรณ์ข้อที่สองว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยให้โจทก์ออกจากงานโดยไม่มีเหตุอันควร จำเลยให้การว่าโจทก์ออกจากงานไปเองโดยขาดงานเกินสามวันติดต่อกัน จำเลยไม่ได้เลิกจ้างโจทก์เป็นกรณีจำเลยยกข้อต่อสู้ขึ้นมาใหม่ ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่จำเลยที่ศาลแรงงานกลางกำหนดให้โจทก์มีหน้าที่นำสืบก่อนจึงไม่ชอบ เห็นว่าการกำหนดประเด็นข้อพิพาทและหน้าที่นำสืบในคดีแรงงานไม่จำต้องอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเนื่องจากพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะได้บัญญัติไว้แล้วในมาตรา 39วรรคหนึ่งว่า ในกรณีมีประเด็นที่ยังไม่อาจตกลงกันหรือไม่อาจประนีประนอมยอมความกัน ให้ศาลแรงงานจดประเด็นข้อพิพาทและบันทึกคำแถลงของโจทก์กับคำให้การของจำเลยอ่านให้คู่ความฟังและให้ลงลายมือชื่อไว้ โดยจะระบุให้คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนำพยานมาสืบก่อนหรือหลังก็ได้ แล้วให้ศาลแรงงานกำหนดวันสืบพยานไปทันที บทบัญญัติดังกล่าวแสดงให้เห็นชัดลง การกำหนดให้คู่ความฝ่ายใดในคดีแรงงานนำพยานมาสืบก่อนหรือหลังนั้นเป็นอำนาจและดุลพินิจของศาลของศาลแรงงานโดยเฉพาะ
พิพากษายืน