คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2104/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์และจำเลยที่1มีรายได้จากการจัดทำพระรูปปั้นจำลองออกจำหน่ายเหมือนกันโจทก์ใช้ชื่อ”จตุรเสนาสมาคม”มาก่อนจำเลยที่2เคยเป็นกรรมการสมาคมของโจทก์มาก่อนโดยเป็นเหรัญญิกแล้วจึงมาเป็นกรรมการของจำเลยที่1จำเลยที่2มีส่วนรู้เห็นในการตั้งชื่อสมาคมโจทก์มาก่อนและจำเลยที่2ทราบดีว่าโจทก์หารายได้จากไหนมาหลังจากจำเลยที่2ลาออกจากสมาคมโจทก์แล้วจึงมาตั้งสมาคมจำเลยที่1ขึ้นมาใหม่โดยจำเลยที่2เป็นผู้ดำเนินการเปลี่ยนชื่อจากธรรมโชคเป็นจตุระสมาคม การที่จำเลยที่2ซึ่งเป็นนายกสมาคมจำเลยที่1รู้ถึงการใช้ชื่อและการดำเนินการของโจทก์อยู่ก่อนนั้นและจำเลยที่2ได้ดำเนินการเปลี่ยนชื่อจำเลยที่1จากเดิมมาเป็นจตุระสมาคม และดำเนินการขายพระรูปปั้นจำลองเช่นเดียวกับโจทก์แม้ชื่อโจทก์จะมี7พยางค์และจำเลยที่1มี5พยางค์และตัวสระแตกต่างกันแต่คำนำหน้าเหมือนกันและอ่านออกเสียงเหมือนกันประชาชนทั่วไปอาจเกิดความสับสนได้การที่จำเลยที่1กระทำเห็นเจตนาได้ว่าจำเลยที่1เปลี่ยนชื่อของตนโดยจงใจเลียนชื่อโจทก์โจทก์จึงมีสิทธิห้ามมิให้จำเลยที่1ใช้ชื่อดังกล่าวได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทสมาคม มีวัตถุประสงค์เพื่อเทิดทูนพระมหากษัตริย์ ส่งเสริมความสามัคคีระหว่างทหารตำรวจ นอกประจำการและผู้ประกอบคุณงามความดีในการป้องกันรักษาประเทศ ส่งเสริมการกุศล การศาสนา การกีฬา การศึกษาและการสังคมสงเคราะห์ เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2522 โจทก์ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้หล่อพระรูปปั้นจำลองขนาดต่าง ๆ ของพระมหากษัตริย์ราชวงค์จักรีทุกพระองค์และของบุรพกษัตริย์ออกจำหน่ายเพื่อหาเงินรายได้สมทบทุนการกุศลของสมาคม โจทก์ดำเนินการดังกล่าวจนเป็นที่รู้จักแพร่หลายแก่ประชาชนทั่วไป จำเลยที่ 1เป็นนิติบุคคลประเภทสมาคม โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นนายกสมาคม จำเลยที่ 3เป็นอุปนายก จำเลยที่ 5 เป็นนายทะเบียน จำเลยที่ 4 เป็นเหรัญญิกจำเลยที่ 6 ถึงที่ 9 เป็นกรรมการ ต่อมาเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2535จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อสมาคมเป็น “จตุระสมาคม”เพื่อเปลี่ยนชื่อให้เหมือนพ้องกับชื่อโจทก์ ทำให้ประชาชนทั่วไป สำคัญผิดว่า จำเลยที่ 1 เกี่ยวข้องกับโจทก์หรือเป็นโจทก์ การดำเนินการของจำเลยที่ 1 เป็นการจัดจำหน่ายหล่อพระรูปปั้นจำลองต่าง ๆ ในลักษณะเดียวกับโจทก์ ทำให้ประชาชนสำคัญผิดว่าเป็นการดำเนินงานเพื่อหาเงินรายได้สมทบทุนการกุศลของโจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์เสียหายขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ห้ามใช้ชื่อ “จตุระสมาคม” กับให้จำเลยทั้งเก้าดำเนินการจดทะเบียนเพิกถอนเปลี่ยนแปลงชื่อ “จตุระสมาคม” หากไม่ปฏิบัติขอให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งเก้าและให้จำเลยทั้งเก้าชำระเงิน 100,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จนกว่าจะชำระเสร็จ กับค่าเสียหายเดือนละ100,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ให้การว่า จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิใช้ชื่อว่า “จตุระสมาคม” ได้ตามกฎหมาย ชื่อของโจทก์มี 7 พยางค์ ส่วนชื่อของจำเลยที่ 1 มี 5 พยางค์ ประชาชนทั่วไปที่อ่านและเขียนภาษาไทยได้เมื่อเห็นชื่อโจทก์และจำเลยที่ 1 แล้วจะทราบได้ทันทีว่าไม่เหมือนกันและไม่พ้องกัน จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 กระทำการในฐานะกรรมการ จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายร่วมกับจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 7 ถึงที่ 9 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ระงับการใช้ชื่อ”จตุระสมาคม” ให้จำเลยทั้งเก้าดำเนินการจดทะเบียนเพิกถอนเปลี่ยนแปลงชื่อ “จตุระสมาคม”ที่สำนักงานทะเบียนสมาคมกองบังคับการตำรวจสันติบาล หากจำเลยทั้งเก้าไม่ดำเนินการดังกล่าวให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งเก้าคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลย ที่ 1 ถึง ที่ 6 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 9นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลย ที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 เปลี่ยนชื่อโดยมิได้จงใจเลียนชื่อโจทก์ ข้อเท็จจริงยุติตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยโดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้ฎีกาโต้แย้งว่า โจทก์และจำเลยที่ 1มีรายได้จากการจัดทำพระรูปปั้นจำลองออกจำหน่ายเหมือนกันโจทก์ใช้ชื่อ “จตุรเสนาสมาคม” มาก่อน จำเลยที่ 2เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า จำเลยที่ 2 เคยเป็นกรรมการสมาคมของโจทก์มาก่อน โดยเป็นเหรัญญิก แล้วจึงมาเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1จำเลยที่ 2 มีส่วนรู้เห็นในการตั้งชื่อสมาคมโจทก์มาก่อน และจำเลยที่ 2 ทราบดีว่าโจทก์หารายได้จากไหนมา โดยโจทก์หารายได้จากการขายพระรูปปั้นจำลองของพระมหากษัตริย์รัชการต่าง ๆ หลังจากจำเลยที่ 2ลาออกจากสมาคมโจทก์แล้วจึงมาตั้งสมาคม จำเลยที่ 1 ขึ้นมาใหม่ โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ดำเนินการเปลี่ยนชื่อจากธรรมโชคเป็นจตุระสมาคม เดิมสมาคมจำเลยที่ 1 ไม่เคยมีรายได้จากการขายพระรูปปั้นจำลองของพระมหากษัตริย์รัชกาลต่าง ๆ เมื่อจำเลยที่ 2มาอยู่สมาคมดังกล่าวจึงดำเนินการให้มีการขายพระรูปหล่อดังกล่าวเห็นว่า การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายกสมาคมจำเลยที่ 1 รู้ถึงการใช้ชื่อและการดำเนินการของโจทก์อยู่ก่อนแล้ว และจำเลยที่ 2 ได้ดำเนินการเปลี่ยนชื่อจำเลยที่ 1 จากเดิมมาเป็นจตุระสมาคมและดำเนินการขายพระรูปปั้นจำลองเช่นเดียวกับโจทก์ แม้ชื่อโจทก์จะมี7 พยางค์และจำเลยที่ 1 มี 5 พยางค์ และตัวสระแตกต่างกัน แต่คำนำหน้าเหมือนกันและอ่านออกเสียงเหมือนกัน ประชาชนทั่วไปอาจเกิดความสับสนได้ การที่จำเลยที่ 1 กระทำเห็นเจตนาได้ว่าจำเลยที่ 1 เปลี่ยนชื่อของตนโดยจงใจเลียนชื่อโจทก์
พิพากษายืน

Share