คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 296/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่20กรกฎาคม2538จะครบกำหนดอุทธรณ์1เดือนในวันที่20สิงหาคม2538โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ครั้งที่1อ้างว่าทนายโจทก์ยื่นคำแถลงขอคัดเอกสารต่างๆเมื่อวันที่17สิงหาคม2538แต่ยังไม่ได้รับเอกสารที่ขอคัดแสดงว่าโจทก์ปล่อยให้เวลาล่วงเลยไปนานถึง27วันจึงเพิ่งจะมาขอคัดเอกสารและเมื่อศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ครั้งที่1ออกไป15วันแล้วโจทก์น่าจะใช้ประโยชน์จากระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นขยายให้นั้นดำเนินการคัดเอกสารต่างๆให้เรียบร้อยเสียแต่เนิ่นๆตามคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ครั้งที่2โจทก์อ้างว่าเพิ่งได้รับสำเนาคำพิพากษาศาลชั้นต้นในวันที่5กันยายน2538ซึ่งเป็นวันยื่นคำร้องแสดงว่าโจทก์เพิกเฉยไม่ดำเนินการตามที่ได้รับอนุญาตให้ขยายระยะเวลามาแต่ต้นรวมเป็นเวลา42วันการที่โจทก์เพิ่งได้รับสำเนาคำพิพากษาศาลชั้นต้นในวันยื่นคำร้องจึงเป็นผลเนื่องมาจากการเพิกเฉยของโจทก์ถือไม่ได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัย

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์เมื่อวันที่20 กรกฎาคม 2538 โจทก์ไม่อาจยื่นอุทธรณ์ในกำหนดจึงยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาครั้งที่ 1 เป็นเวลา 15 วัน นับแต่วันครบกำหนดระยะเวลายื่นอุทธรณ์ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต ต่อมาวันที่ 5กันยายน 2538 โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์อีก7 วัน อ้างว่าโจทก์เพิ่งจะได้รับสำเนาคำพิพากษา ไม่อาจทำคำฟ้องอุทธรณ์มายื่นได้ทันในกำหนดศาลชั้นต้นสั่งว่า ไม่มีเหตุเพียงพอที่จะขยายระยะเวลาให้อีก ให้ยกคำร้อง
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่20 กรกฎาคม 2538 จะครบกำหนดอุทธรณ์ 1 เดือน ในวันที่ 20 สิงหาคม2538 ซึ่งตรงกับวันอาทิตย์อันเป็นวันหยุดราชการ โจทก์จึงไม่มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ได้ภายในวันที่ 21 สิงหาคม 2538 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/8 ที่แก้ไขใหม่ เมื่อปรากฎว่าก่อนครบกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ดังกล่าวโจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ครั้งที่ 1 ออกไป 15 วัน นับแต่วันครบกำหนด และศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ออกไป 15 วัน นับแต่วันครบกำหนด ดังนี้การนับระยะเวลาที่ขยายออกไปจึงต้องนับต่อจากวันสุดท้ายแห่งระยะเวลาเดิมเป็นวันเริ่มต้นแห่งระยะเวลาที่ขยายออกไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/7 โดยไม่ต้องคำนึงว่าวันสุดท้ายของระยะเวลาเดิมจะเป็นวันหยุดราชการหรือไม่เมื่อวันครบกำหนดอุทธรณ์เป็นวันที่ 20 สิงหาคม 2538 จึงต้องนับวันถัดจากวันครบกำหนดเป็นวันเริ่มต้นซึ่งตรงกับวันที่ 21สิงหาคม 2538 โดยเมื่อนับติดต่อกันไปครบกำหนด 15 วัน จะเป็นวันที่ 4 กันยายน 2538 ซึ่งตรงกับวันจันทร์อันเป็นวันปฎิบัติราชการตามปกติไม่ใช่วันหยุดนักขัตฤกษ์ แต่โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2538 จึงเป็นกรณีที่โจทก์มิได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาก่อนสิ้นระยะเวลาครบกำหนดตามที่ขยายออกไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23ซึ่งการที่โจทก์จะยื่นคำร้องในกรณีนี้ได้ต้องปรากฎว่ามีเหตุสุดวิสัย ตามคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ครั้งที่ 2 ที่โจทก์อ้างว่าเพิ่งจะได้รับสำเนาคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในวันนี้ จึงไม่อาจทำคำฟ้องอุทธรณ์ยื่นได้ทันภายในกำหนดนั้น ได้ความว่าโจทก์อ้างในคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ครั้งที่ 1 ว่า ทนายโจทก์ยื่นคำแถลงขอคัดเอกสารต่าง ๆ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2538 แต่ยังไม่ได้รับเอกสารที่ขอคัด แสดงว่าโจทก์ปล่อยให้เวลาล่วงเลยไปนานถึง 27 วัน จึงเพิ่งจะมาขอคัดเอกสารต่าง ๆ และเมื่อศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ครั้งที่ 1 ออกไป 15 วัน แล้วโจทก์น่าจะใช้ประโยชน์จากระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นขยายให้นั้นดำเนินการคัดเอกสารต่าง ๆ ให้เรียบร้อยเสียแต่เนิ่น ๆ ตามคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ ครั้งที่ 2 ที่โจทก์อ้างว่าเพิ่งได้รับสำเนาคำพิพากษาศาลชั้นต้นในวันที่ 5 กันยายน 2538 ซึ่งเป็นวันยื่นคำร้องแสดงว่าโจทก์เพิกเฉยไม่ดำเนินการตามที่ได้รับอนุญาตให้ขยายระยะเวลามาแต่ต้นรวมเป็นเวลา 42 วัน การที่โจทก์เพิ่งได้รับสำเนาคำพิพากษาศาลชั้นต้นในวันที่ 5 กันยายน 2538 นั้นจึงเป็นผลเนื่องจากการเพิกเฉยของโจทก์ถือไม่ได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัยที่ศาลล่างทั้งสองไม่อนุญาตให้โจทก์ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ในครั้งที่ 2 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share