คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6604/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้คัดค้านรับโอนหุ้นบริษัทค. จำนวน12,000หุ้นจากจำเลยที่2โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนแม้เป็นการโอนในระหว่างระยะเวลา3ปีก่อนมีการขอให้จำเลยที่2ล้มละลายเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็ไม่อาจร้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมโอนขายหุ้นระหว่างจำเลยที่2กับผู้คัดค้านได้ คดีในชั้นนี้ผู้ร้องในฐานะเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นคู่ความเองจึงไม่ชอบที่ศาลอุทธรณ์จะให้ผู้ร้องเป็นผู้กำหนดค่าทนายความใช้แทนให้แก่อีกฝ่ายปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองล้มละลายเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2529 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 2 เด็ดขาดเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2529 และพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2530 ขณะนี้จำเลยที่ 2ยังไม่พ้นภาวะล้มละลาย
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เดิมจำเลยที่ 2 เป็นผู้ถือหุ้นบริษัทเครือพญาไทเอ๊กซเรย์ จำกัด จำนวน 12,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ100 บาท ต่อมาเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2528 จำเลยที่ 2 ได้โอนขายหุ้นจำนวน 9,000 หุ้น ให้แก่ผู้คัดค้านในราคาหุ้นละ100 บาท และเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2529 จำเลยที่ 2 ได้โอนขายหุ้นจำนวน 3,000 หุ้น ในราคา 200,000 บาท ให้แก่ผู้คัดค้านเพื่อเป็นการชำระหนี้เงินกู้ โดยผู้คัดค้านรับโอนไว้โดยไม่สุจริต และมีค่าตอบแทนต่ำกว่าราคาซื้อขายกันจริงและเป็นการกระทำในระหว่างระยะเวลา 3 ปี ก่อนมีการขอให้จำเลยที่ 2 ล้มละลาย ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนการโอนหุ้นบริษัทเครือพญาไทเอ็กซเรย์ จำกัด จำนวน 12,000 หุ้น ระหว่างจำเลยที่ 2 กับผู้คัดค้านตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 114 ให้กลับคืนสู่ฐานะเดิม หากไม่โอนคืนให้ถือเอาคำสั่งของศาลแทนการแสดงเจตนาการโอน ถ้าไม่สามารถคืนสู่ฐานะเดิมได้ให้ผู้คัดค้านชดใช้ราคาหุ้นแทนเป็นเงิน1,200,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันยื่นคำร้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า จำเลยที่ 2 ไม่ใช่เจ้าของหุ้นที่โอนเจ้าของหุ้นที่แท้จริงคือจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้ถือหุ้นแทนเท่านั้นผู้คัดค้านได้รับโอนหุ้นจำนวน 12,000 หุ้นมาโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนในราคาที่ไม่ต่ำกว่าราคาซื้อขายกันจริงจำเลยที่ 2 หาได้มีหนี้สินล้นพ้นตัวไม่ ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้องให้ผู้ร้องใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้คัดค้าน โดยกำหนดค่าทนายความให้2,000 บาท
ผู้ร้อง และ จำเลย ที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในส่วนอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจอุทธรณ์ แต่เป็นอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22(3) เท่านั้นให้ยกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดแก่จำเลยที่ 2 ส่วนอุทธรณ์ของผู้ร้อง พิพากษายืน ให้ผู้ร้องกำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้ผู้คัดค้านตามที่เห็นสมควร โดยให้หักจากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 2
ผู้ร้อง ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่า เมื่อวันที30 ธันวาคม 2527 บริษัทเครือพญาไทเอ็กซเรย์ จำกัด ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ปลูกสร้างอาคารศูนย์เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ 6 หลังรวมเป็นเงิน 18,270,000 บาท จำเลยที่ 2 ได้ซื้อหุ้นของบริษัทเครือพญาไทเอ็กซเรย์ จำกัด 12,000 หุ้น ราคาหุ้นละ 100 บาทเป็นเงิน 1,200,000 บาท ต่อมาวันที่ 14 สิงหาคม 2528 และวันที่1 พฤษภาคม 2529 จำเลยที่ 2 ได้โอนขายหุ้นทั้ง 12,000 หุ้นให้แก่ผู้คัดค้านและโจทก์ได้ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองล้มละลายเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2529 ซึ่งเป็นการโอนในระหว่างระยะเวลา 3 ปี ก่อนมีการขอให้จำเลยที่ 2 ล้มละลายมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า ผู้ร้องจะขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการโอนขายหุ้นระหว่างจำเลยที่ 2 กับผู้คัดค้านได้หรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้คัดค้านรับโอนหุ้นบริษัทเครือพญาไทเอ็กซเรย์ จำกัด จำนวน 12,000 หุ้นจากจำเลยที่ 2 โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนผู้ร้องจึงไม่อาจร้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมโอนขายหุ้นระหว่างจำเลยที่ 2 กับผู้คัดค้านได้ แต่ที่ศาลอุทธรณ์ให้ผู้ร้องกำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้ผู้คัดค้านนั้น เห็นว่า คดีในชั้นนี้ผู้ร้องในฐานะเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นคู่ความเอง จึงไม่ชอบที่จะให้ผู้ร้องเป็นผู้กำหนดค่าทนายความใช้แทนให้แก่อีกฝ่าย ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share