คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6062/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นผู้ติดต่อการท่าเรือแห่งประเทศไทยเพื่อขอนำเรือเข้าเทียบท่าและขนถ่ายสินค้าจากเรือเข้าโรงพักสินค้าของการท่าเรือแห่งประเทศไทยรายงานเรื่องเรือเข้าออกต่อกรมเจ้าท่าและกรมศุลกากรติดต่อกองตรวจคนเข้าเมืองให้ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจคนที่มากับเรือแจ้งให้บริษัทอ.ผู้รับสินค้าทราบถึงการมาถึงของสินค้าและให้ผู้รับสินค้าไปรับสินค้าจากการท่าเรือแห่งประเทศไทยโดยจำเลยเป็นผู้ออกใบสั่งปล่อยสินค้าเป็นการกระทำแทนบริษัทผู้ขนส่งสินค้าเท่านั้นไม่พอให้ถือว่าจำเลยเป็นผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งสินค้าพิพาทร่วมกับบริษัทดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา616และมาตรา618ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดข้อพิพาทและเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งกับเรื่องรับขนของทางทะเลเพราะในขณะเกิดข้อพิพาทคดีนี้ยังไม่มีกฎหมายว่าด้วยการนั้นและไม่ปรากฏจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นในเรื่องดังกล่าวเมื่อจำเลยไม่ได้เป็นผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งร่วมในการขนส่งสินค้าพิพาทจำเลยก็ไม่ต้องรับผิดในการที่สินค้าพิพาทสูญหายไปในระหว่างการขนส่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยประกอบธุรกิจรับขนส่งสินค้าทางเรือบริษัทเอเซียยูเนี่ยน จำกัด ได้สั่งซื้อฝ้ายบดชนิดเอาเมล็ดออกด้วยลูกกลิ้งแซมบัตจำนวน 607 มัด ในราคา ซี.แอนด์.เอฟ. (คือราคาสินค้ารวมค่าใช้จ่ายต่าง ๆ และค่าระวางเรือจนถึงท่าเรือปลายทางโดยไม่รวมค่าประกันภัย) เป็นเงิน 175,160.01 ดอลลาร์สหรัฐโดยขนส่งสินค้าทางเรือจากประเทศซูดานมายังท่าเรือคลองเตยกรุงเทพมหานคร จำเลยเป็นผู้ขนส่งสินค้าดังกล่าวร่วมกับบริษัทแปซิฟิค อินเตอร์เนชั่นแนล ไลน์ส (พีทีอี.) จำกัด โดยใช้เรือ”โกตา เบรานี” ขนส่งสินค้าจากประเทศซูดานมายังท่าเรือประเทศสิงคโปร์ แล้วขนถ่ายสินค้าลงเรือ “ไฮหยิง” ขนส่งจากประเทศสิงค์โปร์มาถึงท่าเรือคลองเตย กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2533 ปรากฏว่าสินค้าสูญหายไป 93 มัดบริษัทเอเซียยูเนี่ยน จำกัด ได้เอาประกันภัยสินค้าดังกล่าวไว้แก่โจทก์ โดยกำหนดทุนประกันภัยจำนวน 175,211 ดอลลาร์สหรัฐคิดเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อ 25.54 บาทเป็นเงิน 4,474,488.90 บาท บริษัทเอเซียยูเนี่ยน จำกัดเรียกร้องให้โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยชดใช้ค่าเสียหายได้โจทก์ได้ชำระค่าเสียหายจำนวน 753,948.72 บาท ให้แก่บริษัทเอเซียยูเนี่ยน จำกัด เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2534 โจทก์จึงรับช่วงสิทธิจากบริษัทดังกล่าวมาไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 759,216.03 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 753,948.72 บาทนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้เป็นผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งร่วมกับบริษัทแปซิฟิค อินเตอร์เนชั่นแนล ไลน์ส (พีทีอี.) จำกัด ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 753,948.72 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 30 ตุลาคม 2534เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติตามที่โจทก์และจำเลยนำสืบรับกันและไม่โต้แย้งกันว่า จำเลยเป็นผู้ติดต่อการท่าเรือแห่งประเทศไทยเพื่อขอนำเรือไฮหยิงเข้าเทียบท่าและขนถ่ายสินค้าจากเรือไฮหยิงเข้าโรงพักสินค้าของการท่าเรือแห่งประเทศไทย รายงานเรื่องเรือเข้าออกต่อกรมเจ้าท่าและกรมศุลกากรติดต่อกองตรวจคนเข้าเมืองให้ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจคนที่มากับเรือไฮหยิง แจ้งให้บริษัทเอเซียยูเนี่ยน จำกัด ผู้รับสินค้าทราบถึงการมาถึงของสินค้าและให้ผู้รับสินค้าไปรับสินค้าจากการท่าเรือแห่งประเทศไทยโดยจำเลยเป็นผู้ออกใบสั่งปล่อยสินค้าเห็นว่า การกระทำต่าง ๆ ของจำเลยตามข้อเท็จจริงดังกล่าวนั้นเป็นการกระทำแทนบริษัทแปซิฟิค อินเตอร์เนชั่นแนล ไลน์ส (พีทีอี.)จำกัด ผู้ขนส่งสินค้าเท่านั้น ไม่พอให้ถือว่าจำเลยเป็นผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งสินค้าพิพาทร่วมกับบริษัทดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 616 และมาตรา 618 ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดข้อพิพาทและเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งกับเรื่องรับขนของทางทะเล เพราะในขณะเกิดข้อพิพาทคดีนี้ยังไม่มีกฎหมายว่าด้วยการนั้น และไม่ปรากฎจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นในเรื่องดังกล่าว ส่วนที่โจทก์นำสืบว่าจำเลยร่วมกับบริษัทแปซิฟิคอินเตอร์เนชั่นแนล ไลน์ส (พีทีอี.) จำกัดขนส่งสินค้าพิพาทโดยจำเลยได้ออกบันทึกใบถ่ายลำเรือที่ประเทศสิงคโปร์โดยเขียนระบุลงไปในเอกสารหมาย จ.7 ซึ่งเป็นสำเนาของใบตราส่งเอกสารหมาย จ.6 ที่บริษัทแปซิฟิค อินเตอร์เนชั่นแนล ไลน์ส (พีทีอี.) จำกัดเป็นผู้ออก และจำเลยนำสืบว่าจำเลยรับรองตามเอกสารหมาย จ.7 ว่ามีการขนถ่ายสินค้าเปลี่ยนลำเรือจากเรือโกตาเบรานี มาเป็นเรือไฮหยิงที่ประเทศสิงคโปร์เพื่อให้บริษัทเอเซียยูเนี่ยนจำกัด นำเอกสารดังกล่าวไปดำเนินพิธีการทางศุลกากรนั้น ก็ได้ความจากนายเฉลิม เหล่าประภัสสร กรรมการผู้จัดการบริษัทเอเซียยูเนี่ยน จำกัด พยานโจทก์ว่าผู้ขายเป็นผู้ว่าจ้างบริษัทแปซิฟิค อินเตอร์เนชั่นแนล ไลน์ส (พีทีอี.) จำกัดขนส่งสินค้าพิพาทตลอดเส้นทางจากท่าเรือประเทศซูดานมายังท่าเรือกรุงเทพมหานคร โดยให้มีการขนถ่ายเปลี่ยนเรือได้ และได้ความจากนางสาวพิไล คล่องพิทยาพงษ์ พนักงานแผนกสินไหมทางทะเลของโจทก์ว่า จำเลยลงชื่อรับรองเอกสารหมาย จ.7 เพื่อให้บริษัทเอเซียยูเนี่ยน จำกัด นำไปทำพิธีทางศุลกากร เหตุที่มีการรับรองว่ามีการเปลี่ยนเรือที่ประเทศสิงคโปร์เพราะเรือไฮหยิงเป็นเรือบรรทุกสินค้ามายังกรุงเทพมหานคร กับได้ความจากนายสัญชัยวรวิทยานนท์ พนักงานออกสินค้าของห้างหุ้นส่วนจำกัดสัพพัญญูเอ็นเตอร์ไพร์ส ผู้ออกสินค้าพิพาทที่ท่าเรือคลองเตยให้แก่บริษัทเอเซียยูเนี่ยน จำกัด ว่ามีการขนถ่ายสินค้าเปลี่ยนเรือที่ท่าเรือในประเทศสิงคโปร์ และเหตุที่ต้องมีระบุไว้ในเอกสารหมาย จ.7 ว่าได้มีการขนถ่ายสินค้าเปลี่ยนไปยังเรือลำใหม่ก็เพื่อเป็นหลักฐานให้พยานสามารถนำเอกสารดังกล่าวไปทำพิธีการเกี่ยวกับสินค้าที่กรมศุลกากรได้ มิฉะนั้นชื่อเรือที่ขนส่งสินค้ามาจะไม่ตรงกันคำเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าวเจือสมกับทางนำสืบของจำเลย ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยรับรองในเอกสารหมาย จ.7ว่ามีการขนถ่ายสินค้าจากเรือโกตาเบรานี ลงเรือไฮหยิงที่ประเทศสิงค์โปร์เพื่อเป็นหลักฐานให้บริษัทเอเซียยูเนี่ยน จำกัดผู้รับสินค้านำเอกสารดังกล่าวไปทำพิธีการทางศุลกากรเกี่ยวกับสินค้านั้นได้ เห็นว่าแม้จำเลยได้รับรองเช่นนั้น ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งสินค้าพิพาทร่วมกับบริษัทแปซิฟิค อินเตอร์เนชั่นแนล ไลน์ส (พีทีอี.) จำกัดพยานหลักฐานของจำเลยมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ฟังได้ว่าจำเลยไม่ได้เป็นผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งสินค้าพิพาทร่วมกับบริษัทแปซิฟิคอินเตอร์เนชั่นแนล ไลน์ส (พีทีอี.) จำกัด และเมื่อได้วินิจฉัยเช่นนี้แล้ว ก็ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของจำเลยอีกต่อไปเพราะเมื่อจำเลยไม่ได้เป็นผู้ขนส่งร่วมในการขนส่งสินค้าพิพาท จำเลยก็ไม่ต้องรับผิดในการที่สินค้าพิพาทสูญหายไปในระหว่างการขนส่ง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 616 และมาตรา 618 และไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ผู้รับประกันภัยซึ่งรับช่วงสิทธิจากเจ้าของสินค้าผู้เอาประกันภัยมาเรียกเอาค่าเสียหายในการที่สินค้าพิพาทสูญหายในระหว่างการขนส่งนั้น
พิพากษากลับ ให้ยก ฟ้องโจทก์

Share