คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5620/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หนังสือตัดทายาทโดยธรรมมิให้รับมรดกเจ้ามรดกได้ทำต่อหน้าช. ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตดุสิตซึ่งอยู่ในฐานะรักษาราชการแทนผู้อำนวยการเขตดุสิตแสดงว่าขณะนั้นผู้อำนวยการเขตดุสิตไม่ได้อยู่ปฏิบัติหน้าที่แต่มีช. ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตดุสิตรักษาราชการแทนผู้อำนวยการเขตดังนั้นช. ย่อมมีอำนาจและหน้าที่กระทำการแทนได้เพราะเป็นผู้รักษาราชการแทนซึ่งเป็นไปตามระเบียบแบบแผนและข้อบังคับในการบริหารราชการแผ่นดินเมื่อผู้มีอำนาจกระทำการไม่อยู่ก็ต้องมีผู้รักษาการกระทำการแทนได้ไม่ทำให้หนังสือตัดทายาทโดยธรรมดังกล่าวเสียไป เจ้ามรดกแสดงเจตนาชัดแจ้งตัดผู้ร้องมิให้รับมรดกแล้วการที่จะตั้งบุคคลใดเป็นผู้จัดการมรดกเป็นอำนาจของศาลโดยเฉพาะเพื่อประโยชน์ของกองมรดกตามพฤติการณ์และโดยคำนึงถึงเจตนาเจ้ามรดกประกอบด้วยเมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าผู้ร้องเป็นผู้ที่มิได้รับทรัพย์สินหรือประโยชน์จากกองมรดกเพราะถูกตัดและตามหนังสือตัดทายาทโดยธรรมดังกล่าวก็มีผลสมบูรณ์บังคับได้ผู้ร้องจึงไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะขอให้ตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดก

ย่อยาว

สำนวนแรก ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องเป็นบุตรบุญธรรมของหม่อมเจ้าหญิงเริงจิตรแจรง อาภากร ซึ่งจดทะเบียนรับผู้ร้องเป็นบุตรบุญธรรมหม่อมเจ้าหญิงเริงจิตรแจรงสิ้นชีพิตักษัยโดยมิได้ทำพินัยกรรมไว้ ผู้ร้องในฐานะเป็นทายาทโดยธรรมประสงค์จะจัดการมรดกแต่มีเหตุขัดข้องเพราะธนาคารซึ่งหม่อมเจ้าหญิงเริงจิตรแจรงถือหุ้นอยู่ แจ้งว่าให้ผู้ร้องได้รับแต่งตั้งโดยคำสั่งศาลเป็นผู้จัดการมรดกเสียก่อน ผู้ร้องไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามกฎหมายขอให้ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งผู้ร้องให้เป็นผู้จัดการมรดกรายนี้
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า หม่อมเจ้าหญิงเริงจิตรแจรงได้ทำหนังสือตัดผู้ร้องมิให้มีสิทธิได้รับมรดก ผู้ร้องจึงไม่มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของหม่อมเจ้าหญิงเริงจิตรแจรง ขอให้ยกคำร้อง
สำนวนที่สอง ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องเป็นทายาทโดยธรรมของหม่อมเจ้าหญิงเรงจิตรแจรง อาภากร โดยผู้ร้องเป็นบุตรของหม่อมราชวงศ์หญิงเติมแสงไข กรรสูต ซึ่งเป็นธิดาองค์เดียวของหม่อมเจ้าหญิงเริงจิตรแจรงและได้ถึงแก่กรรมไปก่อนแล้วหม่อมเจ้าหญิงเริงจิตรแจรงสิ้นชีพินักษัยเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม2536 ผู้ร้องจึงมีสิทธิรับมรดกแทนที่ ผู้ร้องประสงค์จะจัดการมรดกแต่มีเหตุขัดข้องเพราะธนาคารและเจ้าพนักงานที่ดินแจ้งว่าให้ผู้ร้องต้องได้รับแต่งตั้งโดยคำสั่งศาลเป็นผู้จัดการมรดกเสียก่อนผู้ร้องไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามกฎหมายขอให้ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งผู้ร้องให้เป็นผู้จัดการมรดกรายนี้
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านเป็นบุตรบุญธรรมของหม่อมเจ้าหญิงเริงจิตรแจรง อาภากร จึงเป็นทายาทโดยธรรมผู้ร้องไม่สมควรได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกของหม่อมเจ้าหญิงเริงจิตรแจรงเพราะผู้ร้องมีพฤติการณ์ปกปิดความจริงและปกปิดทรัพย์มรดก ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นให้เรียกผู้ร้องในสำนวนแรกและผู้คัดค้านในสำนวนหลังว่า ผู้ร้อง เรียกผู้คัดค้านในสำนวนแรกและผู้ร้องในสำนวนหลังว่าผู้คัดค้าน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งให้นางสาวดาลัด กรรณสูต ผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของหม่อมเจ้าหญิงเริงจิตรแจรง อาภากรผู้สิ้นชีพิตักษัย ให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย ยกคำร้องของผู้ร้อง
ผู้ร้อง อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
ผู้ร้อง ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าหม่อมเจ้าหญิงเริงจิตรแจรง อาภากร เจ้ามรดกได้สิ้นชีพิตักษัยเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2536 มีธิดาหนึ่งองค์คือหม่อมราชวงศ์หญิงเติมแสงไข รพีพัฒน์ ซึ่งได้สมรสกับนายปรีดา กรรณสูต มีบุตรด้วยกัน 4 คน คือ นายจรัลธาดา กรรณสูตนายแสงสูรย์ กรรณสูต นางสาวดาลัด กรรณสูต (ผู้คัดค้าน) และนายรุจน์ กรรณสูต ซึ่งถึงแก่กรรมไปแล้วหม่อมราชวงศ์หญิงเติมแสงไขถึงแก่กรรม ก่อนหม่อมเจ้าหญิงเริงจิตรแจรง อาภากร จึงคงมีทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของหม่อมเจ้าหญิงเริงจิตรแจรง อาภากร คือผู้ร้องนายจรัลธาดา นายแสงสูรย์ และผู้คัดค้าน คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องเพียงว่า เอกสารหมาย ร.ค.3 ที่ตัดมิให้ผู้ร้องรับมรดกนั้นมีผลหรือไม่ และผู้ร้องสมควรเป็นผู้จัดการมรดกนายนี้หรือไม่ โดยผู้ร้องฎีกาว่า ตามข้อเท็จจริงที่ทำหนังสือตัดทายาทโดยธรรมมิให้รับมรดกตามเอกสารหมาย ร.ค.3 มิได้ทำมอบไว้แก่นายอำเภอหรือผู้อำนวยการเขต แต่ทำกับนายชวน ซึ่งเป็นเพียงผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตไม่ใช่ผู้อำนวยการเขตที่แท้จริง จึงไม่ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายกำหนดไว้ในมาตรา 1608(2) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้น เห็นว่า ตามหนังสือตัดทายาทโดยธรรมมิให้รับมรดกเอกสารหมาย ร.ค.3หม่อมเจ้าหญิงเริงจิตรแจรง อาภากร เจ้ามรดกได้ทำต่อหน้านายชวนผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตดุสิต ซึ่งอยู่ในฐานะรักษาราชการแทนผู้อำนวยการเขตดุสิต แสดงว่าขณะนั้นผู้อำนวยการเขตดุสิตไม่ได้อยู่ปฏิบัติหน้าที่ แต่มีนายชวนผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตดุสิตรักษาราชการแทนผู้อำนวยการเขต ดังนั้นนายชวนย่อมมีอำนาจและหน้าที่กระทำการแทนได้เพราะเป็นผู้รักษาราชการแทนซึ่งเป็นไปตามระเบียบแบบแผนและข้อบังคับในการบริหารราชการแผ่นดินเมื่อผู้มีอำนาจกระทำการไม่อยู่ก็ต้องมีผู้รักษาการกระทำการแทนได้ไม่ทำให้หนังสือตัดทายาทโดยธรรมดังกล่าวเสียไปเมื่อพิเคราะห์ประกอบกับคำเบิกความของนายชวนได้ความว่าเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2533 ขณะที่พยานดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตดุสิต ได้มีหม่อมเจ้าหญิงเริงจิตรแจรง อาภากร มาติดต่อและแสดงความประสงค์ตัดผู้ร้องซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมมิให้รับมรดก พยานจึงได้ดำเนินการทำบันทึกให้ปรากฏตามเอกสารหมาย ร.ค.3 และในขณะที่ทำนั้นหม่อมเจ้าหญิงเริงจิตรแจรง อาภากร มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ดีอีกทั้งมีใบรับรองแพทย์มาแสดงด้วยตามเอกสารหมาย ค.16 จึงเห็นได้ว่าหม่อมเจ้าหญิงเริงจิตรแจรง อาภากร เจ้ามรดกได้แสดงเจตนาชัดแจ้งตัดผู้ร้องมิให้รับมรดกแล้ว การที่จะตั้งบุคคลใดเป็นผู้จัดการมรดกเป็นอำนาจของศาลโดยเฉพาะเพื่อประโยชน์ของกองมรดกตามพฤติการณ์และโดยคำนึงถึงเจตนาเจ้ามรดกประกอบด้วย เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าผู้ร้องเป็นผู้ที่มิได้รับทรัพย์สินหรือประโยชน์จากกองมรดกเพราะถูกตัด และตามหนังสือตัดทายาทโดยธรรมดังกล่าวก็มีผลสมบูรณ์บังคับได้ ผู้ร้องจึงไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะขอให้ตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกของหม่อมเจ้าหญิงเริงจิตรแจรง อาภากร ผู้สิ้นชีพิตักษัยที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share