คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5451/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งพิทักษ์เด็ดขาดของจำเลยแล้วเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการจำนองและการโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยกับผู้คัดค้านซึ่งเป็นอำนาจและหน้าที่ของผู้ร้องที่จะต้องกระทำในคดีล้มละลายเพื่อรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้นำมาชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ทั้งหลายการกระทำของผู้ร้องจึงมิใช่กระทำการแทนจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้และการขอเพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทก็ปรากฏว่าเป็นกรณีพิพาทกันระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านเท่านั้นซึ่งเป็นอำนาจและหน้าที่โดยเฉพาะของผู้ร้องจะต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.2483เพื่อที่จะติดตามเอาทรัพย์สินที่เคยเป็นของจำเลยกลับคืนเข้ากองทรัพย์สินของจำเลยเพื่อจัดการแบ่งในระหว่างเจ้าหนี้นั้นเมื่อศาลได้ยกเลิกการล้มละลายผู้ร้องก็หมดอำนาจที่จะเก็บรวบรวมทรัพย์สินของจำเลยเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้อีกต่อไปแม้ว่าจำเลยหลุดพ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลายแล้วก็ตามจำเลยก็ไม่มีสิทธิขอให้บังคับในคดีที่ผู้ร้องร้องขอให้เพิกถอนการโอนและการจำนองให้ผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้รับโอนที่ดินพิพาทปฏิบัติตามคำพิพากษาได้ คำพิพากษาที่ให้เพิกถอนการโอนและการจำนองมีผลผูกพันเฉพาะคู่ความคือระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านเมื่อการยกเลิกการล้มละลายมีผลทำให้ผู้ร้องหมดอำนาจที่จะรวบรวมทรัพย์สินของจำเลยแล้วก็มีผลทำให้ผู้ร้องไม่สามารถบังคับคดีต่อไปได้หาใช่เป็นเรื่องการยกเลิกการล้มละลายจะเป็นการลบล้างคำพิพากษาหรือไม่

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2530 โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองขอให้ล้มละลาย ต่อมาเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2530ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 2 เด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ล้มละลายเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2531 ชั้นรวบรวมและจำหน่ายทรัพย์สิน ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการจำนองและการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 35195 ถึง 35200, 35206และ 66562 ระหว่างจำเลยที่ 2 กับผู้คัดค้าน คดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาพิพากษาให้เพิกถอนเฉพาะการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 35195 ถึง 35200,35206 และ 66562 ระหว่างจำเลยที่ 2 กับผู้คัดค้านและให้กลับไปจดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้เงินกู้ผู้คัดค้านตามเดิมหรือผู้ร้องจะเลือกชำระเงินกู้ 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี แก่ผู้คัดค้านในฐานะผู้คัดค้านเป็นเจ้าหนี้มีประกันแทนการจดทะเบียนจำนองก็ได้หากไม่สามารถโอนที่ดินกลับมาเป็นของจำเลยที่ 2 ให้ผู้คัดค้านใช้ราคาที่ดิน 1,214,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการโอนจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยหักหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยดังกล่าวในฐานะเป็นเจ้าหนี้มีประกันได้ ในระหว่างผู้ร้องดำเนินการบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ซึ่งยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีนี้เพียงรายเดียวได้ยื่นคำร้องขอถอนคำขอรับชำระหนี้ ผู้ร้องได้มีคำสั่งอนุญาตและได้รายงานต่อศาลชั้นต้นขอให้มีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายของจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกเลิกการล้มละลายของจำเลยที่ 2 ตามมาตรา 135(2) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2536
จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องว่า เมื่อผู้ร้องได้ขอให้ศาลชั้นต้นออกคำบังคับแก่ผู้คัดค้านให้ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ให้ผู้คัดค้านจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทคืนแก่จำเลยที่ 2 แล้ว จึงเป็นอันว่าจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาททั้ง 8 โฉนด ตามคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายแก่จำเลยที่ 2 ก็ไม่กระทบถึงการใดที่ศาลหรือผู้ร้องที่ได้กระทำไปแล้วจำเลยที่ 2 ย่อมมีสิทธิขอให้ศาลบังคับผู้คัดค้านปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลฎีกา ขอให้มีหนังสือแจ้งเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครสาขาบางขุนเทียน ออกใบแทนโฉนดที่ดินพิพาทแล้วจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์แก่จำเลยที่ 2 ตามคำพิพากษาศาลฎีกาต่อไป
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องแต่ผู้เดียวมีอำนาจจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลในคดีนี้จึงสิ้นสุดลงคำพิพากษาที่ให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทตามที่ผู้ร้องร้องขอก็ไม่มีผลบังคับ คำร้องของจำเลยที่ 2 ที่ขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลฎีกาเป็นการขอให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาคดีล้มละลายต่อไปจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว เห็นว่า คำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวเป็นการร้องขอให้เพิกถอนอันเป็นการจัดการทรัพย์สินของจำเลยที่ 2เพื่อรวบรวมมาแบ่งแก่เจ้าหนี้ซึ่งเป็นอำนาจของผู้ร้องโดยเฉพาะและเป็นการกระทำในฐานะแทนเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ไม่ใช่กระทำแทนจำเลยที่ 2 การบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวเป็นอำนาจและหน้าที่ของผู้ร้อง เมื่อศาลมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายอำนาจในการบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาของผู้ร้องจึงหมดไปจำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิร้องขอบังคับให้ผู้คัดค้านปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลฎีกา ให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 2
จำเลย ที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
จำเลย ที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 จะขอให้บังคับให้ผู้คัดค้านจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 35195 ถึง 35200, 35206 และ 66562 รวม8 โฉนด ให้แก่จำเลยที่ 2 ตามคำร้องได้หรือไม่ จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าโดยผลแห่งคำพิพากษาศาลฎีกายังมีผลใช้บังคับอยู่ เนื่องด้วยจำเลยที่ 2 มีความผูกพันเป็นคู่ความในคดีด้วยและที่ดินพิพาททั้ง 8 โฉนดเป็นทรัพย์สินที่ผู้ร้องได้รวบรวมกลับมาเป็นของจำเลยที่ 2ตามคำพิพากษาศาลฎีกา เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายผู้ร้องหมดอำนาจหน้าที่ จำเลยที่ 2 ย่อมมีสิทธิหน้าที่ตามกฎหมายในการดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปด้วยตนเองได้ มิใช่จำเลยที่ 2กระทำการแทนผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ พิเคราะห์แล้วหลังจากศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดของจำเลยที่ 2แล้ว ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการจำนองและการโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 กับผู้คัดค้าน ซึ่งเป็นอำนาจและหน้าที่ของผู้ร้องที่จะต้องกระทำในคดีล้มละลายเพื่อรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้นำมาชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ทั้งหลายการกระทำของผู้ร้องจึงมิใช่กระทำการแทนจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกหนี้และการขอเพิกถอนการโอนที่ดินพิพาท ก็ปรากฏว่าเป็นกรณีพิพาทกันระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านเท่านั้น ซึ่งเป็นอำนาจและหน้าที่โดยเฉพาะของผู้ร้องจะต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483เพื่อที่จะติดตามเอาทรัพย์สินที่เคยเป็นของจำเลยที่ 2 กลับคืนเข้ากองทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 เพื่อจัดการแบ่งในระหว่างเจ้าหนี้นั้นเมื่อศาลได้ยกเลิกการล้มละลาย ผู้ร้องก็หมดอำนาจที่จะเก็บรวบรวมทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 เพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้อีกต่อไปเหตุนี้แม้ว่าจำเลยที่ 2 หลุดพ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลายแล้วก็ตาม จำเลยที่ 2 ก็ไม่มีสิทธิขอให้บังคับในคดีที่ผู้ร้องร้องขอให้เพิกถอนการโอนและการจำนองให้ผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้รับโอนที่ดินพิพาททั้ง 8 โฉนดปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลฎีกาได้ที่ผู้ร้องฎีกาว่า การยกเลิกการล้มละลายไม่เป็นการลบล้างคำพิพากษาศาลฎีกานั้น เห็นว่า คำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวมีผลผูกพันเฉพาะคู่ความคือระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้าน เมื่อการยกเลิกการล้มละลายมีผลทำให้ผู้ร้องหมดอำนาจที่จะรวบรวมทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 แล้ว ก็มีผลทำให้ผู้ร้องไม่สามารถบังคับคดีต่อไปได้ หาใช่เป็นเรื่องการยกเลิกการล้มละลายจะเป็นการลบล้างคำพิพากษาศาลฎีกาหรือไม่ ส่วนข้อฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ว่าผู้คัดค้านกระทำการไม่สุจริตโดยสมคบกับเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ให้ถอนคำขอรับชำระหนี้แล้วให้ผู้ร้องรายงานศาลสั่งยกเลิกการล้มละลายเพื่อไม่ให้มีการบังคับคดีแก่ผู้คัดค้านนั้นเห็นว่าก่อนที่เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์จะฟ้องจำเลยที่ 2 ขอให้ล้มละลายปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ทำสัญญาและจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทให้ผู้คัดค้านพร้อมกับทำหนังสือมอบอำนาจให้ผู้คัดค้านมีสิทธิรับโอนที่ดินพิพาท เพื่อเป็นการชำระหนี้จำนองได้อยู่แล้วครั้นถูกผู้ร้องขอให้เพิกถอนการโอนและมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้เพิกถอนจำเลยที่ 2 กลับฉวยโอกาสอาศัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่พิพากษาให้เพิกถอนการโอนมาบังคับเอาที่พิพาทคืนการกระทำของจำเลยที่ 2ส่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 เองเป็นฝ่ายไม่บริสุทธิ์ใจ ข้อฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่อ้างว่า ผู้คัดค้านกับเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์กระทำไม่สุจริตนั้นฟังไม่ขึ้น ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน

Share