คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5385/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางานมาตรา30วรรคหนึ่งนั้นผู้กระทำต้องมีเจตนาที่จะจัดหางานให้คนหางานเพื่อทำงานในต่างประเทศเมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยได้หลอกลวงผู้เสียหายทั้งหกว่าจำเลยสามารถจัดส่งผู้เสียหายทั้งหกไปทำงานในประเทศญี่ปุ่น โดยจะได้รับค่าจ้างคนละ40,000บาทต่อเดือนซึ่งผู้เสียหายทั้งหกต้องเสียค่าใช้จ่ายและค่าบริการให้จำเลยซึ่งเป็นความเท็จเพราะความจริงแล้วจำเลยไม่สามารถส่งผู้เสียหายทั้งหกไปทำงานได้คำบรรยายฟ้องดังกล่าวแสดงว่าจำเลยไม่มีเจตนาจัดหางานให้คงมีแต่เจตนาหลอกลวงผู้เสียหายทั้งหกเพื่อที่จะได้รับเงินค่าใช้จ่ายและค่าบริการเท่านั้นการกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานจัดหางานโดยมิได้รับอนุญาตตามที่โจทก์ฟ้องแม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ไม่อาจลงโทษได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2536 ถึงวันที่15 พฤษภาคม 2536 ทั้งเวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยกับพวกอีกหนึ่งคนยังไม่ได้ตัวมาฟ้องร่วมกันกระทำผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ จำเลยกับพวกดังกล่าวร่วมกันจัดหางานให้แก่คนหางานทั่วไป รวมทั้งนายประจักษ์ รักษาเคน ผู้เสียหายที่ 1นายทองสุก ดวงมั่น ผู้เสียหายที่ 2 นายสงวน แสงสุวรรณดีผู้เสียหายที่ 3 นายสมจิตรหรือสมจิตร์ อันฤทธิ์ ผู้เสียหายที่ 4นายสุข สีลาย ผู้เสียหายที่ 5 และนายประสิทธิ์ ดรลาผู้เสียหายที่ 6 ซึ่งประสงค์จะทำงานในต่างประเทศกับนายจ้างในต่างประเทศ โดยจำเลยกับพวกเรียกและรับเงินค่าบริการเป็นการตอบแทนในการจัดหางานและค่าใช้จ่ายในการจัดหางานจากคนหางานทั่วไปและผู้เสียหายทั้งหก อันเป็นการจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ โดยจำเลยกับพวกมิได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานกลาง และจำเลยกับพวกดังกล่าวโดยมีเจตนาทุจริตร่วมกันหลอกลวงผู้เสียหายทั้งหกดังกล่าว ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จและปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกผู้เสียหายทั้งหกให้แจ้ง โดยจำเลยกับพวกได้หลอกลวงผู้เสียหายทั้งหกว่า จำเลยกับพวกได้รับใบอนุญาตจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยสามารถจัดส่งผู้เสียหายทั้งหกไปทำงานในประเทศญี่ปุ่น โดยจะได้รับค่าจ้างคนละ 40,000 บาท ต่อเดือน ซึ่งผู้เสียหายทั้งหกจะต้องเสียเงินค่าบริการและค่าใช้จ่ายในการจัดหางานให้แก่จำเลยกับพวกเป็นเงินคนละ 250,000 บาท อันเป็นความเท็จ ซึ่งความจริงแล้วจำเลยกับพวกไม่เคยได้รับใบอนุญาตจัดหางานให้คนหางานไปทำงานในต่างประเทศจากนายทะเบียนจัดหางานกลาง และจำเลยกับพวกไม่สามารถส่งผู้เสียหายทั้งหกไปทำงานในประเทศญี่ปุ่นได้โดยการหลอกลวงของจำเลยกับพวกดังกล่าว ทำให้ผู้เสียหายทั้งหกหลงเชื่อว่าเป็นความจริงจึงต่างไปสมัครงานเพื่อจะไปทำงานในประเทศญี่ปุ่น และผู้เสียหายทั้งหกต่างชำระเงินค่าบริการและค่าใช้จ่ายในการจัดหางานเป็นจำนวนเงินคนละ 250,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,500,000 บาทให้แก่จำเลยกับพวกตามที่ถูกหลอกลวง เหตุทั้งหมดเกิดที่แขวงปทุมวันเขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341, 83, 91 และพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางานพ.ศ. 2528 มาตรา 4, 30, 82 ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินแก่ผู้เสียหายทั้งหกคนละ 250,000 บาท รวมเป็นเงิน 1,500,000 บาท ระหว่างพิจารณานายประจักษ์ รักษาเคน ผู้เสียหายที่ 1นายทองสุก ดวงมั่น ผู้เสียหายที่ 2 นายสมจิตรหรือสมจิตร์อันฤทธิ์ ผู้เสียหายที่ 4 นายสุข สีลาย ผู้เสียหายที่ 5 และนายประสิทธิ์ ดรลา ผู้เสียหายที่ 6 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เข้าเป็นโจทก์ร่วมเฉพาะข้อหาฉ้อโกงโดยให้เรียกผู้เสียหายที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ว่าโจทก์ร่วมที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ตามลำดับ จำเลยให้การรับสารภาพเฉพาะข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน ส่วนข้อหาฉ้อโกงผู้เสียหายทั้งหกขอถอนคำร้องทุกข์ ศาลชั้นต้นอนุญาตและมีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะข้อหานี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 30 (ที่ถูกมาตรา 30 วรรคหนึ่ง), 82 ให้ลงโทษจำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพมีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุกจำเลยมีกำหนด 1 ปี 6 เดือน และให้จำเลยคืนหรือใช้เงินแก่ผู้เสียหายทั้งหกคน คนละ 250,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น1,500,000 บาท จำเลย อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอของโจทก์ที่ขอให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่โจทก์ร่วมทั้งหก (ที่ถูกผู้เสียหายทั้งหก) รวมเป็นเงินจำนวน 1,500,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่า ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์แสดงว่า จำเลยมีเจตนาฉ้อโกงผู้เสียหายทั้งหก โดยไม่มีเจตนาจัดหางานให้ผู้เสียหายทั้งหกแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางานพ.ศ. 2528 มาตรา 30, 82 ดังฟ้องของโจทก์เพราะขาดองค์ประกอบอันจะเป็นความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าวนั้น เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยจำเลยจึงยกขึ้นฎีกาได้ ซึ่งปัญหาดังกล่าวศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า กรณีจะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 30 วรรคหนึ่งนั้น ผู้กระทำต้องมีเจตนาที่จะจัดหางานให้คนหางานเพื่อทำงานในต่างประเทศ แต่ตามฟ้องคดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องมีใจความว่าจำเลยได้หลอกลวงผู้เสียหายทั้งหกว่า จำเลยสามารถจัดส่งผู้เสียหายทั้งหกไปทำงานในประเทศญี่ปุ่นโดยจะได้รับค่าจ้างคนละ40,000 บาท ต่อเดือน ซึ่งผู้เสียหายทั้งหกจะต้องเสียค่าใช้จ่ายและค่าบริการให้จำเลยซึ่งเป็นความเท็จ เพราะความจริงแล้วจำเลยไม่สามารถส่งผู้เสียหายทั้งหกไปทำงานในประเทศญี่ปุ่นได้จากคำบรรยายฟ้องดังกล่าวแสดงว่าจำเลยมิได้มีเจตนาจัดหางานให้แก่ผู้เสียหายทั้งหกคงมีแต่เจตนาหลอกลวงผู้เสียหายทั้งหกเพื่อที่จะได้รับเงินค่าใช้จ่ายและค่าบริการจากผู้เสียหายทั้งหกเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานจัดหางานโดยมิได้รับอนุญาต ตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางานพ.ศ. 2528 ตามที่โจทก์ฟ้อง แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพก็ไม่อาจลงโทษจำเลยได้ ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น” พิพากษากลับ ให้ยก ฟ้อง

Share