แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินที่อยู่ในบังคับห้ามโอนจึงไม่อาจสละหรือโอนการครอบครองให้แก่ผู้อื่นได้การที่จำเลยทำสัญญาก่อตั้งสิทธิเหนือพื้นดินและทำสัญญาจะซื้อจะขายให้แก่โจทก์ร่วมมีผลเป็นการโอนการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ร่วมภายในกำหนดเวลาห้ามโอนจึงไม่มีผลตามกฎหมายโจทก์ร่วมไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทการที่จำเลยจ้างบุคคลอื่นเข้าไปไถปรับพื้นที่และล้อมรั้วที่ดินพิพาทจึงไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ทำสัญญาก่อตั้งสิทธิเหนือพื้นดินในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 103เนื้อที่ 32 ไร่ 1 งาน 40 ตารางวา ของจำเลยให้แก่นายชนินทร์โทณวนิก ผู้เสียหาย มีกำหนด 30 ปี และจำเลยได้มอบการครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าวแก่ผู้เสียหายเข้าครอบครองทำประโยชน์แล้วระหว่างต้นเดือนตุลาคม 2534 ถึงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2535ทั้งเวลากลางวันและกลางคืน จำเลยกับพวกร่วมกันบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองไถและล้อมรั้วที่ดินแปลงดังกล่าวอันเป็นการรบกวนการครอบครองสิทธิของผู้เสียหายโดยปกติสุข ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 365, 83
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณานายชนินทร์ โทณวนิก ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 362, 365(2) ลงโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 4,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เมื่อคำนึงถึงอายุของจำเลยและสภาพความผิดแล้ว เห็นสมควรให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดีจึงให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นนี้ฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 103 ตำบลริมกกอำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย ซึ่งทางราชการออกให้แก่จำเลยเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2526 โดยมีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน10 ปี ตามมาตรา 31 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน นับตั้งแต่วันที่5 กันยายน 2526 ตามสำเนาหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย ป.ล.1 (ศาลอาญา) เมื่อปี 2528 จำเลยขายที่ดินพิพาทให้แก่นางสุวิมล ต่ายใหญ่เที่ยง และนางวสุธาพร อุทัยวรวิทย์แต่เนื่องจากอยู่ในกำหนดระยะเวลาห้ามโอน จำเลยจึงจดทะเบียนจำนองและจดทะเบียนก่อตั้งสิทธิเหนือพื้นดินในที่ดินพิพาทให้แก่นางสุวิมลและนางวสุธาพร ต่อมาวันที่ 25 มีนาคม 2531 จำเลยจดทะเบียนเลิกสิทธิเหนือพื้นดินและจดทะเบียนไถ่ถอนที่ดินพิพาทจากนางสุวิมลและนางวสุธาพร ในวันเดียวกันนั้น จำเลยจดทะเบียนจำนองและจดทะเบียนก่อตั้งสิทธิเหนือพื้นดินในที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ร่วมมีกำหนด 30 ปี ตามสำเนาหนังสือสัญญาจำนองเป็นประกันและหนังสือสัญญาก่อตั้งสิทธิเหนือพื้นดินเอกสารหมาย จ.2และ จ.3 นอกจากนั้นจำเลยได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ร่วม โดยกำหนดวันโอนสิทธิกันภายในวันที่ 6 กันยายน 2536ตามเอกสารหมาย ป.จ.3 (ศาลอาญา) และจำเลยได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทให้โจทก์ร่วมตามเอกสารหมาย ป.จ.4 (ศาลอาญา)เมื่อปี 2534 จำเลยมีหนังสือบอกเลิกสัญญาก่อตั้งสิทธิเหนือพื้นดินไปยังโจทก์ร่วม ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยได้จ้างผู้อื่นให้นำรถแทรกเตอร์ไปไถปรับพื้นที่และทำรั้วล้อมที่ดินพิพาท มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมว่า การที่จำเลยจ้างให้ผู้อื่นนำรถแทรกเตอร์ไปไถปรับพื้นที่และทำรั้วล้อมที่ดินพิพาทเป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่ โดยโจทก์และโจทก์ร่วมฎีกาว่า จำเลยมีสิทธิครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท จำเลยสามารถโอนสิทธิครอบครองให้ผู้อื่นได้ การที่จำเลยจดทะเบียนก่อตั้งสิทธิเหนือพื้นดินในที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ร่วม โจทก์ร่วมจึงมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท จำเลยจ้างบุคคลอื่นเข้าไปไถปรับพื้นที่และทำรั้วล้อมที่ดินพิพาท จำเลยจึงมีความผิดฐานบุกรุกตามฟ้องนั้น เห็นว่า แม้จำเลยจะได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท แต่ที่ดินพิพาทนั้นเป็นที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ที่อยู่ในบังคับห้ามโอนภายใน10 ปี ตามมาตรา 31 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน นับตั้งแต่วันที่5 กันยายน 2526 ซึ่งแสดงว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่รัฐจัดให้ราษฎรทำกิน บทบัญญัติดังกล่าวมีเจตนารมย์ที่จะปกป้องราษฎรให้มีที่ดินทำกินเป็นเวลาอย่างน้อย 10 ปี และภายในระยะเวลาดังกล่าวทางราชการได้ควบคุมที่ดินนั้นอยู่มิได้ปล่อยให้เป็นสิทธิเด็ดขาดแก่ผู้ครอบครองจนกว่าจะพ้นระยะเวลาที่อยู่ในบังคับห้ามโอน ดังนั้น จำเลยจึงไม่อาจสละหรือโอนการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่ผู้อื่นได้ การที่จำเลยทำสัญญาก่อตั้งสิทธิเหนือพื้นดินและทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ร่วม อันมีผลเป็นการโอนการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ร่วมภายในกำหนดระยะเวลาห้ามโอนจึงไม่มีผลตามกฎหมาย โจทก์ร่วมไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท การที่จำเลยจ้างบุคคลอื่นเข้าไปไถปรับพื้นที่และล้อมรั้วที่ดินพิพาทซึ่งยังเป็นสิทธิของจำเลย การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกฟ้องศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน